นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY)กล่าวว่า ยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์ของกรุงศรีออโต้ปีนี้คาดว่ายังเติบโตตามเป้าหมาย หรือทรงตัวจากปีก่อนที่ 428,000 ล้านบาท โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 4 สินเชื่อมีทิศทางกระเตื้องขึ้น ขณะที่ภาพรวมยอดขายรถยนต์ใหม่รวมที่ 750,000 คัน ลดลง 5% และคาดการณ์สินเชื่อยานยนต์รวมที่ 465,000 ล้านบาท ลดลง 4% ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NP) ยังคุมคุณภาพหนี้ได้ดีที่ระดับไม่เกิน 2% ปัจจุบันNPL อยู่ที่ 1.7%โดยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้การบริการจัดการ NPL ได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ยอดลูกหนี้มีปัญหามีจำนวนลดลงมากแล้ว แต่กรุงศรี ออโต้ก็ยังมีแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบแต่ละรายตามความเหมาะสม
ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เตรียมเปิดประชุมรับฟังความเห็นรอบสอง ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ในพิจารณาคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนใหม่ ที่อัตรา 15% รวมทั้งสินเชื่อรถมือสองและรถจักรยานยนต์ที่อัตรา 20% นั้น นางกฤติยากล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเชื่อว่า ภาครัฐะต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ประกอบการ และผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการ แต่หากผลการพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว บริษัทต้องปรับตัวตาม โดยอาจต้องมีการปรับเงื่อนไขให้คุ้มกับความเสี่ยงและต้นทุนของบริษัท เช่น ปรับวงเงินเดาวน์เพิ่มขึ้น และขยายระยะเวลาผ่อนชำระ โดยพิจารณาตามกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท
"ไม่ว่าผลเฮียร์ริ่งออกมาอย่างไร เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า รัฐจะต้องหาจุดสมดุล และจริงๆทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ปล่อยอยู่ในตลาดไม่ได้แพงมาก และเป็นไปตามกลไกตลาด คือเป็นไปไม่้ได้ที่สถาบันการเงินจะปล่อยอัตราดอกเบี้ยสูงแล้วจะมีลูกค้ามาใช้บริการและแต่ถ้าหากมีการคุมอัตราดอกเบี้ยจริง เมื่อถึงวันหนึ่งแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เราจะต้องกลับมาเฮียร์ริ่งอีกครั้งหรือไม่"
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2565 อยู่ระหว่างการจัดทำ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรุงศรี ออโต้มองเห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เรามองว่าการเข้ามาของช่องทางออนไลน์ การสร้างแพลตฟอร์ม และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา โดยมองถึงเทรนด์ที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้ 4 เทรนด์ ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
การเข้าถึงด้วยออนไลน์ โดยจากการสำรวจของ ABeam Consulting ระบุว่า 40% ของผู้ซื้อรถในประเทศไทยสนใจที่จะซื้อรถผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการวางเงินดาวน์และวางแผนด้านสินเชื่อ ซึ่งกรุงศรี ออโต้ ได้วางรากฐานด้านบริการสินเชื่อยานยนต์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้นำร่องบริการสินเชื่อยานยนต์ดิจิทัล ครอบคลุมทั้งรถยนต์ใหม่ และรถยนต์มือสอง ผ่าน GO Application by Krungsri Auto ซึ่งลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่าน National Digital ID (NDID) กรอกใบสมัคร และรอรับผลอนุมัติสินเชื่อได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้ลูกค้าที่ขอสินเชื่อรถยนต์ใหม่ในงาน Motor Expo 2021 ได้ใช้งานเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีมียอดการขอสินเชื่อใหม่ทางช่องทางออนไลน์กว่า 4% ของยอดสินเชื่อใหม่รวม และน่าเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้าที่เปิดตัวอย่างเต็มที่
การมัดใจด้วยคำปรึกษา และให้มากกว่าด้วยความหลากหลาย แม้แพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยให้ผู้บริโภคหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ 59% ของผู้ซื้อรถในประเทศไทยยังคงเดินทางไปที่โชว์รูม พูดคุยกับพนักงานขาย และทดลองขับรถก่อนตัดสินใจซื้อ รวมถึงโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้รถที่แตกต่างกันไปเป็นอีกปัจจัยที่ผู้ให้บริการสินเชื่อไม่ควรมองข้าม โดยสถิติชี้ให้เห็นว่า มากกว่าครึ่งของเจ้าของรถยนต์หรูและรถยนต์ทั่วไปเลือกใช้หรือต้องการใช้ช่องทางดิจิทัลสำหรับบริการหลังการขาย ในขณะที่เจ้าของรถกระบะส่วนใหญ่ยังคงเลือกช่องทางออฟไลน์ ซึ่งกรุงศรี ออโต้ให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ช่องทาง และพร้อมที่เชื่อมทั้ง 2 ช่องทางอย่างไร้รอยต่อ
และตอบอินไซต์ผู้บริโภคด้วยการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์อินไซต์ของลูกค้าในทุกสถานการณ์ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดอย่าง ‘คาร์ ฟอร์ แคช พร้อมใช้’ สินเชื่อเพื่อคนมีรถ พร้อมวงเงินฉุกเฉิน และการขยายประกันอะไหล่ ‘กรุงศรี ออโต้ โพรเทค’ ให้ครอบคลุมเซกเมนต์ บิ๊ก ไบค์ ก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้รถในระยะยาว ในปีหน้าเราจะมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้แก่ลูกค้าในวงกว้างขึ้น
"เรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องที่เราไม่ไปไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มที่มาอย่างชัดเจนและมาอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเรื่องของคริปโต เคอร์เรนซีซึ่งเราก็สนใจ แต่ที่สำคัญคือต้องรอความชัดเจนจากผู้กำกับดูแลก่อนจึงจะสามารถพิจารณาต่อไปได้"