ตลท.เดินหน้า สกัดหุ้นร้อน ด้วยการยกระดับการซื้อขายหุ้นหลายตัว ให้ใช้ Cash Balance และยกระดับการกำกับตามสถานการณ์ หลังพบราคาหวือหวาโดยไร้ปัจจัยรองรับ ขณะ “พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น” ราคาผันผวนหนัก แม้ใช้มาตรการขั้นสูงสุด ราคาหุ้น PSG ยังวิ่งเป็นกระทิงดุ ถึงขั้นต้องเตือนนักลงทุนให้ศึกษาก่อนเทรด PSG ขณะเกณฑ์กำกับหุ้นเก็งกำไรสูง หลายฝ่ายแนะแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว ส่วนการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว 1 วันทำการ เป็นมาตรการระดับ 3 ควรเพิ่มวันกว่านั้น
นับจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โยงใยไปถึงตลาดหุ้นเช่นกัน ตลาดหุ้นไทยเองก็เช่นกัน ยิ่งรัฐประกาศล็อกดาวน์ ยิ่งเพิ่มความซบเซาต่อตลาดหุ้นอย่างกังกล และบางครั้งก็ผันผวนไปตามกระแสตลาดหุ้นทั่วโลก กูรูส่วนใหญ่แนะนำให้เน้นถือเงินสดระดับ 10-20% และเฝ้ารอโอกาสเข้าลงทุนตลาดหุ้น เมื่อดัชนีฯปรับฐานลงมาในระดับที่เหมาะสม จากการเข้าสะสมหุ้นดีเพื่อสร้างผลกำไร ในกลุ่มหุ้นปลอดภัย แต่นักลงทุนน้อยใหญ่ยังคงเดินหน้าเทรดหุ้นที่เป็นไปตามกระแส และภาวะในช่วงนั้นๆ เช่น หุ้นหรือกองทุน healthcare ที่มีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและยา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่กับชีวิตชาวโลกไปอีกนาน รวมถึงหุ้นในกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากธีม work from home ซึ่งส่วนใหญ่ คือ บริษัทในกลุ่ม technology ขนาดใหญ่และหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาด มีความแตกต่างกันไป ดังนั้น การลงทุนจึงมีความคึกคักบ้าง ขณะที่บริษัทผู้ประกอบการ หรือบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีความเคลื่อนไหว ขยับขยายตลอดจนการลงทุนแตกไลน์ธุรกิจมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของรายได้ที่จะเข้ามาและนั่นก็ทำให้ราคาหุ้นวิ่งหรือบวกรับข่าว ขณะที่บางบริษัทไม่มีข่าวใดใดที่จะเอื้อให้เกิดผลต่อบริษัท แต่ราคาหุ้นก็วิ่งนำไปแล้ว ซึ่งการซื้อขายหรือเทรดหุ้นนั้น แม้จะมีกฎเกณฑ์กำหนดหรือเป็นบทลงโทษ แต่ก็มิอาจสกัดกั้นการปั่นหรือแม้แต่การสร้างราคาให้หายไปจากตลาดหุ้นได้
ใช้มาตรการเข้ม ยกระดับคุม บจ.
ที่ผ่านมา แม้ว่า ตลท. พยายามปรับเกณฑ์และหามาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการซื้อขายหรือเทรดหุ้นในกระดาน นัยว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียต่อนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งมีต่อเนื่องมาตลอด แต่มีหุ้นหลายตัวที่มีการซื้อขายลากราคากันขึ้นไปอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้ราคาหุ้นเป็นเทรดในกระดานน่าสงสัย และเมื่อพบความผิดปกติเช่นนี้ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถามไปยังบริษัทและได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน มาตรการที่ควบคุมได้คือการใช้ตามขั้นตอน ล่าสุด ที่ประกาศใช้มาตราการคือ
บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL และวอร์แรนท์ในการจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ หรือ SAMTEL-W1 เป็นหลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 Cash Balance หรือให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด มีผลตั้งแต่ 25 ม.ค. - 14 ก.พ.2565
บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง หรือ AF ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
บมจ.เชียงใหม่ริมดอย หรือ CRD ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์หรือ GLOCON ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 4 มี.ค.2565
บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง หรือ TRITN ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ หรือ UREKA ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
รวมถึงวอร์แรนท์ของ บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ ครั้งที่ 2 หรือ UREKA-W2 ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ หรือ WAVE ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565 และวอร์แรนท์ ของ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ครั้งที่ 2 หรือ WAVE-W2 ตั้งแต่ 24 ม.ค.2565 ถึง 4 มี.ค.2565
CMO คุมระดับ 3- MVP และ mono ขึ้นระดับ 2
ก่อนหน้านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายคือหุ้น บมจ. รุ่งเรืองตลอดไป หรือ GLORY ใช้เกณฑ์ Cash Balance ให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด ตั้งแต่ 17 ม.ค.-25 ก.พ.2565 หุ้น บมจ. ลีซ อิทหรือ LIT และวอร์แรนท์ ของ LIT หรือ LIT-W1 ใช้ cash balance ตั้งแต่ 13 ม.ค. 2565 ถึง 2 ก.พ. 2565 อีกทั้ง ปรับ บมจ. จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น หรือ JTS ขึ้นระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขายและ Cash Balance ตั้งแต่ 13 ม.ค. 2565 ถึง 2 ก.พ. 2565 และ บมจ. เบริล 8 พลัส หรือ BE8 , บมจ. คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ. หรือ K และวอร์แรนท์ หรือ K-W1 มีผลตั้งแต่ 10 ม.ค. ถึง 18 ก.พ.2565
พร้อมกับขยายช่วงดำเนินการระดับ 1 กับ บมจ.มาสเตอร์ แอด หรือ MACO และวอร์แรนท์ MACO-W3 , บมจ. โมโน เน็กซ์ หรือ MONO และ บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล หรือ UBE มีผลระหว่าง 10 ถึง 28 ม.ค.2565 ล่าสุดเมื่อ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ตลท.สั่ง MONO ติด Cash Balance ระดับที่ 2 มีผลระหว่างวันที่ 18 ม.ค.-07 ก.พ. 65 หลังราคาหุ้นร้อนแรงชนซิลลิ่ง
ขณะที่ยกระดับการกำกับ บมจ. พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น หรือ PSG ให้เป็นหลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance มีผลระหว่าง 10 ถึง 28 ม.ค.2565
อีกทั้ง ขยายระยะเวลากำกับ บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น หรือ TRC ให้เป็นหลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 ห้ามหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net settlement) ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance มีผลระหว่าง 10 ถึง 28 ม.ค.2565
ล่าสุด ปรับให้ บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือ SICT ขึ้นระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย-Cash Balance มีผลตั้งแต่ 12 ม.ค. 2565 ถึง 1 ก.พ. 2565
ขณะที่เมื่อปลายปี 64 หุ้นที่เทรดในกระดานหลายบริษัทก็ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการสกัดการซื้อขายที่ผิดปกติ นับจาก บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO เป็นหลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 Cash Balance หรือให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด มีผลตั้งแต่ 28 ธ.ค.2564 - 17 ม.ค.2565
ส่วน บมจ. เอ็ม วิชั่น หรือ MVP และวอร์แรนท์ ของหรือ MVP-W1 ถูกสั่งให้ Cash Balance ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2564 ถึง 19 ม.ค.2565 ซึ่งล่าสุดให้ MVP ขึ้นระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย-Cash Balance จาก 21 ม.ค.65ถึง 10 ก.พ.65
ขณะที่ บมจ. โปรเอ็น คอร์ป หรือ PHOEN ก็โดนใบสั่งใช้ Cash Balance ตั้งแต่ 4 ม.ค.- 11 ก.พ.65
บมจ. พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น หรือ PSG ใช้ Cash Balance มีผลตั้งแต่ 5 ม.ค. 2565 ถึง 25 ม.ค. 2565 ส่วน บมจ. ซีเอ็มโอ หรือ CMO ขึ้นสู่การกำกับดูแลระดับ 3 คือ ห้าม Net settlement, ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance
มาตรการเข้มสุด คุม PSG ไม่อยู่
และสำหรับการเปิดศักราชใหม่ 2565 หุ้นตัวแรกที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกโรงเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังอย่างมากก่อนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์คือ บริษัท พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PSG เนื่องจากสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะเวลาอันสั้น แม้อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ซึ่งมีผลในเช้าวันนี้วันที่10 ม.ค.2565 ขณะที่ทาง PSG ออกมาชี้แจงผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าไม่มีพัฒนาการสำคัญที่กระทบต่อสภาพการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้น เพราะ PSG ถูก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับการกำกับ ให้เป็นหลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance มีผลระหว่าง 10 ถึง 28 ม.ค.2565
อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงในการซื้อขายหลักทรัพย์ PSG ได้ หากราคาผันผวน จึงขอให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐานและสารสนเทศที่แจ้งผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รอบคอบ และขอให้บริษัทสมาชิกทุกรายกำกับดูแลการซื้อขายและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ PSG อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หุ้น PSG อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 บริษัทสมาชิกต้องดำเนินการดังนี้คือ ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ PSG ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ และบริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ PSG คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อขายในทุกประเภทบัญชี
ทั้งนี้เพราะ PSG ถือได้ว่าเป็น1 จาก 4 หุ้นที่ราคาพุ่งขึ้นเกิน 1,000% ของปี 2564 และแม้จะย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2565 หุ้นตัวนี้ยังแสดงอิทธิฤทธิ์ จนตลาดหลักทรัพย์ต้องยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายขั้นสูงสุดรวดเดียวภายในรอบสัปดาห์ เพราะ PSG ติดอยู่ในอันดับ 3 หุ้นที่วิ่งแรงประจำปีที่ผ่านมา จากราคาปิดเพียง 4 สตางค์ เมื่อสิ้นปี 2563 ทะยานขึ้นมาปิดที่ 58 สตางค์ เมื่อสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 54 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 1,350% ทั้งที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปีจริงๆ แล้ว หุ้น PSG เพิ่งจะเริ่มต้นวิ่งเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2564 โดยนับจากต้นปีราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ แถว 5-6 สตางค์เท่านั้น แต่ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทจะจัดประชุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม และมีมติเพิ่มทุน 54,044 ล้านหุ้น นำหุ้นจัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด 5 ราย ราคาในกระดานขยับขึ้นอย่างผิดสังเกต เหมือนมีข้อมูลภายในรั่วไหล
สำหรับ PSG เดิมคือ บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ T หุ้นตัวนี้ถูกลากขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 นับจากข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และแม้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายอย่างเข้มข้น แต่ไม่อาจดับร้อนหุ้นตัวนี้ได้ เพราะแม้จะพ้นปีเก่าไปแล้ว แต่ PSG กลับลากกันไม่เลิก โดยเปิดซื้อขายวันแรกประเดิมปีใหม่เมื่อวันที่ 4 มกราคม ราคาถูกลากขึ้นชนเพดานสูงสุด 30% ปิดที่ 75 สตางค์ เพิ่มขึ้น 17 สตางค์หรือเพิ่มขึ้น 29.31% จนตลาดหลักทรัพย์ ฯต้องการประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายขั้นที่ 1 ต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม แต่ราคายังพุ่งต่อเนื่อง
กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายเป็นขั้นที่ 2 ซึ่งสกัด PSG ไม่ลงอีก โดยวันที่ 10 มกราคม ราคาพุ่งขึ้นมาปิดที่ 1.18 บาท จนถึงขั้นใช้มาตรการขั้นที่ 3 เพราะภายในสัปดาห์เดียว ราคาหุ้น PSG พุ่งจาก 58 สตางค์มาปิดที่ 1.18 สตางค์ เพิ่มขึ้น 60 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% และครองแชมป์ความเป็นหุ้นร้อนที่สุดในสัปดาห์แรกของปี ทั้งที่ไม่มีปัจจัยใดสนับสนุน
แม้ราคาหุ้น PSG จะแผ่วลง หลังจากถูก ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพ่งเล็งเป็นกรณีพิเศษ และยกระดับความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขายขั้นสูงสุด โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม ปิดที่ 1.15 บาท ลดลง 3 สตางค์ แต่ราคานี้ " นางปณิชา ดาว "ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ในสัดส่วน 80% ของทุนจดทะเบียน เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะหุ้นที่ถืออยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านหุ้น ซื้อมาในราคาต้นทุนเพียง 2 สตางค์ กำไรแล้วหุ้นละ 1.13 สตางค์ หรือมีกำไรทางบัญชีแล้ว 5,565% แม้จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหาร แต่ผลประกอบการ PSG ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยขาดทุนติดต่อหลายปีจนทำให้มียอดขาดทุนสะสม 1,531 ล้านบาท
