“สมาคมฟินเทค” ร้องขอทบทวนการเก็บภาษีคริปโตฯ ด้าน “มาดามเดียร์” เตรียมนำเรื่องถก กมธ.การเงินฯ หน่วยงานเกี่ยวข้อง
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่โรงแรม เดอะเวสเทิน แกรนด์ สุขุมวิท น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจากสมาคมฟินเทค ประเทศไทย นำโดย นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฯ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา รองนายกสมาคมฯ และคณะ ถึงกรณีขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี
น.ส.วทันยา กล่าวว่า จากที่ตนได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์และได้ร้องเรียนความเดือดร้อนมาที่ตน จึงได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ กมธ. ขอให้เชิญกรมสรรพากรเข้ามาชี้แจงในรายละเอียด แนวทางที่มาที่ไป วิธีการทั้งหลาย เดิมทีเรื่องนี้ถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมของ กมธ. ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทางรัฐสภาจึงได้เลื่อนการเปิดออกไป ทั้งนี้ ช่วงหลังปีใหม่กได้มีประเด็นภาษีคริปโตเคอร์เรนซีขึ้นมาอีก ซึ่งเข้าใจว่าตัวปัญหาการจัดเก็บภาษีของคริปโตเคอร์เรนซีจะคล้ายกับของทางตลาดทุน แต่จะต่างที่ทางตลาดทุนมี พ.ร.บ. ขอให้เวฟเรื่องค่าภาษีออกเพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยกฎหมายของทางคริปโตฯ ออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ในแง่ดำเนินการจริงยังไม่ได้มีการจัดเก็บตามที่กฎหมายได้ออกมา
ส่วนนี้อาจจะยังเป็นประเด็นคำถามว่า ถ้ากรมสรรพากรจะบังคับใช้อย่างจริงจังและพยายามเร่งรัดเพื่อบังคับใช้ให้นักลงทุนยื่นรายได้ส่วนบุคคลในช่วงเดือน มี.ค.2565 ซึ่งเป็นรายได้ของปี 2564 สิ่งที่จะเกิดตามมาอาจจะไม่ใช่แค่ปี 2564 แต่จะย้อนกลับไปตั้งแต่กฎหมายออกมาในปี 2561 เพราะไม่เคยมี พ.ร.บ. ที่ออกมาให้เวฟเรื่องค่าภาษีเหล่านี้ ช่องว่างในส่วนนี้จะดำเนินการอย่างไร รวมถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมโซเชียลมีเดีย เรื่องวิธีการจัดเก็บที่ชัดเจน การปฏิบัติได้จริง และในแง่ของสภาพอุตสาหกรรมโดยรวมจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคริปโตฯ กำลังจะเป็นตลาดของเจเนอเรชันที่ 2 ที่กำลังเติบโตขึ้น ดังนั้นช่วงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะจัดเริ่มเก็บภาษี หรือควรจะสนับสนุนในแง่อุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตไปได้มากกว่านี้ และหากจะต้องจัดเก็บภาษีจริงๆ ในแง่ต้นทุนจะต้องจัดเก็บเท่าไหร่ถึงจะไม่เป็นภาระเกินไป และสุดท้ายด้วยกฎของรัฐจะไม่เป็นการบอนไซตลาดในประเทศของเรา รวมถึงผู้ประกอบการที่จะเติบโตไม่ได้
“การที่เชิญหน่วยงานมาพูดคุยใน กมธ. ในวันพุธที่จะถึงนี้ ที่จะมีการประชุมออนไลน์ ถือเป็นการเปิดเวทีกลางให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยและร่วมหารือกัน แต่สิ่งที่คาดหวังในเวทีนี้ คือ การที่เราเป็นคนกลางได้รับความเห็นจากทุกฝ่าย การจะจัดเก็บภาษีที่ทางกระทรวงการคลังออกมาเป็นกฎหมายและมีเป้าหมายของเขา ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องมีการใคร่ครวญให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ เช่น การบังคับใช้กฎหมายหากเร่งให้ทันในช่วง มี.ค. จะมีคำถามว่านักลงทุนในปี 2564 จะต้องนำรายได้มาคำนวณในภาษีเงินได้ และหากไม่ได้เริ่มเล่นในปี 2564 แต่เริ่มก่อนหน้านั้นจะต้องทำอย่างไร กรมสรรพากรจะมีนโยบายที่จะปฏิบัติกับนักลงทุนก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง ดังนั้น กรมสรรพากรชะลอเรื่องออกไปก่อนได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้รับความชัดเจนครบถ้วน” น.ส.วทันยา กล่าว
