xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น รพ.ได้โอมิครอนกระตุ้น หลังปี 65 ส่อแววเติบโตปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มโรงพยาบาลกลับมาโดดเด่น หลังความกังวลโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สร้างผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ประเมินรายได้จากโควิดจะกลับเข้ามาหนุนผลประกอบการ จากเดิมคาดไตรมาสสุดท้ายไม่หวือหวาหลังสถานการณ์คลี่คลาย คาดการไม่ปิดประเทศจะช่วยดึงคนไข้ทั่วไป และต่างประเทศแห่เข้าใช้บริการ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้หลากหลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจการแพทย์ถูกยกให้เป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากเรื่องดังกล่าว จากความต้องการรักษาของประชาชน นั่นทำให้ราคาหุ้น และผลประกอบการนกลุ่มนี้เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดี จนเมื่อภาครัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ในช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้รักษาตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ความน่าสนใจของหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลลดลงไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อไวรัสโควิด-19 ได้ก่อเกิดสายพันธุ์ใหม่ภายใต้ชื่อ “Omicron” หรือโอมิครอน ที่มีรายงานว่าสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และปัจจุบันเริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทยแล้ว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ ไทยอาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขยังออกมาให้ข้อมูลว่า หากการป้องกันการแพร่ระบาด และป้องกันตนเองของประชาชนลดลง เราอาจได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้สูงสุดถึง 30,000 รายต่อวัน ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง หากไม่สามารถควบคุมได้ และด้วย ความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่ กลับทำให้นักลงทุนหลายรายเริ่มหันมาพิจารณาการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากไตรมาส 3/64 ที่ผ่านมาหลายแห่งประกาศตัวเลขผลกำไรที่เติบโตได้อย่างน่าสนใจ เช่น บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) ประกาศกำไรสุทธิ 295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้ 222 ล้านบาท ขณะที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) กำไรสุทธิไป 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้ 1,800 ล้านบาท ตามด้วยบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) (RAM) พลิกมามีกำไรสุทธิ 1,645 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 72 ล้านบาท 

ขณะที่บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH) มีกำไรสุทธิ 2,896 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้ 413 ล้านบาท บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) กำไรสุทธิ 833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,010.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 75 ล้านบาท บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) (EKH) กำไรสุทธิ 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 880.55% จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 15 ล้านบาท

บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) (RJH) ประกาศกำไรสุทธิ 484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 302% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 120 ล้านบาท บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) (LPH) กำไรสุทธิ 288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 462.83% จาก 51 ล้านบาท บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) (CHG) กำไรสุทธิ 1,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 454% จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 281 ล้านบาท บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) (M-CHAI) รายงานผลการดำเนินงาน มีกำไรสุทธิ 273.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,883.40% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 1.71 ล้านบาท และบริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) (VIBHA) มีกำไรสุทธิ 650.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,683.34% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 36.48 ล้านบาท

โดย สาเหตุที่ผลักดันผลประกอบการเติบโตมาจากการให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 และรักษาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลายลง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายปีนี้ผลประกอบการของกลุ่มโรงพยาบาลจะกลับสู่ระดับเดิม

แต่ปัจจุบัน นักวิเคราะห์เริ่มออกมาประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ต่อประเทศไทยว่า จะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นไทยจนกว่าเริ่มเห็นทิศทางการแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน โดยมีโอกาสสูงที่จะมาระบาดในไทย โดยจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับมาลดลง รวมถึงมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่สถานการณ์ดังกล่าวกลับผลักดันให้กลุ่มโรงพยาบาลมีความโดดเด่นกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะ BCH, CHG เนื่องจากได้ประโยชน์จากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) แสดงมุมมองถึงกลุ่มการแพทย์ว่า คาดคนไข้เงินสดทั้ง OPD และ IPD จะกลับเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น และโรงพยาบาลที่ให้บริการลูกค้าประกันสังคมจะได้อานิสงส์จากจำนวนโควตาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี Pent-Up Demand สำหรับ Elective Cases หากมีการระบาดในประเทศอาจทำให้คนไข้ชะลอการให้บริการ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคนไข้จะกลับมาใช้บริการอีกครั้ง

ทั้งนี้ ประเมินว่ารายได้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาลยังมีอยู่ ซึ่ง Pfizer คาดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปี 2567 แต่จะไม่มากเท่าปีก่อนหน้า หากมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโอมิครอนในประเทศ เนื่องจากส่วนใหญได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าสายพันธุ์ใหม่มีการอาการที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาที่เคยระบาดในประเทศก่อนหน้านี้