สะกัดหุ้นร้อน แนะห้ามเทรดมากกว่า 1 วัน
อย่างไรก็ดี ตลท.พยายามหาวิธีและออกมาตรการมา พร้อมเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือมาตรการสะกัดหุ้นร้อน ที่ปิดไปและได้บทสรุปก่อนสิ้นปี 2564 คือ การปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย นั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอ โดยให้เหตุผลว่า ตลาดหลักทรัพย์ ควรมีมาตรการดำเนินการกับหลักทรัพย์ที่มีภาวะเก็งกำไรสูง หรือสภาพการซื้อขายร้อนแรง โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอย่างเข้มงวดและรวดเร็ว โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
กล่าวคือ แจ้งผู้ลงทุนให้เร็วขึ้นก่อนใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย หรือมี Application เพื่อแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ทราบล่วงหน้าและได้มีเวลาเตรียมตัว และควรเพิ่มมาตรการสำหรับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ และมี Market Capitalization ขนาดใหญ่ซึ่งมีผลกระทบ ต่อดัชนีหลักทรัพย์ (SET Index) มากกว่าหลักทรัพย์ขนาดเล็ก อีกทั้งควรเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย และให้ดำเนินการกับหลักทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมากด้วย และส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ ลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนที่ไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งนักลงทุนเสริมว่า ตลาดหลักทรัพย์ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เนื่องจากมาตรการกำกับการซื้อขายอาจส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายตามปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการซื้อขายที่ผิดปกตินั้น
ขณะ การดำเนินมาตรการเร็วขึ้น ให้รวบมาตรการระดับ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน และให้เริ่มมาตรการระดับ 1 ด้วยการให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance และห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย เพราะ ภาวะการเก็งกำไรสูงในปัจจุบันเกิดจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีเงินสดเพียงพอที่จะซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย ดังนั้น การห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย อาจไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ และไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ทั้งนี้ มีการเสนอเพิ่มเติมว่า อาจห้าม Net Settlement และหยุดพักการซื้อขายตั้งแต่มาตรการระดับ 1 เพื่อให้มีความกระชับและรวดเร็วในการสกัดภาวะร้อนแรง และควรขยายระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการแต่ละระดับให้นานขึ้น อีกทั้งควรมีการจำกัดวงเงินในบัญชี Cash Balance ที่จะใช้ซื้อหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย และอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (Commission) หลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายให้สูงกว่าปกติหรือปรับลด Ceiling & Floor
อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ความเห็นที่เป็นผู้ลงทุนบางรายไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด และเห็นว่ามาตรการเดิมเพียงพอและเหมาะสมแล้ว
สำหรับ การเพิ่มการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วันทำการ เป็นมาตรการระดับ 3 นั้น เห็นพ้องกันว่าเหมาะสมเพราะจะช่วยลดความร้อนแรงของการซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ทำให้มีเวลาพิจารณาทบทวนก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนั้นยังเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ควรประสานงานมิให้กระทบต่อการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงสื่อสารและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเป็นมาตรการกำกับการซื้อขาย โดยมิได้เกิดจากบริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวในมาตรการทุกระดับโดยแต่ละระดับอาจหยุดพักการซื้อขายไม่เท่ากัน สุดท้าย คือควรห้ามซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า 1 วัน โดยอาจกำหนดตามระดับความร้อนแรง แม้มีนักลงทุนบางรายขัดแย้งด้วยเหตุผลว่ามาตราการดังกล่าวอาจไม่สามารถทำให้ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์กลับสู่ภาวะปกติได้ และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกห้ามซื้อขาย รวมทั้งอาจเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการซื้อขายที่ผิดปกตินั้น
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามหามาตรการและเปิดฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายในอีกหลายมาตรการที่รอสรุป ซึ่งก็เพื่อปรับให้ทันกับพฤติกรรมของนักลงทุนหรืออีกนัยหนึ่งคือการตามให้ทันกับการเล่นหุ้นของบรรดานักลงทุนทั้งหลาย ที่มีนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่าง อย่างน้อยก็เป็นการตีกรอบไม่ให้เล่นนอกเส้นหรือผิดจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อลดความเสียหายสำหรับการลงทุนในตลาดทุนนั่นเอง