“กรุงไทย” ผนึกกำลัง “สกพอ.” พัฒนาบริการทางการเงินตอบโจทย์นักลงทุนทุกกลุ่มในพื้นที่ EEC ครบวงจร ครอบคลุมด้านสภาพคล่อง การบริหารจัดการ ยกระดับบริการภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หวังผลักดันการลงทุนในพื้นที่ EEC ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทุกกลุ่มในพื้นที่ EEC ทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เพื่อร่วมขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC ในเฟสถัดไปในปี 2566-2569 มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ GDP ในประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพ สู่เป้าหมายที่ 4.5-5% ต่อปี ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้
โดยล่าสุด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ร่วมลงนาม
ทั้งนี้ ธนาคารมีบริการทางการเงินหลากหลายสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับลูกค้า sSME เช่น สินเชื่อ Krungthai sSME EEC 4.0 ที่ให้วงเงินกู้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน หรือสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถกู้ได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อ Krungthai sSME Smart Shop วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ผ่อนดีมีลด สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี สำหรับลูกค้า SME มีบริการสินเชื่อ SME รักกันยาวๆ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนได้นานถึง 10 ปี สินเชื่อ SME Robotics and Automation เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ วงเงินสูงสุด 80% ของเงินลงทุน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี นอกจากนี้ ยังมี สินเชื่อสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ ECC และบริการทางการเงินสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศ บริการบัญชีเงินฝาก Foreign Currency Deposit และ Krungthai WARP
ด้านระบบการบริหารงาน ธนาคารเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน บนแนวคิดที่ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร เช่น โครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure” ซึ่งเป็นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินและภาคธุรกิจโดยใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน และยกระดับการบริการทางการเงิน ทั้งของธนาคารและภาคธุรกิจ เช่น ระบบที่ช่วยในเรื่องของการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้ประกอบการสามารถส่งข้อมูล e-Tax invoice และ e-Receipt ผ่านธนาคาร ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารได้เข้าร่วมโครงการ Digital Supply Chain Finance พัฒนาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการค้า การชำระเงินของภาคธุรกิจ ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐอย่างครบวงจร เพื่อเป็นประโยชน์ในการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ ซึ่งจะสามารถนำมาต่อยอดช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการในเขต EEC
ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC ให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน