xs
xsm
sm
md
lg

TRV เทรดวันแรกเหนือจอง 105%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที.อาร์.วี.รับเบอร์ โปรดักส์ ปิดเทรดวันแรกเหนือจอง 2.42 บาท หรือ 105.22% จากราคาจองซื้อ IPO ที่กำหนดไว้หุ้นละ 2.30 บาทต่อหุ้น โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมายเหนือ 3 บาท

หุ้นของ บริษัท ที.อาร์.วี.รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRV เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรก โดยเปิดตลาดที่ 4.72 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.42 บาท หรือ 105.22% จากราคาจองซื้อ IPO ที่กำหนดไว้หุ้นละ 2.30 บาทต่อหุ้น และเมื่อปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 4.20 บาท เพิ่มขึ้น 1.90 บาท หรือ 82.61% มูลค่าซื้อขาย 2,109.25 ล้านบาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 5.35 บาท และต่ำสุดที่ 4.20 บาท

นายธีรวุฒิ นวมงคลชัยกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRV เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำลังซื้อที่ฟื้นตัวรับมาตรการภาครัฐเข้าหนุน ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะเข้าไปรองรับชิ้นส่วนยางขึ้นรูปในยานยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมและค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้หันมาพัฒนาออกมาจำหน่ายมากยิ่งขึ้น ส่วนเงินที่ได้จะนำเงินไปใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิตและชำระคืนหนี้เงินกู้

น.ส.เดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า ด้วยความเชี่ยวชาญของผู้บริหารกว่า 20 ปี มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจทั้งด้านการบริหารจัดการ บุคลากร กระบวนการผลิต และคุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐาน การส่งมอบให้ทันเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้บริษัทได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้ผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางขึ้นรูป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในฐานลูกค้าหลักของบริษัทฯ เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะเพิ่มศักยภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหม่

บล.คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ประเมินกรอบราคาเหมาะสมของ TRV ในกรอบ 3.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้นอีก 15 เครื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเท่าตัวจากปี 2563 จำนวน 104.10 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 198.10 ล้านชิ้นต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่จะผลิตได้ที่ 1.55-1.60 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 9-12% จากปีก่อน นอกจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมีการเพิ่มขึ้น 2-4% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 3.00 บาท คาดกำไรปกติปี 2021-2023 ประมาณ 18% CAGR ประเมินกำไรปี 2021-2022 จะเติบโต 14.2% และ 16.9% ตามลำดับ เนื่องด้วยยอดขายฟื้้นตัวของกลุ่มยานยนต์ที่ 5.4% และ 11.5% ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น