นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายให้แก่ บมจ.บริทาเนีย (BRI) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) จากช่วงราคาหุ้นละ 10-10.50 บาท ในวันที่ 3 ธ.ค.64 (ภายในเวลา 17.00 น.) ทางเว็บไซต์ของ บมจ.บริทาเนีย (www.britania.co.th) และ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) พร้อมกับจะแจ้งข่าวดังกล่าวทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (www.set.or.th)
BRI จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของ ORI ที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจองซื้อในวันที่ 7-9 ธ.ค.64 ได้ 3 วิธี ได้แก่ 1.จองซื้อผ่านระบบ Electronic Rights Offering (E-RO) บนเว็บไซต์ www.yuanta.co.th 2.ยื่นใบจองซื้อ ณ สำนักงานใหญ่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนรับจองซื้อหุ้นในส่วน Pre-emptive Rights และ 3.การจองซื้อผ่านทางโทรศัพท์บันทึกเทป (สำหรับผู้ที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เท่านั้น โดยสามารถจองซื้อเกินกว่าสิทธิ (ไม่กำหนดอัตราสูงสุดการจองซื้อเกินกว่าสิทธิ)
อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้น ORI จะได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จองซื้อเกินกว่าสิทธิต่อเมื่อมีหุ้นที่เหลือจากการจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้น ORI ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นที่จองซื้อตามสิทธิครบถ้วนแล้วเท่านั้น โดยหลักเกณฑ์การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินกว่าสิทธิให้เป็นไปตามที่ระบุในแบบไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน
ส่วนนักลงทุนกลุ่มอื่นๆจองซื้อในวันที่ 13?15 ธ.ค.64 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย บล.กสิกรไทย และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) รวมถึงผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 ราย ได้แก่ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.ทรีนีตี้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำหุ้น BRI เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 21 ธ.ค.64 ซึ่งทาง BRI จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้พัฒนาโครงการ ชำระคืนเงินกู้ยืมและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRI กล่าวว่า บริษัทวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่อีก 9 โครงการ มูลค่ารวม 1.08 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งขยายไปในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของเมือง การขยายโครงข่ายคมนาคม และแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ บริทาเนีย ราชพฤกษ์-นครอินทร์ เป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม มูลค่า 700 ล้านบาท บริทาเนีย อมตะ-พานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝดและทาวน์โฮม มูลค่า 2 พันล้านบาท บริทาเนีย อุดร-ดุษฎี เป็นบ้านเดี่ยว มูลค่า 650 ล้านบาท บริทาเนีย ระยอง เป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม มูลค่า 1.1 พันล้านบาท เป็นต้น
ในช่วง 5 ปีข้างหน้า BRI วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยุธยา ตลอดจนมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ เน้นทำเลใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรมและจังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวม 2.8 พันล้านบาท เติบโต 52.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 452.3 ล้านบาท เติบโต 55.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดโครงการใหม่และโครงการในปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านเป้าหมายของรายได้จากการโอนโครงการแนวราบช่วง 3-5 ปี หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ย 30-40% จากการเดินหน้าขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และยังเชื่อมั่นว่าที่อยู่อาศัยแนวราบยังเป็นที่ต้องการซื้อของคนในประเทศค่อนข้างมาก จากพฤติกรรมการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงมาต้องการพื้นที่สอยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีครอบครัว ต้องการพื้นที่ในการใช้ชีวิตและพื้นที่ให้ลูก หรือสามารถเสี้ยงสัตว์ได้ ทำให้ที่อยู่อาศัยแนวราบตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อบริษัทในการสร้างผลประกอบการที่เติบโตขึ้น และสร้างมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) จากโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมี Backlog รวม 700 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาต่อเนื่อง