xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจปี 65..ยังน่าห่วง โอมิครอนดับฝันเปิดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจของไทยปี 65 โตระดับ 3.2% หลังโอมิครอนระบาด ให้ติดตามข้อมูลของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ให้น้ำหนักไปในทางดี หรือ Base Case ที่ 3.7% ไว้ หากเกิดกรณีเลวร้ายกว่าที่จะทำให้จีดีพีต่ำกว่าระดับที่ประเมินไว้จะมีการทบทวนกันอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า และหากจีดีพีถูกกระทบจนกระทั่งอัตราการเติบโตต่ำกว่า 2.8% คาดการณ์ว่าภาครัฐอาจจะใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีก

หลังจากผ่านพ้นปี 2564 ปีแห่งผลกระทบจากวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลในวงกว้างทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงินต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยา จวบจนไตรมาส 4 ปลายปีที่มีการกระจายวัคซีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดลงได้ นำไปสู่การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด และแม้ว่าจะเห็นภาพที่ดูจะสดใสขึ้นในปี 2565 แต่ยังมีมุมมองจากนักวิชาการของหลายสถาบันที่จะช่วยให้เราเห็นภาพที่กว้างและชัดขึ้น เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปีเสือที่กำลังมาถึงนี้ได้อย่างมั่นใจขึ้น

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) กล่าวว่า EIC SCB ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 65 ที่ระดับ 3.2% เป็นการปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4%(จากปี 64 ที่ 1.1%) ตามผลกระทบของ Omicron ต่อภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี แต่ในภาพรวมยังถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามอัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกสินค้าของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% จากแรงหนุนของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคท่องเที่ยวจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากการระบาด Omicron โดยในกรณีฐานคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน บนพื้นฐานสมมติฐานที่ผลกระทบของ Omicron จะจำกัดอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ขณะที่ในกรณีเลวร้ายประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไปเป็นในปี 2566

ทั้งนี้ โดยรวมเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำในหลายมิติ ประกอบด้วย 1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 2) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ 3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมากและปัญหาคอขวดอุปทานโลก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากกว่าคาด จนทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 4) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอกว่าคาดจากความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ EIC SCB มองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพและมี output loss ที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับความเสี่ยงด้านต่ำจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีสูง ภาครัฐจึงยังควรคงบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจในปีหน้า โดยการพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากการคำนวณของ EIC พบว่า แม้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพมาก จึงทำให้มี output loss ในระดับสูงและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 อาจจะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566

"การประเมินจีดีพีในปี 65 เราได้รวมผลจากโอมิครอนไปแล้ว โดยในกรณีฐานมองว่าที่ระดับ 3.2% แต่หากกรณีดีกว่าฐานที่การระบาดไม่รุนแรง ภาครัฐมีการอัดฉีดเพิ่มจีดีพีอาจจะเพิ่มเป็น 4.1% แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายจีดีพีอาจต่ำกว่าที่คาดไว้อยู่ที่ 2.3% ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าคาดการณ์ที่ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปีนี้ที่ 3.3แสนคน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงการเกิดโควิด-19 มาก และยังจะกลับไปสู่จุดเดิมได้เมื่อไหร่นั้นยังค่อนข้างยากที่จะประเมิน เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยคือจีนยังไม่เปิดประเทศ และยังมีการกลายพันธุ์ของไวรัสอยู่ต่อเนื่อง"

เตือนรับมือตลาดเงินผันผวน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัส Omicron จะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่แรกปี 65 รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติมโดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยในกรณีดี แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลด หรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น จีดีพีปี 65 ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% จากแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

ส่วนในกรณีแย่ที่สายพันธุ์ Omicron มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ เช่น ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta ที่เริ่มในช่วงเดือนเม.ย.64

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 ในกรณีดีน่าจะฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน จากปีนี้ที่ประมาณ 3.5 แสนคน แต่สำหรับกรณีแย่ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7-8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้ง 2 กรณียังถือว่าห่างไกลจากช่วงก่อนโควิดมาก

