xs
xsm
sm
md
lg

“คริปโต” ร้อนปรอทแตก นักเทรดไม่หวั่น เกาะเทรนด์ “5 ธีม” สุดฮิตปี 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระแสความร้อนแรงของคริปโตเคอเรนซียังพวยพุ่งไม่หยุด ถึงแม้จะมีความผันผวนและความเสี่ยงสูงในการลงทุน คำเตือนของไอเอ็มเอฟให้ระวังผลกระทบต่อระบบการเงินของทั้งโลกดูเหมือนจะไม่สามารถฉุดเทรนด์สินทรัพย์ดิจิทัลให้แผ่วลงได้ ขณะที่แบงก์พาณิชย์และบริษัทในไทยแห่เข้าร่วมวงขยายโอกาสทางธุรกิจ สวนทางแบงก์ชาติและก.ล.ต.เร่งออกกฎคุมเข้มนำคริปโตฯมาชำระค่าสินค้าและบริการ

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ เป็นคำเตือนที่น้อยคนจะใส่ใจตราบใดที่การลงทุนนั้นให้ผลตอบแทนดี เช่นเดียวกับการแห่เข้าเล่นคริปโตฯ ของชาวโลกและชาวไทยในเวลานี้ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังหลักของ “เม่าน้อยมิลเลนเนียม” คนรุ่นเจน Y และ เจน Z ที่กล้าได้กล้าเสีย

เสียงเตือนจาก IMF

แรงดึงดูดของตลาดคริปโตฯ ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งรายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564 ว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป ประมาณ 2.15 – 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40.67% มาจากบิทคอยน์ และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 89. 61 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน มีบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 1.77 ล้านบัญชี ถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่านับจากต้นปี 2563

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่มาพร้อมความผันผวน ความเสี่ยง และกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโลก ทำให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ ออกคำเตือนมาเป็นระยะๆ ล่าสุด สำนักข่าว CNBC รายงานถ้อยแถลงของ Evan Papageorgiou รองหัวหน้าแผนกการเงินและตลาดทุน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ว่า ระบบนิเวศของคริปโตเคอเรนซีที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ปัญหาหนึ่งที่ไอเอ็มเอฟ เน้นย้ำคือนักลงทุนและสถาบันการเงินจำนวนมากที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลขาดแนวทางปฏิบัติการที่เข้มงวดและการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อความเสี่ยงในการลงทุนซึ่งอาจได้รับความเสียหาย

ไอเอ็มเอฟ ระบุด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนและการกำกับดูแลต้องมีความโปร่งใส พิสูจน์เส้นทางการเงินย้อนหลังได้ แต่กระนั้นการพัฒนาชุดข้อมูลอาจสร้างช่องว่างเพื่อปกปิดหรืออำพรางข้อมูลเส้นทางการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการฟอกเงินและจัดหาเงินของผู้ก่อการร้าย ดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรเพิ่มความร่วมมือกันในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และควรมีมาตรฐานกลางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีแนวทางการติดตามความเสี่ยงและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกัน

ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ของ ก.ล.ต. ขยายความมุมมองของผู้เชี่ยวชาญจาก IMF ที่มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การใช้แทนสกุลเงินของบางประเทศ จะทำให้เกิดช่องว่างในการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราและกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีราคาสูงขึ้นมาก มีความผันผวนสูง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบของบางประเทศ ประกอบกับสินทรัพย์ดิจิทัลและการให้บริการที่เกี่ยวข้องมีลักษณะไร้พรมแดน จึงเห็นว่า Financial Stability Board (FSB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามและดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินโลก ควรจัดทำแนวทางหรือมาตรฐานกลางในระดับสากลสำหรับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ผู้เชี่ยวชาญจาก IMF เห็นว่า การมีกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามความเสี่ยงและกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ลดปัญหาด้านการแสวงหากำไรที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจหลีกเลี่ยงไปดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีการกำกับดูแลที่อ่อนกว่าได้ ซึ่งแนวทางหรือมาตรฐานกลางข้างต้นควรสอดคล้องกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลและลักษณะกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเภทที่สำคัญ เช่น การให้บริการเก็บรักษา รับฝาก และโอนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการชำระราคา ควรจัดให้มีการขึ้นทะเบียน หรือให้ใบอนุญาต โดยหน่วยงานกำกับดูแลก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ

สอง กฎเกณฑ์กำกับดูแลควรเหมาะสมกับวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น หากเป็นการใช้งานหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ควรกำกับดูแลในลักษณะเดียวกับหลักทรัพย์โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลหลักทรัพย์ หรือหากเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน ควรถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลางหรือหน่วยงานกำกับดูแลบริการชำระเงิน เนื่องจากการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีพัฒนาการได้อย่างต่อเนื่อง หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกันติดตามและดูแลความเสี่ยงจากการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเปลี่ยนแปลงไปหรือที่มีการใช้งานได้ในหลายลักษณะ

และ สาม ควรกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับจำกัดความเสี่ยงในการเข้าไปถือครองหรือเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล เช่น สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกัน เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

ก.ล.ต.-แบงก์ชาติ จ่อออกกฎคุมเข้ม

สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะของการระดมทุน ได้แก่ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ซึ่งสินค้าหรือบริการยังไม่สามารถใช้ได้ทันที (Utility Token ไม่พร้อมใช้) ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไปกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการระดมทุน ไม่ว่าจะออกเสนอขายด้วยวิธีการดั้งเดิมหรือออกเป็นโทเคนดิจิทัล ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายและมาตรฐานเดียวกัน

แนวทางของ ก.ล.ต. ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้เชี่ยวชาญของ IMF เสนอ โดยพิจารณาความเสี่ยงและวัตถุประสงค์ของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทเป็นหลัก และยังสอดคล้องกับการกำกับดูแลของหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิสเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ เป็นต้น

สำหรับการกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างติดตามและพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสมต่อไป ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. ว่าการทำการตลาดในรูปแบบใดก็ตามให้ยืนอยู่บนฐานข้อเท็จจริง

นอกจากนั้น ก.ล.ต. ยังเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลในการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้บริการทางการเงินรูปแบบ DeFi ซึ่งเป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง มาใช้ในธุรกรรมหลากหลาย เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ทั้งนี้ การทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ อาจอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด ที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวงมีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว

ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความชัดเจน โดยห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใดๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง

ฟากฝั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ แสดงความกังวลและชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลซื้อขายสินค้าและบริการ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ โดย ธปท.ออกแถลงการณ์ว่า กำลังติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ธปท. ยกเหตุผลไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการเนื่องจากราคามีความผันผวนสูง และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนให้ได้รับความเสียหาย หากนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไป โดย ธปท. กำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อจำกัดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะออกเอกสารให้คำปรึกษาเรื่อง “Financial Landscape” ในเดือนมกราคม 2022 เน้นย้ำถึงผู้ที่ถือครอง Bitcoin และเหรียญ Altcoins ว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล แม้จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากแต่ยังมีความเสี่ยง และนั่นคือเหตุผลที่กฎหมายใหม่จะพยายามเพิ่มความคุ้มครองที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสินทรัพย์ดิจิทัล

แบงก์ชาติ ยังออกประกาศเตือนว่า ไม่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนร่วมโดยตรงในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอ้างถึงความผันผวนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงินและการชำระเงิน

ร้อนแรงไม่หยุด อะไรก็ฉุดไม่อยู่

แม้จะมีการออกมาสกัดกระแสร้อนแรงของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตฯ แต่เอาเข้าจริงอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนประเภทสถาบันทั่วโลกที่จัดทำโดยเนติซิส อินเวสต์เมนต์ แมเนเจอร์ส พบว่า ปีหน้าตลาดคริปโตฯ จะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ และนักลงทุนประเภทสถาบันจะให้การต้อนรับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

การสำรวจความคิดเห็นของเนติซิส ครอบคลุมนักลงทุนประเภทสถาบัน 500 ราย ที่จัดการสินทรัพย์มูลค่า 13.2 ล้านล้านดอลลาร์ในกองทุนบำนาญของรัฐบาลและเอกชน ประกันภัย มูลนิธิ และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติทั่วโลก และนักลงทุนประเภทสถาบันเกือบ 100 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและจัดการสินทรัพย์มูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ นักลงทุนเหล่านี้ ได้รับคำถามเกี่ยวกับตลาดที่จะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ในปี 2022 ส่วนใหญ่หรือมากกว่าครึ่งเชื่อว่า จะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ในตลาดคริปโตฯ 45% รองลงมา คือหุ้นกู้ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย, หุ้น 41% และเทคโนโลยี 39%

เนติซิส ตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนเริ่มเปิดใจรับเงินดิจิทัลมากขึ้น โดย 40% มองว่าคริปโตฯ เป็นตัวเลือกการลงทุนที่ชอบธรรม และในกลุ่มนักลงทุน 28% ที่ลงทุนในคริปโตนั้น มีถึง 90% ที่บอกว่า จะถือคริปโตต่อหรือซื้อเพิ่ม ขณะที่นักลงทุน 87% คาดว่าในที่สุดธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะต้องออกกฎควบคุมคริปโตฯ

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนประเภทสถาบันต่างแสดงความสนใจในคริปโตฯ ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอเมริกัน เผยว่า ความกลัวตกกระแส (fear of missing out - FOMO) ผลักดันให้นักลงทุนประเภทสถาบันมากมายเข้าลงทุนในบิตคอยน์ และในเดือนกรกฎาคม 2564 ผลสำรวจของนิกเคิล ดิจิตอล แอสเส็ต แมเนจเมนต์ พบว่า นักลงทุนประเภทสถาบันและผู้จัดการบริหารความมั่งคั่ง 82% กำลังวางแผนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในคริปโตฯ จนถึงปี 2023

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ CNN และ CNBC ระดมความเห็นนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มทิศทางของ Bitcoin และคริปโตฯ ในปี 2022 ซึ่งต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นปีแห่งกองทุน Bitcoin ETF ที่จะเป็นดาวเด่นและได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งความนิยมในกองทุนจะกลายเป็นแรงหนุนให้มีการออกกองทุน ETF ในสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เพิ่มเติม

นักวิเคราะห์จากสองค่ายต่างเห็นตรงกันว่า การเติบโตของตลาดคริปโตฯ จะทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาโปรดักส์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรายงานของ CNBC ชี้ว่าให้จับตามองการเติบโตของ DeFi ที่จะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ขณะที่รายงานของ CNN เห็นว่า นักลงทุนจะเริ่มพิจารณาสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆ นอกเหนือจาก Bitcoin และ Ether มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน

นอกจากนี้ ในปี 2022 รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกจะตื่นตัวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจัง ซึ่งแง่หนึ่งหมายถึงสกุลเงินเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งหมายถึงการออกกฎเพื่อควบคุมสกุลเงินดิจิทัลเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินโดยรวมแบบดั้งเดิม

การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลสอดรับกับพฤติกรรมการลงทุนของเศรษฐียุคมิลเลนเนียล ที่ไม่แคร์ต่อราคาที่ผันผวนและความเสี่ยงสูง โดย CNBC เผยผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนที่มีสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป (ไม่รวมที่พักอาศัยหลัก) ว่า 83% ของเศรษฐีรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen Y คือกลุ่มคนที่เกิดในยุคดิจิทัลช่วงปี 1980-1997 ถือครองคริปโตอยู่แล้วในขณะนี้ โดยกว่าครึ่ง (53%) มีสินทรัพย์อย่างน้อย 50% เป็นคริปโตฯ และเกือบ 1 ใน 3 มีบิทคอยน์ อีเธอร์ และคริปโตฯ สกุลอื่นๆ อย่างน้อย 3 ใน 4 ของมูลค่าสินทรัพย์

การถือครองคริปโตฯ ของเศรษฐีมิลเลนเนียลตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับมิลเลียนแนร์รุ่นใหญ่ กล่าวคือมีเศรษฐีรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือกลุ่มคนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี 1946-1964) แค่ 4% ที่ถือคริปโตฯ ขณะที่กว่า 3 ใน 4 ของนักลงทุน Gen X หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1965-1979 ไม่มีคริปโตฯ เลย แม้ราคาบิทคอยน์และคริปโตสกุลอื่นๆ พากันร่วงในช่วงที่ผ่านมา แต่เศรษฐีมิลเลนเนียล ไม่มีแผนชะลอการลงทุนในคริปโตฯ แถมเกือบครึ่ง (48%) เตรียมซื้อเพิ่มในช่วง 12 เดือนข้างหน้า, 39% คาดว่า จะถือคริปโตฯ ที่ระดับเดิมต่อไป และมีเพียง 6% ที่เล็งลดการลงทุนในคริปโต

สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยทั้งหมดกว่า 1.4 ล้านบัญชี ซึ่งน้อยกว่าบัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราว 2.1 เท่า แต่ก็มีอัตราการขยายตัวสูงอยู่ที่ 27.6% ต่อเดือน ขณะที่บัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีอัตราการเติบโตเพียง 2.9% ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซีในไทย ซึ่งสัดส่วนของนักลงทุนหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยแสดงความห่วงใยที่วัยรุ่นเทรดคริปโตฯ กันคึกคัก และฝากให้ผู้ปกครองช่วยดูแล

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กลุ่มธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน และผู้ให้บริการตลาดซื้อขายคริปโตฯ ผ่านบิทคับ ออนไลน์ มองว่า โอกาสเติบโตของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีอีกมากมายในอนาคต และเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ในอนาคตจะมีขนาดใหญ่กว่าการลงทุนในรูปแบบเดิมหลายเท่าตัว เราสามารถใช้เทรนด์นี้สร้างอีโคซิสเต็มขึ้นเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ ภาครัฐสามารถใช้เทรนด์เหล่านี้สร้างมูลค่าการเติบโตเศรษฐกิจได้

ไม่เพียงแต่นักลงทุน นักเทรด ที่โดดเกาะแสเมกะเทรนด์ดังกล่าว บรรดาสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างแห่เข้าร่วมวงไพบูลย์เพิ่มมากขึ้น นับจาก “ยานแม่ SCBX” แบงก์ไทยพาณิชย์ ที่ส่งบริษัทลูกเข้าร่วมทุนกับกลุ่มบิทคับ ทาง Zipmex แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ยังต่อยอดความร่วมมือกับ “กรุงศรี ฟินโนเวต” เตรียมจัดตั้ง Crypto Fund บริหารการจัดการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมก้าวสู่การเป็น Crypto Bank

ส่วน บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (Beacon VC) ในเครือธนาคารกสิกรไทย ประกาศลงทุนในบริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในรอบ Pre-Series A เพื่อยกขีดความสามารถของบริษัทในการให้บริการที่ครบวงจรสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเช่นเดียวกัน

นับเป็นความเคลื่อนไหวของแบงก์พาณิชย์ ที่ไม่พลาดโอกาสตามเทรนด์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่บริษัทธุรกิจต่างแห่ขึ้นขบวนรถไฟสายคริปโตขยายโอกาสทางการตลาดการลงทุน อย่างเช่น เดอะมอลล์กรุ๊ป ที่จับมือกับกลุ่มบิทคับ ร่วมทุนตั้งบริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด ปั้น “ดิจิทัลคอมมูนิตี้” แห่งแรกของประเทศ เช่นเดียวกับ GMM Grammy ที่เดินหน้าเข้าสู่ Music NFT ผ่านความร่วมมือกับ Zipmex ส่วน ค่ายอาร์เอส กรุ๊ป โดยบริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล บริษัทในเครืออาร์เอสที่เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์และการตลาดดิจิทัล เตรียมออกโทเคนดิจิทัล “Popcoin” ในเดือนมกราคม 2565 และพร้อมลิสต์เหรียญบนกระดานเทรดของ Bitkub

5 ธีมคริปโตฯ สุดฮอตฮิต 2022

จอห์น แพทริค ลี นักวิเคราะห์จาก VacEck Associates Corporation บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก มอง 5 เทรนด์คริปโตฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 ว่า 

1.คริปโตฯ จะเข้ามามีบทบาทเชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ ในระดับเมนสตรีมมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงมีแนวโน้มสูงที่บริษัทเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตฯ บริษัทขุดเหมือง บริษัทรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโตฯ จะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด 

2. Non-Fungible Tokens (NFTs) จะรุกเข้าสู่กระแสเมนสตรีม ด้วยจำนวนผู้ใช้งานนับล้านๆ ยูสเซอร์ และจะถูกใช้งานในวงกว้าง เช่น การจำหน่ายตั๋วกีฬา, E-Sports, คะแนนสะสมการซื้อสินค้า

3.ETH ที่ผ่านการอัพเกรดซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ จะใช้พลังงานในการขุดน้อยลงและจะเพิ่มความจุเครือข่ายมากขึ้น 

4. BTC จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การถือครองทรัพย์สิน และการยอมรับของสถาบันการเงินเป็นวงกว้าง และ

5.บรรดานักขุดเหมืองคริปโตฯ จะกลายเป็นหัวหอกและตัวเร่งสำคัญในการนำพลังงานสีเขียวมาใช้

นายเอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist Zipmex Trader วิเคราะห์ 5 ธีมคริปโตเคอเรนซีที่น่าจับตาในปี 2022 ว่า 

1.Blockchain Infrastructure เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของคริปโตทั้งหมด จะเติบโตขึ้นตามกระแสการยอมรับคริปโต 

2.กระแสของ NFT ทำให้มีองค์กรใหญ่ๆ สนใจมากขึ้นเพราะสามารถสร้างรายได้เพิ่ม, ต่อยอดธุรกิจ, สร้างโอกาสและฐานลูกค้าใหม่ ยิ่งมีการนำ NFT ไปผสมกับเกม ผสมกับโลกเสมือน (Metaverse) ยิ่งทำให้ NFT น่าสนใจมากขึ้นในปีนี้

3.GameFi เปลี่ยนการเล่นเกมจากอดีตเพื่อความสนุกตื่นเต้นมาเป็นเล่นเกมแล้วได้เงิน จะมีการพัฒนาต่อยอดมาเป็น Play to Earn มากขึ้น 

4.Metaverse หรือโลกเสมือนจริงจะมีความชัดเจนและน่าสนใจที่สุดธีมหนึ่ง และ 

5.DeFi 2.0 Decentralized Finance มีการเติบโตสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา จะมีการพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น

รายงานของ siamblockchain.com เปิด 5 เทรนด์คริปโต ปี 2022 ในทำนองเดียวกันว่า จำนวนผู้ใช้คริปโตจะพุ่งขึ้นถึงพันล้านในปี 2022 และคริปโตจะกลายมาเป็นทางเลือกของพอร์ตการเงิน โดยบิทคอยน์อาจพุ่งแตะเป้าหมายที่ระดับ 100,000 ดอลลาร์ และ NFT จะยังเป็นธีมที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับ Metaverse รวมถึงเกม Play to earn ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกจะวางมาตรการกฎหมายกฎระเบียบดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น