ขณะที่ Medical Tourism คาดว่าจะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เพราะแนวโน้มความรุนแรงจากการแพร่ระบาดในประเทศนั้นจะลดลง ส่งผลให้ภาพรวม Medical Tourism ของไทยในปีนี้ฟื้นตัวดีกว่าปีก่อนหน้า โดยรัฐอนุญาตให้กลับมารับคนไข้ต่างชาติภายใต้โปรแกรม Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา  หลังงดรับตั้งแต่ เม.ย.64 แม้ปัจจุบันได้ยกเลิกใช้มาตรการ Test&Go ชั่วคราว จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแต่เชื่อว่าอาจไม่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนแนวโน้มผลดำเนินงานในไตรมาส 4/64 คาดว่ากลุ่มโรงพยาบาลจะชะลอตัว จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลดลงตามสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น แตได้ชดเชยบางส่วนจากคนไข้ที่ไม่ใช่โควิดเข้ามาใช้โรงพยาบาลมากขึ้น อีกทั้งหลายแห่งเริ่มรับรู้รายได้จากวัคซีน “Moderna” อีกทั้ง โรงพยาลบาลที่รับคนไข้ประกันสังคมจะรับรู้รายได้เพิ่มจากยอดตกค้างในปีก่อน 

สำหรับปี 2565 คาดการดำเนินงานกลุ่มโรงพยาบาลจะปรับลดลง 16.1% จากฐานรายได้ที่เกี่ยวข้องโควิด-19 ลดลง (ยกเว้น BH +85.4% เทียบปีก่อน และ BDMS +23.7% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของคนไข้ต่างชาติ) แต่อย่างไรก็ตาม ดีขึ้นจากปี 63 ที่ไม่รวมโควิด-19 หนุนจากจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีรายได้บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และวัคซีน “Moderna” ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 50% ในไตรมาสแรกปีนี้ และแนวโน้มการสั่งจองล็อตที่ 2 ซึ่งยังไม่รวมในประมาณการ โดยยกให้ BDMS มีความโดดเด่นสูงสุดในกลุ่ม

รายงานล่าสุดระบุว่า Omicron ที่แพร่เชื้อได้เร็วแต่อาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และกับโควิด-19 จะเปลี่ยนจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและรายได้จากโควิด-19 จะลดลง และรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ล็อกดาวน์ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกอุปสงค์คงค้างผู้ป่วยโรคไม่เร่งด่วนและผู้ป่วยต่างประเทศให้กลับมารักษาในประเทศไทย และจะหนุนให้กำไรปี 2565 ของ BH เติบโตก้าวกระโดด 93% และ BDMS เพิ่มขึ้น 18%

อีกทั้งมีรายงานว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน Omicron ได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อย (อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย คอแห้ง, และไอแห้ง) ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะสร้างภูมิคุ้มกันและมีอาการป่วยน้อยกว่า Delta ซึ่งหมายความว่ากับโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตอันใกล้นี้

ขณะเดียวกัน คาดว่า BCH และ CHG กำไรจะลดลงในปี 2565 ประมาณ 66% และ 50% (Bloomberg consensus) เนื่องจากรายได้ผู้ป่วยโรคไม่เร่งด่วนและประกันสังคมไม่สามารถชดเชยรายได้โควิด-19 ที่ลดลง โดยข้อมูลระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงจากเฉลี่ย 398,700 ราย/เดือนในเดือนกันยายน เหลือประมาณ 308,500 รายในเดือนตุลาคม และ 203,800 รายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหมายความว่ารายได้จากการตรวจ และรักษาโควิด-19 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสสุดท้ายปี 2564

แต่คาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะยังดีกว่าไตรมาส 2/64 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีการใช้บริการกักตัวในโรงพยาบาลและโรงแรมเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/64 นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงผ่อนคลายมาตรการคุมโรคระบาดลงอีก ดังนั้น BDMS และ BCH น่าจะยังเป็นกลุ่มหลักที่ได้อานิสงส์ในประเด็นนี้ เพราะตามปกติจะมีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการมากกว่าหุ้นอื่นในกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรโรงพยาบาลขนาดเล็กจะน่าสนใจน้อยลงในปี 2565F เนื่องจากโควิด-19 ระลอกสามระบาดหนักผิดปกติในประเทศไทย โดยคาดว่าโควิด-19 จะไม่ระบาดหนักเหมือนในไตรมาส 3/64 และการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะไม่ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มโรงพยาบาลในปี 2565 เนื่องจากจะมีมาตรการออกมาคุมการระบาด และเชื้อตัวนี้ดูเหมือนจะไม่ส่งผลรุนแรงเหมือนสายพันธุ์อื่น โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 (การตรวจ กักตัว และรักษา)ในปี 2565 ของกลุ่มโรงพยาบาลจะอยู่ระหว่าง 5-15% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม ถ้าหากโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกจะทำให้ประมาณการกำไรมี upside ขึ้นมาอีก

