นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยถึงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของธนาคารในปีนี้ว่า ซีไอเอ็มบีไทย ตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ระดับ 5-8% ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพีที่สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีประมาณการไว้ที่ 3.8% รวมถึงตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 5.7-7.0% จากปี 64 ที่อยู่ในระดับ 5.7% กำไรก่อนหักภาษีที่ 3.0-3.5 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ 2.85% พันล้านบาท มี Cost to Income ที่ 55-57% จากปีก่อนที่ 57% และมี Credit Cost ที่ 1.2-1.5%
"แม้ว่าสินเชื่อของธนาคารในปีที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลง แต่จะเห็นแนวโน้มที่เริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปี ดังนั้น ในปีนี้จึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายสินเชื่อในอัตราดังกล่าว ซึ่งน่าจะเน้นสินเชื่อรายย่อยที่เป็นฐานสำคัญของธนาคาร รวมถึงสินเชื่อรายใหญ่ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังคงชะลอตัวไว้ก่อน ขณะเดียวกัน จะมุ่งในด้านการบริหารต้นทุนในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านบุคลากร ซึ่งเราให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจัดสรรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธภาพมากที่สุด โดยไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะลดพนักงาน และเดินหน้าขยายธุรกิจ Treasury หรือธุรกิจบริหารความมั่งคั่งต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นนำระบบดิจิทัลแบงกิ้งเข้ามารองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกรรมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นถึง 80%ในช่วงที่ผ่านมา"
สำหรับกลยุทธ์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปี 2565 จะมุ่งเน้นโซลูชันทางการเงินอย่างยั่งยืน และตอบความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด ผ่านการขับเคลื่อนจากธุรกิจหลัก โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอาเซียนและ digital platform ภายใต้กลยุทธ์ Forward23+ ในการจะก้าวเป็น 'ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล' โดยธนาคารจะปรับโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอ ปรับประสิทธิภาพการใช้ต้นทุน กระจายความเสี่ยงของเงินฝาก บริหารจัดการความเสี่ยงเข้มข้น เพิ่มทักษะของคนทำงาน เพิ่มมูลค่าให้คนด้วยทักษะดิจิทัล และต้องทำธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนให้เติบโตโดยธุรกิจ 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย (Consumer Banking) ธุรกิจรายใหญ่ (Wholesale Banking) และธุรกิจบริหารเงิน (Treasury and Markets)
ธุรกิจรายย่อย - ดิจิทัลและการใช้ฐานข้อมูลจะมีบทบาทหลักที่ช่วยขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ธนาคารได้พิสูจน์มาแล้วโดยให้ลูกค้าและผู้ใช้แอป CIMB THAI Digital Banking ได้สัมผัสประสบการณ์ digital banking ที่สะดวกสบาย ง่าย และราบรื่น ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี (Speed D) และสปีดดี พลัส (Speed D+) ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะสด ใหม่ และตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ธนาคารปักธงจะเป็นผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘Wealth Credit Line’ และการจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรผ่านแอปมือถือเมื่อปี 2564 เพื่อขยายโอกาสและทางเลือกในการลงทุนแบบเปิดกว้างให้ลูกค้า จากการเปิดให้ลูกค้าจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรตลาดแรกผ่าน CIMB THAI Digital Banking ลูกค้าให้การตอบรับดีเกินคาด ธุรกรรมเติบโตรวดเร็ว สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ digital wealth platform ที่ธนาคารสร้างขึ้น จึงได้เดินหน้าเพิ่มบริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดรองเข้ามาเพิ่มเติมในแอป CIMB THAI Digital Banking ยิ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามีต่อเนื่อง หัวใจสำคัญที่ต้องทำงานคู่กันกับ digital wealth platform คือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาการลงทุน และ relationship manager ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า
ด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ลูกค้ารายย่อยเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารจะขยับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ประสบความสำเร็จจากการเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักที่ลูกค้านึกถึง ก้าวถัดไปคือขยับเข้าดิจิทัล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้บริการโดยบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และบริษัท เวิลด์ลีส ตามลำดับ จะประสานพลังการทำงานระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรและคู่ค้า ตลอดจนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมากขึ้น
ธุรกิจรายใหญ่ - ธนาคารจะเดินหน้าสนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้บริการทางการเงินในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแข็งแกร่งในอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบี และการที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นำอาเซียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ยิ่งทำให้ธนาคารสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนได้แข็งแรงขึ้น ค้นหาพันธมิตรรายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกกว้างขึ้นของแหล่งทุน และเปิดโอกาสขยายธุรกิจเติบโตตลาดต่างประเทศ
ธุรกิจบริหารเงิน - ธนาคารจะรักษาสถานะผู้นำตลาดของการเป็นผู้ออกผลิตภัณฑ์และผู้จัดจำหน่าย โดยปี 2564 Treasury ของธนาคารเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดตลาดและเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) และได้รับรางวัล THOR Pioneer จากธนาคารแห่งประเทศไทย ปีนี้ ธนาคารจะขยายธุรกิจ Treasury เติบโตต่อเนื่องทั้งกลุ่มลูกค้า wealth รายย่อย และกลุ่มลูกค้า wealth รายใหญ่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการจัดจำหน่าย และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ธนาคารจะเพิ่มเติมรายได้ใหม่ๆ เช่น รายได้อัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน และบริการคัสโตเดียน
นายพอล วอง ชี คิน กล่าวอีกว่า เรายังคงจุดแข็งในด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาคไม่ว่าเป็นการนำพาลูกค้าทุกกลุ่มออกไปสู่ภูมิภาค และรองรับกลุ่มลูกค้าของเครือข่ายต่างประเทศเพื่อนำมาลงทุนในไทย รวมถึงการถ่ายทอดในด้านความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ แม้ว่าธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการมีจำนวนสาขาในปริมาณที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้ ดังนั้น ธนาคารจึงจะอยู่ในบทบาทของไฮบริด แบงก์ ที่จะผสมผสานทั้ง 2 ส่วนให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไป
สำหรับสรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท หรือ 89.1% (YoY) ธนาคารมีผลการดำเนินงานดีขึ้น แม้รายได้จากการดำเนินงานจะลดลง 3.9% สาเหตุหลักมาจากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7% ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงเมื่อเทียบกับ 4.6% ณ สิ้นปี 2563 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้ และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 117.5% เพิ่มขึ้นจาก 93.3% ณ สิ้นปี 2563 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.3 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 1.5 พันล้านบาท