ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการระดมทุนหุ้น IPO รวมสูงสุดใน 5 ปี ถือเป็น 95% ของมูลค่าการระดมทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดีลอยท์เปิดเผยข้อมูลตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้สาธารณชน (IPO) มีความคึกคักเป็นอย่างมากที่ในช่วง 10.5 เดือนแรกของปี 2564 จากข้อมูลโดยดีลอยท์ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ชี้ให้เห็นว่า บริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าการระดมทุนไอพีโอเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหุ้นไอพีโอของบริษัท จำนวน 121 บริษัทในปีนี้ สูงกว่ามูลค่ารวมตลอดทั้งปี 2563 การซื้อขายหุ้นไอพีโอยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินอยู่ ด้วยจำนวนหุ้นไอพีโอเพิ่มขึ้น 6% ทำให้มูลค่ารวมของการระดมทุนเพิ่มขึ้น 39% และมูลค่ารวมของตลาดไอพีโอสูงขึ้น 24% เมื่อเทียบกับ 12 เดือนในปีที่แล้ว โดยสรุปแล้ว มูลค่ารายได้หุ้นไอพีโอเพิ่มขึ้น 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าในตลาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 36.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนจากไอพีโอได้สูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ตามด้วย ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม การเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ค่าเงินที่มีความแข็งแกร่ง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในไทยสามารถระดมทุนหุ้นไอพีโอได้มีมูลค่าถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็น 43% ของทุนที่ระดมได้ในปี 2564 โดยบริษัท ปตท.นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) คว้าอันดับ 1 ในกระดานผู้นำหุ้นไอพีโอของภูมิภาคในปีนี้ ด้วยจำนวนเงินจากระดมทุนเป็นจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถระดมทุนได้มากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
นางวิลาสินี กฤษณามระ Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “หุ้นไอพีโอยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญอย่างต่อเนื่องสำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หุ้นไอพีโอในปีนี้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทน้ำมัน จนถึงบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ค้าปลีก และธุรกิจทางการเงิน ซึ่งเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก เราคาดว่าจะมีหุ้นไอพีโอจากอีก 10 บริษัทเป็นอย่างน้อยมาเสริมตำแหน่งปีทองของไอพีโอของไทยในปีนี้ และหากพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment : MAI) เราน่าจะได้เห็นการเข้าตลาดของบริษัทด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทยมากขึ้น เป็นการก้าวออกจากบริษัทในรูปแบบเดิม”
สำหรับฟิลิปปินส์ หลังจากการจดทะเบียนเข้าตลาด REIT ของ AREIT, Inc ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการเข้าตลาดของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) เป็นครั้งแรก ในปี 2564 นี้ เราได้เห็นการจดทะเบียนของกอง REIT ขนาดใหญ่อีก 4 ราย ซึ่งสามารถระดมทุนเป็นมูลค่ารวมถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมกับ Monde Nissin Corporation ที่มีมูลค่าการจดทะเบียนเข้าตลาดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เท่ากับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ในปี 2564 ฟิลิปปินส์ สามารถระดมทุนได้มากกว่า 4 ปีที่ผ่านมารวมกัน
PT Bukalapak.com Tbk ของอินโดนีเซีย สามารถระดมทุนได้สูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นมูลค่าการระดมทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ อินโดนีเซียถือเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของมูลค่าการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาค ด้วยจำนวนบริษัทที่เข้าตลาด 40 บริษัทในช่วง 10.5 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับ 51 บริษัท ณ สิ้นปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการระดมทุนรวม 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10.5 เดือนแรกของปี 2564 โดยมีมูลค่าจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 6 เท่าจาก 377 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563
น.ส.อิเมลดา ออร์บิโต Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า “ด้วยข่าวแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่มีแผนจะนำรัฐวิสาหกิจ 14 แห่งเข้าตลาด ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมทางเลือกในการระดมทุนเพื่อการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่าน Acceleration Board รวมถึงการคาดการณ์การเข้าตลาดครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี จากการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามองว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ยุคใหม่ของการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์”