เมื่อเร็วๆ นี้ บล.ไทยพาณฺชย์ ประเมิน BDMS ว่า มีมุมมองบวก โดยคาดว่าผลประกอบการของ BDMS จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 เพราะได้รับการสนับสนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและ EBITDA Margin ที่แข็งแกร่งขึ้น จากผู้ป่วยโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 กลับมาใช้บริการ BDMS ตามปกติ ทำให้โมเมนตัมการเติบโตของรายได้แข็งแกร่งต่อเนื่องในเดือนตุลาคม ที่เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน

ปัจจัยบวก คือ การเติบโตของผู้ป่วยโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยอัตราการครองเตียงของ BDMS เพื่อรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นจาก 57% ใน 3Q/2564 สู่ 71% ในเดือนตุลาคม สะท้อนถึงความต้องการใช้บริการรักษาพยาบาลค่อนข้างมากที่เลื่อนมาจากไตรมาส 3/64 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง 

สำหรับการให้บริการรักษาโรคที่เกี่ยวกับโควิด-19 อัตราการครองเตียงลดลงสู่ 80% จาก 90% ในไตรมาส 3/64 แต่จำนวนผู้ป่วยในเฉลี่ยต่อวันยังสูงกว่าตอนไตรมาส 2/64 โดยบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติ BDMS มีผู้ป่วยชาวต่างชาติ 457 รายใน Waiting List ส่วนใหญ่มาจากประเทศในตะวันออกกลาง CLMV และจีน ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้นหลังจากประเทศไทยกลับมาเปิดใช้สถานที่กักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (AHQ) ในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ ในปี 2565 BDMS จะใช้งบลงทุน 500 ล้านบาท (ไม่มากเมื่อเทียบกับงบลงทุนตามปกติที่ ประมาณ 6-7 พันล้านบาท) เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากระบบนิเวศด้านสุขภาพดิจิทัลสู่ 10-15% ของรายได้รวมในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก 1% ในปัจจุบัน นอกจากการมีฐานผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว มองว่าความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และความไว้วางใจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดให้ผู้ใช้รายใหม่เข้ามาใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสุขภาพของ BDMS เพิ่มมากขึ้น

ทำให้คาดว่าผลประกอบการของ  BDMS จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 โดยได้รับการสนับสนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 8% เทียบปีก่อน จากการที่ผู้ป่วยคนไทยกลับมาใช้บริการทางการแพทย์หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ฐานผู้ป่วยคนไทยที่แข็งแกร่งขึ้นผ่านโครงการประกันสุขภาพภาคเอกชน และบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งหลังปี 2565 และ EBITDA Margin ที่แข็งแกร่งขึ้น ที่ 23.9% เพิ่มขึ้นจาก 22.3% ในปี 2564 เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ใช้ประโยชน์สินทรัพย์ได้ดีขึ้น และ รายได้จากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติซึ่งให้มาร์จิ้นสูงจะเพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์  หันมาให้น้ำหนัก CHG เพิ่มขึ้นเพราะเชื่อว่าผลดำเนินงานยังเติบโตดี แม้ระยะสั้นจะผ่านจุดพีกในไตรมาส 3/64 ไปแล้ว แต่ผลงานในไตรมาส 4/64 ยังเติบโตได้เมื่อเทียบปีก่อน โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/64 ราว 600-800 ล้านบาท เติบโต 136-215% หลักๆ มาจากลูกค้าทั่วไปที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ยังมีอยู่ ทำให้ CHG มีรายได้จากการตรวจหาเชื้อ และการรักษาอยู่ และโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา (RPC) และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ จะช่วยหนุนกำไรในไตรมาส 4/64