"เราต้องติดตามข้อมูลของ Omicron อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ให้น้ำหนักไปในทางดี หรือ Base Case ที่ 3.7% ไว้ ซึ่งหากเกิดกรณีเลวร้ายกว่าที่จะทำให้จีดีพีต่ำกว่าระดับที่ประเมินไว้จะมีการทบทวนกันอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า และหากจีดีพีถูกกระทบจนกระทั่งอัตราการเติบโตต่ำกว่า 2.8% คาดการณ์ว่าภาครัฐอาจจะใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 2-3 แสนล้านบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบซึ่งอยู่ในสถานะที่ทำได้"

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในภาคการเงินนั้น กรณีดีที่ผลกระทบจากไวรัส Omicron จำกัด ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังน่าจะทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามแผน ซึ่งตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 ถึง 3 ครั้ง อันจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าไทยในช่วงปลายปี และย่อมจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ในกรณีแย่ การระบาดของไวรัส Omicron จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อันทำให้เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก โดยมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน ธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง ดังเช่นในช่วงระหว่างปี 2564 ที่เงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหว (ระดับอ่อนค่าสุด-ระดับแข็งค่าสุด) กว้างถึง 4 บาทกว่า เทียบกับปี 2563 ที่กรอบประมาณ 3.40 บาท

"ปีหน้าโจทย์เรื่องอัตราเงินเฟ้อจะเป็นโจทย์ของทุกธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางหลักไปอย่างเฟด ซึ่งหากในปีหน้าผลกระทบจาก Omicron ไม่มากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวดี การจ้างงาน การว่างงานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่า 2 ครั้ง จะเริ่มเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากขึ้นในช่วงปลายปีหน้า"

แนะรัฐใช้มาตรการอย่างตรงจุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารประมาณการจีดีพีปี 65 ที่ระดับ 3.8% เป็นการปรับเพิ่มจากเดิมที่ 3.2% จากปัจจัยสนับสนุนหลักได้แก่ การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน ซึ่งยังต่ำระดับก่อนโควิดที่ระดับกว่า 40 ล้านคนค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศจีนอันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักยังไม่เปิดประเทศ และกำลังซื้อระดับกลาง-บนที่เริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นหลังการคลายล็อกดาวน์

ในทางกลับกัน แม้เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยเบื้องต้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ การระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครต หรือรีพับลีกันได้รับชนะ แต่ก็จะมีความเห็นตรงกันในการสกัดการขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกของจีน และหากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลก รวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้

และปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ ซึ่งจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง เพราะคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคต่อรายได้สูง แปลว่ามีเงินเท่าใดก็ต้องนำไปใช้จ่ายแทบทั้งหมด เมื่อรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นหรือคนจะต้องยิ่งประหยัดหรือลดการบริโภคลง และขาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่มาตรการทางการคลังด้วยการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่น่าจะเป็นการหว่านแหด้วยการลดราคาสินค้าหรือใช้เงินรัฐในการอุดหนุนทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำลังซื้อคนระดับกลาง-บนดีขึ้น รัฐบาลน่าจะสามารถเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นได้

"นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐซึ่งในระยะต่อไปนั้นควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะจุดมากขึ้น เช่น ในกลุ่มผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมีมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้คนระดับกลางและบนเร่งการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้ออยู่สูง เพื่อก่อให้รายได้หมุนเวียนมาช่วยกลุ่มล่าง ขณะเดียวกัน จะต้องมีการฟื้นฟูโดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการลงทุน ซึ่งไทยยังมีโอกาสด้านการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศของไทยยังมีอยู่จากจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ของประเทศ ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงด้านแรงงานที่แม้จะมีไม่มากแต่ก็มีส่วนที่ยังมีคุณภาพ ซึ่งภาครัฐควรหันมาผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น โครงการ EEC เนื่องจากการลงทุนโดยตรงมีส่วนที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้"

แนะธุรกิจปรับตัวรับกระแส Growth

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นตัว หรือ “Recovery Path” ชัดเจนขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรในสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปรับพฤติกรรมของคนให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกไทยโตได้ต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ในประเทศของไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกันตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเป็นลำดับนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้การกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทยต้องล่าช้าไปเป็นปี 2566

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการลงเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “กลบหลุมเดิม-เติมกำลังซื้อ-รื้อโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดหายรายได้ของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานแรงงานในภาคบริการที่คาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น รวมไปถึงการผสมผสานมาตรการที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบของการช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือ Co-payment ที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง ตลอดจนการช่วยเหลือและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถรองรับความเสี่ยง และแข่งขันได้ในยุค New Normal

นอกจากนี้ ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะทบทวนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวและก้าวไปสู่ความเป็น winner ในอนาคต ด้วยการต่อยอดจากกระแสการพัฒนาในโลกยุค New Normal นำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการลงทุนรองรับ Green Economy การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืนรองรับการเปิดประเทศ การยกระดับ Productivity ด้วยการปรับกลยุทธ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง Talent โลกที่เข้มข้นขึ้น การลงทุนต่อยอดจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต นอกจากนี้ ธุรกิจดูแลสุขภาพอาจต้องปรับโมเดลกิจการให้รองรับสถานการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาว หากธุรกิจสามารถจับกระแสและใช้ประโยชน์จากทิศทางดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้เร็วขึ้น และจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น

ด้าน ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  (BAY) คาด สำหรับปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.7% (เดิมคาด 3.0%) และมีแนวโน้มที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่าง คาดว่าในปี 2565 จะเติบโตราว 3.6% จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มรายได้ และทุกสาขา จะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ttb ชี้ 3 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) ระบุแม้ว่าปัจจัยบวกต่างๆ ในปลายปี 64 จะส่งโมเมนตัมเศรษฐกิจปี 65 ให้ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ความท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินในปี 65 ก็ถือเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันเพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระยะยาวให้ได้หลังยุคโควิด-19 โดยเมื่อจัดกลุ่มปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินตามเกณฑ์แหล่งที่มาของผลกระทบ แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ 1.จุดอ่อนของภาคส่วนเศรษฐกิจไทย 2.การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก และ 3.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ความท้าทายด้านแรก คือ เรื่องจุดอ่อนของภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจาก ความผันผวนของต้นทุนด้านอุปทานที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ หลังจากปริมาณความต้องการสินค้ามากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด แต่ผลผลิตยังมีไม่เพียงพอ แม้ประเมินว่าปัญหาด้านอุปทานจะทยอยคลี่คลายหลังกลางปี 2565 เป็นต้นไป แต่ภาคธุรกิจไทยที่เปราะบางจึงจำเป็นต้องพยายามลดต้นทุนที่เกิดขึ้น หาพลังงานทดแทน และลดความผันผวนจากต้นทุนนำเข้าต่างประเทศ (Imported Price) เพื่อคงความสามารถในการทำกำไร ภาครัฐและภาคธุรกิจควรร่วมมือกันเร่งกระจายนักท่องเที่ยวเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเภทที่สามารถทำมูลค่าเพิ่มได้

ความท้าทายด้านที่สอง จากการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก มีปัจจัยมาจากการเปิดกว้างทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งแม้ว่าอุปสรรคการค้าในด้านภาษี (Tariff Barrier) ทั่วโลกจะลดลงต่อเนื่อง แต่มีแรงสั่นสะเทือนอีกครั้งหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน อุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านภาษี (Non-tariff Barrier) เช่น สิทธิบัตรยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกที่ถือว่ามีอุปสรรค Non-tariff Barrier มากที่สุด อีกทั้งการดำเนินนโยบายพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อแนวโน้มการค้าการลงทุนของโลกด้วย ดังนั้น แนวทางการพิจารณาสร้างความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงร่วมทางการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยลดทอนอุปสรรคทางการค้าลงได้ และแนวนโยบายร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

และความท้าทายด้านที่สาม จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการทำงานจากที่บ้าน การซื้อสินค้าและบริการ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ การมาถึงของชุมชนโลกเสมือนจริงจะยิ่งเร่งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่นับจากนี้เป็นต้นไป

ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสดีที่เร่งให้ภาคธุรกิจต้องเสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ และปรับปรุงระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ขององค์กรให้เชื่อมโยงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและยังต้องสนับสนุนการทำงานของพนักงานจากบ้านได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ลดต้นทุนการบริหารบุคลากรในองค์กรลงได้ และทำให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น สำหรับภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรข้อมูลบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการวางนโยบายบริหารประเทศได้ถูกต้องและตรงตามเป้าหมายมากขึ้นด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น