xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีธนชาตส่ง ttb multi-currency account หนุนผู้ประกอบการรับมือบาทผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ttb) 
กล่าวว่า ทีเอ็มบีธนชาตเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนาดิจิทัลโซลูชันทางการเงิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก เพื่อลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการหลายสกุลเงิน คือ ttb multi-currency account หรือบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุด เพื่อธุรกิจนำเข้าและส่งออก ยกระดับประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลครบทุกขั้นตอน แบบ end-to-end อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง บริหารงานสะดวก ใช้งานง่าย ครบ จบในระบบเดียว โดยบัญชี ttb multi-currency account มีฟีเจอร์การใช้งานที่โดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์ 4 One ได้แก่ One Account - บัญชีเดียว รองรับได้มากถึง 11 สกุลเงินหลัก รวมถึงสกุลเงินหยวน One Platform - เข้าถึงทุกบริการ จากทุกอุปกรณ์ ประสบการณ์เดียวกันทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ทำทุกธุรกรรม ได้ทุกที่ทุกเวลา

One to Control & ระบบเดียวทำได้ทุกธุรกรรม โอนเงินได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกรรมด้านสินเชื่อ ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา พร้อมล็อกเรตอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่ต้องการ ค้นหารายการได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Search แค่พิมพ์ Key Word และติดตามสถานะของรายการได้แบบเรียลไทม์ และ One to Command - สรุปรายงานของทุกบัญชี ทุกสกุลเงินได้ภายในหน้าเดียว (11 สกุลเงิน) พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้ง่ายๆ สะดวก ไม่ยุ่งยาก สามารถสรุปทุกวงเงินสินเชื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครบถ้วนในหน้าจอเดียว รวมทั้งเรียกดูข้อมูลและบัญชีของบริษัทในเครือได้ด้วย Group Company View ซึ่งด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกและสามารถบริหารจัดการเรื่องสกุลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รองรับ 11 สกุลเงินหลักภายในบัญชีเดียว สามารถซื้อ ขาย รับ จ่าย ได้อย่างสะดวกทั้งในประเทศและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศไว้ล่วงหน้าได้ โอนเงินสกุลต่างประเทศออกได้ทันที เป็นต้น

"ในปีนี้ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งผู้ประกอบการไทยที่มี Natural Hedge หรือ การบริหารรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกันลดลง รวมถึงการซื้อ-ขายหรือทำธุรกรรมต่างๆ ยังคงเน้นใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่น ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จึงเริ่มหันมาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังมีความยุ่งยาก เนื่องจากหนึ่งบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) รองรับได้หนึ่งสกุลเงิน ดังนั้นหากผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยมีคู่ค้าหลายประเทศ บนหลายสกุลเงิน จำเป็นต้องเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี หลาย Statement ตามสกุลเงิน แต่ ttb multi-currency account ช่วยเข้ามาลดความซับซ้อนตรงนี้ได้ โดยได้ตั้งเป้ายอดเปิดบัญชีในปีนี้ที่ 400-500 บัญชี โดยที่ผู้ประกอบการเปิดบัญชีจะสามารถใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีค่าใช้จ่ายจากการโอนเงินระหว่างประเทศตามปกติ"

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ต้องติดตาม เป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์เงินเฟ้อไทยในไตรมาส 1 ของปีน่าจะแตะที่ 4% จากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.4% ซึ่ง ณ ระดับ 4% น่าจะเป็นจุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อขณะที่เฉลี่ยทั้งปี ทีทีบีมองที่ 1.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบกำลังของผู้บริโภคโดยรวม ขณะที่อีกความเสี่งเป็นประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุน และค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า และในบางช่วงอาจจะแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็เป็นไปได้ เนื่องจากมีการดึงเงินออกจากระบบ โดยทีทีบีคาดการณ์กรอบเป้าหมายเงินบาทในปี 2565 ที่ระดับ 33.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าในปีนี้จะปรับขึ้น 4 ครั้งไปสู่ระดับ 1.50% ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดการณ์ทรงตัวในระดับเดิมที่ 0.50% ตลอดปีนี้

"ความผันผวนของค่าเงินเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระมัดระวังให้มากในปีนี้ เพราะค่าเงินจะมีความผันผวนมาก ซึ่งหากมองถึงช่วงที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังวิกฤตครั้งล่าสุดในปี 2015 เงินบาทอ่อนค่าไประดับ 35 บาท มีอัตราควาามผันผวนที่ 9% ขณะที่อัตราความผันผวนของเงินบาทสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 7% ซึ่งอัตราความผันผวนเหล่านี้อาจเป็นอัตราส่วนที่จะทำให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่สุด"

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน จะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจถึงระดับที่ทำให้ทีทีบีปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ที่ระดับ 3.9% และการส่งออกเติบโตที่ 4.5% แม้จะไม่เป็นเลขสองหลักเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่ถือเป็นการเติบโตที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีฐานระดับสูงหรืออยู่ในระดับก่อนสถานการณ์โควิดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น