ด้านนายชลเดช กล่าวว่า ในเรื่องของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนตัวมองว่าคงไม่ขอให้ไม่เก็บเลย แต่เบื้องต้นเรามองว่าการเก็บเฉพาะธุรกรรมที่กำไรอย่างเดียวโดยไม่ดูผลกลับคืน ไม่ได้เอามาหักห้างกันไม่เป็นธรรม และไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ฉะนั้นข้อแรกเราอยากให้กรมสรรพากรไปทบทวนเรื่องนี้ก่อน หลังจากนั้นขั้นตอนต่อไปจะมองถึงเรื่องการขอให้เป็น Final Tax โดยยกตัวอย่างภาษีเงินได้ที่เกิดจากเงินปันผล ทั้งนี้ ทุกคนหากซื้อหุ้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับการจะไปขอเครดิตคืนหรือไม่ ถ้าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วเราขอในลักษณะเดียวกัน อาจจะเป็น 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมา เช่นนี้ในแง่ระบบคิดว่าจะทำได้เป็นการ Offset กัน และเป็น Final Tax ส่วนการส่งเสริมไม่ให้เก็บภาษีเลยพวกเราต้องพิสูจน์ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อให้เกิดการระดมทุนภายใต้การสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้กลุ่มภาคการผลิตเกิด GDP จริงๆ เช่น ที่ตลาดทุนมีการระดมทุน ถ้าทำแบบนี้อาจจะขอเรื่องการส่งเสริมจากทางภาครัฐได้นั่นเอง
ขณะที่นายจิรายุส กล่าวว่า ตลาดทรัพย์สินดิจิทัลไม่ได้รับการสนับสนุน หรือการลงทุน Real Center แต่สิ่งที่เรากำลังสร้างคือโลกใหม่ กำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า Wed 3.0 ซึ่งตนไม่อยากให้อุตสาหกรรมนี้ไปเกิดที่ต่างประเทศ ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่อยากให้ทำคือการเวฟภาษี 2 ปี เพราะเป็นสิ่งที่ยุติธรรม เนื่องจากว่ากฎหมายยังไม่มีความพร้อม ออกมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และอยู่ดีๆ จะมาเรียกเก็บภาษีในทันทีซึ่งไม่ทันต่อผู้ใช้ ดังนั้น อย่างน้อยจึงควรเว้นระยะเวลา 2 ปี ในการคิดที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ ไม่ใช่รีบนำออกมาบังคับใช้ ทั้งที่กฎหมายไม่พร้อม จนทำให้หลายสิ่งไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยและทำให้เกิดการขาดดุลอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม หากผ่านช่วงระยะเวลา 2 ปีแล้วจะต้องมีการเก็บภาษีจริงๆ ต้องทำอย่างไรให้เมืองไทยถือปืน ต่างชาติถือมีด ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมนี้จะไปเติบโตที่ต่างประเทศถ้าเมืองไทยถือมีด ต่างชาติถือปืน นอกจากนี้ บริษัทบิทคับฯ ขอเสนอไปยังผู้บริหารรัฐบาลไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนการเก็บภาษีคริปโตฯ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยการชะลอภาษีออกไปเป็นการชั่วคราว และมอบหมายให้กรมสรรพากรเปิดการรับฟังความเห็นจากทั้งผู้ประกอบกิจการ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาพิจารณาหามาตรการด้านภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศ