ตลาดหุ้นเอเชียเปิดในแดนลบ โดยถูกกดดันจากภาวะการซื้อขายที่ผันผวนอย่างหนักในตลาดหุ้นนิวยอร์กจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด รวมทั้งความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,466.82 จุด ลดลง 121.55 จุด หรือ -0.44%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,251.52 จุด ลดลง 404.94 จุด หรือ -1.64% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,509.28 จุด ลดลง 14.83 จุด หรือ -0.42%
บรรยากาศการซื้อขายในภูมิภาคได้รับแรงกดดัน หลังจากดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีในตลาดหุ้นนิวยอร์กทรุดตัวลงอย่างหนักในระหว่างวัน โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุด ก่อนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน หลังมีรายงานว่าสหรัฐฯ และอังกฤษได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทูต รวมทั้งครอบครัวเร่งอพยพออกจากยูเครน ขณะที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ประกาศเสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า
ทางด้านรัสเซียตรึงกำลังทหารเกือบ 100,000 นายประชิดชายแดนยูเครน ขณะที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกยังคงไม่มีความคืบหน้า
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการประชุมเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 26 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือในช่วงเช้าตรู่วันของพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.ตามเวลาไทย ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานไปแล้วนั้น ธนาคารกลางเกาหลีใต้เผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2564 ของเกาหลีใต้ขยายตัว 1.1% ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่ขยายตัวเพียง 0.3% และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ขยายตัว 4.1% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.7%
ส่วนตัวเลข GDP ตลอดปี 2564 ขยายตัว 4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่งเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ยอดการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั้น พุ่งขึ้น 4.3% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้ปัจจัยหนุนจากการอุปโภคบริโภคและการลงทุนด้านการก่อสร้างที่ขยายตัว 1.7% และ 2.9% ตามลำดับ