ดังนั้นภาพรวม CHG จะกำไรสุทธิในปี 2564 ถึง 2.9 พันล้านบาท รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงลูกค้าทั่วไปก็กลับมาฟื้นด้วย ขณะที่ปี 65 กำไรมีโอกาสดีกว่าคาด หากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกลับมาระบาด นอกจากนี้ CHG ยังมีการลงทุนในการสร้างโรงพยาบาลใหม่ 3 แห่ง ซึ่งจะทยอยเปิดใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้ ส่วนราคาหุ้น CHG ที่พักตัวก็เป็นจังหวะที่น่าสนใจเข้าลงทุน เนื่องจากปัจจุบันเทรด P/E 26-29 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เทรด P/E 35 เท่า

โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า ผลดำเนินงานของ CHG ยังมีการเติบโตที่ดี แม้ระยะสั้นจะผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 3/64 ไปแล้ว แต่ผลงานในไตรมาส 4/64 ยังเติบโตได้เมื่อเทียบ ปีก่อน โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/64 ราว 600 ล้านบาท เติบโต 136% จากีกอ่น หลักๆ มาจากลูกค้าทั่วไปที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังมีอยู่ ทำให้ CHG มีรายได้จากการตรวจหาเชื้อ และการรักษาอยู่ และถ้าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกลับมาระบาดทาง CHG จะได้รับประโยชน์ไปอีก

นอกจากนี้ ในปี 65 คาดว่ากำไรของ CHG จะมีมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบจากปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดว่ากำไรสุทธิของ CHG ในปี 65 จะมี 1,410 ล้านบาท รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีรายได้จากการตรวจหาเชื้อ และการรักษาอยู่ รวมถึงลูกค้าทั่วไปก็กลับมาฟื้นด้วย

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางธุรกิจ BH ว่า คนไข้ต่างชาติกลับเข้าใช้ รพ.มากขึ้นนับตั้งแต่ปลดล็อก AHQ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา บวกกับเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั้งจากรูปแบบ Test & Go /Sandbox ส่งผลให้กำไรสุทธิ 4Q64 คาดฟื้นตัวดีขึ้นทั้งเทียบปีและไตรมาสก่อน

แต่ความกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” แม้มีแนวโน้มแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาและหลายๆ ประเทศพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่อาจมีความรุนแรงน้อยกว่า อิงจาก WHO ที่รายงานว่า ส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ จะทำให้คนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะ Middle East กลับเข้าใช้โรงพยาบาลมากขึ้นไปจนถึงต้นปี 2565

เช่นเดียวกับ บล.บัวหลวง ซึ่งเชื่อว่า BH ก้าวสู่การเป็น healthtech แนะนำซื้อสะสมในระยะยาว โดยพิจารณาจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลง 10% ของตลาดต่อความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงความเป็นผู้นำด้าน Digital Healthcare ผ่าน "Ecosystem of Care" และการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้อัตรากำไรขยายตัวได้

ส่วน บล.เอสบีไอ ไทย ประเมินทิศทางธุรกิจ BCH ว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/64 จะเพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน หนุนจากรายได้บริการโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย เมื่อเทียบปีก่อนรวมถึงได้รับปัจจัยบวกจากรายได้ฉีดวัคซีน Moderna ครั้งแรก แนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 28 บาท และปรับกำไรสุทธิปี 64 และ 65 ขึ้นเป็น 5,578 ล้านบาทและ 2,261 ล้านบาท

ขณะที่ บล.คันทรี่ กรุ๊ป แนะนำว่า BCH ในไตรมาส 4/64 จะโตแข็งแกร่งเทียบปีก่อน จากกลุ่มคนไข้เงินสดและประกันสังคม ทบต้นกับรายได้วัคซีนทางเลือกที่เพิ่มเข้ามา โดยประเมินกำไรไตรมาสนี้ที่ระดับที่ 1.5 พันล้านบาท มีแรงหนุนจากรายได้ธุรกิจหลักที่แข็งแกร่งและจากวัคซีนทางเลือก

สำหรับ กำไรปี 2565-2566 คาดว่าจะมีแรงหนุนมาจากการกลับมาของจำนวนคนไข้ทั่วไป รวมถึงผู้ประกันตนโครงการประกันสังคมที่มากขึ้น และบริการด้านวัคซีน โดยคงคำแนะนำ “ถือ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 21 บาท  (-16% จากเป้าเดิม) อิง 21xPE’22E หรือใกล้เคียงกับจุดต่ำรอบ 8 ปี แม้คาดว่ากำไรจะลดลงอย่างมากในปี 2565 แต่กำไรปกติที่โตและมั่นคงมากขึ้นจะหนุนภาพรวมในระยะยาวได้ ดังนั้นราคาที่ย่อตัวลงในช่วงล่าสุด (-27%) จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมที่ดี




กำลังโหลดความคิดเห็น