SAM เผยความสำเร็จการดำเนินงานในฐานะ AMC ภาครัฐ ช่วยลูกค้า NPL แก้หนี้สำเร็จแล้ว 55,000 ราย ขายทรัพย์ NPA นับหมื่นรายการ หรือกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมช่วยลูกค้าเป็นหนี้เสียบัตรสมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว 68,000 บัญชี พร้อมเดินหน้าออกหุ้นกู้ 5 พันล้านในปีหน้า ตุนเงินทุนรองรับเอ็นพีแอลพุ่งช่วงปี 65-66
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยผลการดำเนินงานและความสำเร็จ ณ เดือนตุลาคม 2564 สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า NPL ไปแล้วจำนวน 54,899 ราย คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี 341,448 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย NPA ได้ทั้งสิ้น 10,496 รายการ ราคาประเมินทรัพย์ 51,914 ล้านบาท ด้านการประมูลซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มขนาดพอร์ต SAM สามารถซื้อสินทรัพย์ได้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 16,569 ราย มูลค่าตามบัญชี 113,621 ล้านบาท ขณะที่คลินิกแก้หนี้ มีจำนวนลูกค้าที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าโครงการได้รวมทั้งสิ้น 68,071 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2543 SAM สามารถนำส่งเงินคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ 255,000 ล้านบาท
"ผมรู้สึกยินดีที่ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ SAM องค์กรที่มีภารกิจยิ่งใหญ่และเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ นับว่าเป็นความท้าทายที่สุดที่ได้เข้ามาบริหารงานในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนจำนวนมากขาดรายได้และมีปัญหาการชำระหนี้ SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ควบคู่การสนองนโยบายและมาตรการภาครัฐด้วยการดำเนินงานเชิงรุก โดยยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นสำคัญ"
สำหรับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) SAM มีนโยบายมุ่งเน้นให้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นอันดับแรก โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นสำคัญ รวมถึงร่วมปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติภายใต้แนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หรือดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยที่ผ่านมา SAM จัดโครงการ “แบ่งเบาภาระลูกค้าในภาวะวิกฤตโควิดระบาด ระลอก 3” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนพิเศษ รวมทั้งนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง ปัจจุบัน SAM มีจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20,727 ราย มูลค่าตามบัญชี 354,320 ล้านบาท
ด้านการจำหน่ายทรัพย์สินทรัพย์สินรอการขาย (NPA) SAM มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการนำทรัพย์สินที่ทิ้งร้างมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งคืนทรัพย์สินเหล่านี้กลับสู่ระบบ และนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งการประมูลและการเสนอซื้อโดยตรง รวมทั้งโปรโมชันส่งเสริมการขายที่น่าสนใจอีกมากมาย ปัจจุบัน SAM มีทรัพย์สินรอการขายหลากหลายประเภทในทำเลดีทั่วไทย ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่าและทรัพย์เพื่อการลงทุน ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 รายการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท
ส่วนโครงการ “คลินิกแก้หนี้ by SAM” นั้น ล่าสุด ได้ขยายเกณฑ์คุณสมบัติผู้เป็นหนี้เสียที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจากเดิมที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบัตรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.การต่ออายุมาตรการยาแรงระยะที่ 3 “จ่ายเท่าที่ไหว” ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 โดยลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% (เงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด) 2.การปรับเกณฑ์ด้านอายุจากเดิมไม่เกิน 65 ปีเป็นอายุ 70 ปี โดยนับรวมระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และมาตรการที่ 3.การปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 4-7% เป็นอัตราเดียว (Single Rate) ที่ 5%
ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรม AMC นั้น ปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจาก AMC ของเอกชน และการจัดตั้งของธนาคารพาณิชย์ โดยปัจจุบันมี AMC อยู่ในระบบประมาณ 60-70 แห่ง ซึ่งอาจจะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองในปีนี้มีการขายเอ็นพีแอลออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยคาดว่าจะมีออกมา 50,000-60,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่เคยคาดไว้กว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอาจจะมีการพิจารณาเก็บไว้บริหารจัดการเอง และการผ่อนคลายเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่ SAM เองคาดว่าในปีนี้น่าจะประมูลซื้อหนี้ได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4 นี้จะเป็นการประมูลล็อตใหญ่สุดท้ายของปีที่มีมูลหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท
"แม้ว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น แต่เรามีจุดได้เปรียบที่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างทางการเงินที่เข้มแข็ง มีต้นทุนทางการเงินต่ำ และมีการดำเนินการอย่างยืดหยุ่น เนื่องจากเราไม่ได้มีกำไรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด แต่ไม่ใช่องค์กรสาธารณะกุศล ดังนั้น จึงสามารถเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูตัวเองได้มากกว่า ซึ่งตรงนี้จะตรงกับแผนงานในอนาคตของ SAM ที่มีแนวคิด Back to Basic ที่มุ่งเน้นแนวทางให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกลับไปสู่ภาวะปกติของตนเองได้ และขณะนี้ SAM ยังไม่มีแนวคิดที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมกับธนาคารพาณิชย์นั้นคงต้องความชัดเจนจากแบงก์ชาติก่อน ขณะที่แผนงานของ SAM ในปีหน้า ทั้งด้านการประมูลซื้อเอ็นพีแอล การขายสินทรัพย์ NPA และการปรับโครงสร้างหนี้น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะเราคืดว่าปีนี้คงจะเป็น Bottom แล้ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องล็อกดาวน์ยาวนาน"
นายธรัฐพร กล่าวอีกว่า เราคาดว่าในช่วงปี 65 และ 66 จะมีเอ็นพีแอลออกมาขายมากจากตัวเลขหนี้ที่ผิดนัดชำระขณะนี้ที่มีถึง 500,000 ล้านบาท แม้จะไม่ได้ไหลลงมาเป็นเอ็นพีแอลทั้งหมดจำนวน แต่น่าจะมีจำนวนมากกว่าภาวะปกติที่จะมีประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งทาง SAM จะมีการตั้งรับสถานการณ์ โดยมีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในวงเงินเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เสนอขายในไตรมาส 2 ปีหน้า นอกจากนี้ จะยังมีแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่รองรับอยู่แล้ว เช่น การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ หรือเพิ่มวงเงินออกหุ้นกู้ จึงน่าจะเพียงพอที่จะรองรับเอ็นพีแอลในระบบสูงขึ้นได้