xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ จี้แจง "ภาษีคริปโต" ให้ชัด ย้ำต้องสร้างสมดุลตลาดเงินสมัยใหม่ - ความเข้าใจ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย นายก ฯ รับทราบข้อกังวลภาษีคริปโต ฯ มอบสรรพกรชี้แจงแนวทางการคิดภาษีและยื่นแบบให้ชัดเจน ย้ำรัฐเน้นสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาตลาดเงินสมัยใหม่กับความเข้าใจ ปชช. เตือนหาความรู้ก่อนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

วันนี้ (9ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายต่อกรณีที่กรมสรรพกรได้กำหนดให้ผู้ที่มีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องยื่นแบบเสียภาษี หรือที่เรียกว่าการเสียภาษีคริปโตเคอเรนซี่ ว่าจะสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดการเงินสมัยใหม่ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้สตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นการพัฒนาใหม่ๆ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดรวมถึงกลุ่มฟินเทค เพียงแต่ส่วนใดที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีกลุ่มคนเข้าใจในวงจำกัดและจะเกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินของประชาชนมาลงทุนนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาอย่างรอบด้านก่อนให้การสนับสนุน เช่นที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาระดมทุนในประเทศไทยมาก รัฐบาลก็ออกนโยบายยกเว้นภาษีกองทุนร่วมลงทุน (Venture capital) ให้ จูงใจให้มีการลงทุนจริงในประเทศ ส่วนการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่นั้นยังเน้นการซื้อขายเหรียญเพื่อทำกำไรเท่านั้น ขณะที่ความเข้าใจของผู้ลงทุนยังอยู่ในวงจำกัด

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้สะท้อนว่า หลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ลงทุนแต่ละประเภทยังไม่มีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสรรพกร กระทรวงการคลังดำเนินการชี้แจงให้เกิดความชัดเจนต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงการคลังให้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนในการศึกษาความเหมาะสมในเชิงนโยบาย โดยข้อมูลล่าสุดก็ได้เห็นพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่าเริ่มเป็นที่นิยม แต่ก็ยังยอมรับกันในวงจำกัด หากเร่งให้การสนับสนุนโดยไม่พิจารณาอย่างรอบด้าน อาจเกิดวิกฤตคริปโตฯ เช่นเดียวแบบเดียวกับวิกฤตการเงินได้

“รัฐบาลไม่ปฏิเสธการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีคือต้องให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจ รู้เท่าทันในระดับที่มากและกว้างขวางพอ วางเกณฑ์การกำกับที่ดีและมีนโยบายการสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องของภาษีไปพร้อมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจสูงสุด และท่านก็ได้ฝากความห่วงใยถึงผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทุกคนว่าขอให้ทำความเข้าใจตลาดอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น