จำนวนการเสนอขายหุ้นไอพีโอของมาเลเซียกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยได้แรงหนุนจากผู้ลงทุนหลัก ประกอบกับจำนวนเงินทุนที่ไม่ได้ลงทุนจำนวนมาก uninvested capital ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีบริษัทสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีและบริษัทที่ต้องการเพิ่มสถานะและความสามารถในการเจาะตลาดทุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น “ตลาดไอพีโอของมาเลเซียยังคงสดใสด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดจนถึงปัจจุบันเป็น จำนวน 24 บริษัท ด้วยการเปิดตัวแผนแม่บทตลาดทุนครั้งที่ 3 (Third Capital Market Masterplan) โดย เอส ซี มาเลเซีย (SC Malaysia) การปรับการดำเนินเป็นดิจิทัล และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม เรามั่นใจว่าจะมีบริษัทอีกมากมายที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดในปี 2565 เรายังต้องจับตาดูผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาค จากนโยบายทางการคลังและนโยบายด้านกฎระเบียบ รวมถึงการรายงานความยั่งยืนในตลาดโลก แต่เราคาดว่าปี 2565 จะเป็นปีที่คึกคักมาก” นายหว่อง การ์ ชุน Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ มาเลเซีย กล่าว
การเสนอขายหุ้นไอพีโอในสิงคโปร์มีปริมาณน้อยมากในช่วง 10.5 เดือนแรกของปี 2564 เนื่องจากไม่มี REIT ที่ปกติแล้วจะเป็นตัวสนับสนุนตลาดทุนไอพีโอ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) สามารถระดมทุนไอพีโอได้เป็นจำนวน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ จากข้อตกลงเสนอขายหุ้นไอพีโอ 5 ราย ซึ่งประกอบด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 1 รายบนกระดานหลัก โดยระดมทุนได้ 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 4 รายบนกระดาน Catalist ซึ่งสามารถระดมทุนรวมเป็นจำนวนเงิน 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเปรียบเทียบการซื้อขายที่ระดมทุนได้ 968 ล้านเหรียญสหรัฐ จากข้อตกลงไอพีโอ 11 ราย ในปี 2563 ตลาดสิงคโปร์ยังคงมีความหวังด้วยการจดทะเบียนและยื่นเข้าตลาดของไอพีโอ REIT โดย Daiwa House Logistics Trust และ Digital Core REIT ในวันที่ 19 และ 22 พฤศจิกายน 2564 ตามลำดับ ในอีก 1.5 เดือนข้างหน้าจะเป็นไฮไลต์ของตลาดทุนของสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่ากรอบการทำงานใหม่ในการจดทะเบียนบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special Purpose Acquisition Companies - “SPAC”) ที่เปิดตัวในเดือนกันยายน 2564 จะช่วยให้ตลาดทุนของสิงคโปร์ฟื้นตัวจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอที่แห้งแล้งในปีนี้ และกลับมาทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว
น.ส.เท ฮวี ลิง Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย และสิงคโปร์ กล่าวถึงตลาดทุนว่า “จากการเพิ่มกฎการเข้าจดทะเบียนในกลุ่มรองลงมาและการนำ SPAC เฟรมเวิร์กมาใช้ บริษัทที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยชื่อท้องถิ่นที่คุ้นเคยมีทางเลือกมากขึ้นและสามารถระดมทุนในการจดทะเบียนได้เร็วมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนไอพีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผลกระทบในทางที่ดีและช่วยเพิ่มพลวัตของสิงคโปร์ ในการเป็นตลาดทุนระดับนานาชาติที่จัดหารูปแบบการเติบโตให้บริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนได้”
“องค์กรที่มีการเติบโตสูงสามารถเข้าถึงกองทุน Anchor ซึ่งเป็นกองทุนการร่วมลงทุนใหม่ที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลสิงคโปร์และเทมาเส็ก เพื่อระดมทุนจากสาธารณะในตลาดทุนของสิงคโปร์ ด้วยระบบนิเวศแบบองค์รวมที่ส่งเสริมให้บริษัทเข้าสู่การจดทะเบียนหุ้นไอพีโอ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงตลาดทุนในกรอบระยะเวลาอันสั้น ทำให้การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เป็นไปได้เร็วขึ้น ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการเข้าจดทะเบียนมากยิ่งขึ้นในประเทศสิงคโปร์”
สำหรับการคาดการณ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2565 น.ส.เท ฮวี ลิง เชื่อว่ายังจะมีบริษัทที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดในช่วงท้ายปี และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถระดมทุนได้สูงทะลุหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินมูลค่าทุนรวมที่ระดมได้ทำได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อภูมิภาคฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
น.ส.เท ฮวี ลิง กล่าวเสริมว่า “ทุกสายตาจับจ้องมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ ด้วยสภาพคล่องจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากรายชื่อบริษัทที่เข้าจดทะเบียนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ กระแสในบริษัท SPAC และศักยภาพของบริษัทในรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยังถึงจุดสูงสุด ท่ามกลางความไม่แน่นอนในกลุ่มตลาดทุน บริษัทได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยศักยภาพการเติบโตและโอกาสที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าตลาดทุนในภูมิภาคนี้จะประสบความสำเร็จในปี 2565 ด้วยแหล่งเงินลงทุนที่หลากหลายและความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในธุรกิจในเอเชีย”
หมายเหตุ ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ไม่รวมข้อมูลไอพีโอในช่วง 16 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2564