เอนเนอร์ยี่ แคปปิตอล เวียดนาม (ECV) บริษัทโฮลดิ้งและพัฒนาธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อรองรับรูปแบบการลงทุนในประเทศเวียดนาม ได้ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแบบ LNG-to-Power ขนาด 3,600 เมกะวัตต์ โดยจัดตั้งอยู่ที่มุย เค กา (MKG) จังหวัดบินห์ทวน ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ ECV ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement : JDA) โดยใช้ประสบการณ์ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามมากว่า 20 ปี และความเชี่ยวชาญของทีมงานทางด้านการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นอย่างมีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด
ขณะที่บริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ และ ECV ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ จะส่งมอบอุปกรณ์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมาทดแทนการใช้ถ่านหิน โดยประเมินมูลค่าการก่อสร้างโครงการประมาณ 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
“โลกเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อรองรับความต้องการพลังงานในปริมาณมาก อันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ” ริช ไรซิก รองประธานอาวุโส ฝ่ายพัฒนาโครงการและการลงทุนของซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ กล่าว “ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดเวลาผลักดันให้เราตอบสนองความต้องการพลังงานเหล่านั้นในแนวทางที่มีความยั่งยืนมากขึ้น พร้อมกับจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ซึ่งก๊าซธรรมชาติทำหน้าที่เป็นสะพานช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับถ่านหิน โดยมีความมั่นคงด้านทรัพยากรด้วย โดยซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ ภูมิใจที่จะร่วมโครงการ MKG ของ ECV ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการ LNG-to-Power ที่มีความล้ำหน้าและก้าวหน้ามากที่สุดในเวียดนาม”
“บี.กริม เพาเวอร์ รู้สึกยินดีที่จะได้ทำงานกับ ECV, ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ และ Maius เพื่อดำเนินโครงการ LNG-to-Power ของ MKG และเราพร้อมสนับสนุนแผนแม่บทการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 ที่จะออกมาในเร็ววันนี้” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าว “เรามีความมั่นใจอย่างยิ่งในการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในโครงการนี้ เพื่อเป็นหลักสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเวียดนาม ซึ่ง LNG เป็นที่ยอมรับในสากลว่าเป็นเชื้อเพลิงที่คุ้มค่าและมีความสะอาดกว่าถ่านหิน โดยโครงการ MKG LNG จะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในเวียดนาม ให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์”
มร.เดวิด ลิววิส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ECV กล่าวว่า การได้ร่วมมือกับ บี.กริม เพาเวอร์ และซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ คือ การประกาศถึงความแข็งแกร่งของโครงการ MKG ในเวียดนาม
“การเป็นหุ้นส่วนกับบี.กริม เพาเวอร์ และซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ ได้เสริมความแข็งแกร่งให้โครงการ LNG-to-Power ของ ECV ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญให้เวียดนาม” ลิววิสกล่าว “เหนือกว่าประสิทธิภาพและความสามารถทางวิศวกรรมระดับเวิลด์คลาส บี.กริม เพาเวอร์ และซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงการ โดยยกระดับความสัมพันธ์และประสบการณ์ระดับโลก เพื่อนำเสนอโซลูชันที่ครบวงจร โดยเวียดนามถือเป็นตลาดที่ยังใหม่มากสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG เมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านจากการใช้ถ่านหินมาเป็นพลังน้ำ ขณะที่การเติบโตทางการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเกือบถึง 10% ECV มองเห็นสิ่งนี้และเข้ามาดำเนินธุรกิจในเวียดนามอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเตรียมตัวสำหรับโอกาสการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
เวียดนามกำลังอยู่ในขั้นตอนทำให้แผนแม่บทการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะรวมโครงการ LNG-to-Power ของ ECV ในมุย เค กา (MKG) ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญนอกเมืองโฮจิมินห์ซิตีด้วย โดย ECV ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการประชาชนแห่งจังหวัดบินห์ทวน เมื่อปี 2562 เพื่อพัฒนาโครงการ LNG-to-Power ซึ่งมีหลายเฟส โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2563 แล้ว โครงการ MKG จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,600 เมกะวัตต์ และใช้ก๊าซ LNG 3 ล้านตันต่อปี (MTPA) โดยโครงการจะนำสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซธรรมชาติแบบลอยน้ำ (FSRU) มาใช้ประโยชน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการลำเลียง LNG และจะเชื่อมต่อกับท่อส่งใต้ทะเลไปยังคอมเพล็กซ์ไฟฟ้าบนฝั่ง โดยเฟสแรก 1,800 เมกะวัตต์ มีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2568