xs
xsm
sm
md
lg

M พ้นจุดต่ำสุดผลงานเริ่มฟื้นตัว ศักยภาพดีเยี่ยมฐานเงินแกร่งหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทิศทางธุรกิจ “เอ็มเค เรสโตรองต์” หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ไฟเขียวร้านอาหารกลับให้บริการปกติ เชื่อผลักดันผลประกอบการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส4ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หลังไตรมาส3/64 ขาดทุนหนัก ด้านกูรูประเมินจะได้เห็นการฟื้นตัวที่รวดเร็ว จากศักยภาพทางธุรกิจ และศักยภาพการเงินที่แข็งแกร่ง คาดการขยายสาขาของร้านอาหารในมืออาจไม่รีบร้อน

หากย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M) ถือเป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงไปมากจากที่เคยไต่ขึ้นไปถึงระดับ 80.75 บาทต่อหุ้น ในช่วงปลายเดือนก.ค.2562 แต่เคลื่อนไหวอยู่ที่บริษัท 56.00 บาทต่อหุ้น ลดลงไปถึง 24.75 บาทต่อหุ้น หรือ 44.19%

โดยปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันหุ้นร้านสุกี้ยากี้เจ้าใหญ่ของประเทศ หนีไม่พ้นการแพร่ระบาทของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาร่วม 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงแรกเริ่มของการระบาดในประเทศ ราคาหุ้น M เคยร่วงลงไปแตะถึงระดับ 41.50 บาทในเดือนมี.ค.ปีที่ผ่านมา และจากนั้น การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น M ยังสวิงไปมา แม้จะเคยรีบาวนด์ขึ้นมายืนเหนือระดับ 60.00 บาทต่อหุ้นได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาระดับดังกล่าวไว้ได้นานนัก เพราะราคาหุ้นมีการปรับฐานบ่อยครั้งสลับกับการฟื้นตัว ทำให้หลายต่อหลายคนเชื่อว่าราคาหุ้น M จะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้นานไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศครั้งใหญ่จะเบาบางลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นั่นเพราะ การเติบโตทางธุรกิจของ M มาจากงานบริการ และการบริโภคของประชาชน ดังนั้นเมื่อมีการควบคุมการรวมตัวของประชาชนเพื่อลดการแพร่ระบาด รวมถึงการออกมาตรการสกัดกั้นต่างกิจกรรมต่างๆของประชาชน ย่อมทำให้ M ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และนั่นย่อมส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 -2564 ยังอยู่ในสภาวะทรุดตัวมากกว่าทรงตัว โดยในปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 1.36 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 4.21 พันล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเหลือ 907.37 ล้านบาท หรือลดลง 1.69 พันล้านบาท จาก 2.60 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า ส่วน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 7.74 พันล้านบาท และมีผลประกอบการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ระดับขาดทุน 268.08 พันล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญหนีไม่พ้น มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของรัฐบาลก่อนหน้านี้

ด้าน “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าจากการแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 ที่เกิดขึ้นระลอก 3 กระจายไปในวงกว้างและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรอบนี้อาจมีผลกระทบมากกว่ารอบที่ผ่านมา และกระทบต่อยอดขายของช่องทาง dine-in หรือการนั่งรับประทานในร้าน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ M ต้องปรับแผนงานหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางซื้อกลับบ้าน และดีลิเวอรี่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างไรก็ตามถือเป็นสัดส่วนที่ยังไม่สามารถชดเชยในช่องทาง dine-in ได้ เนื่องจากรายได้หลักกว่า 80% ของเอ็มเคมาจากการนั่งทานในร้าน ทำให้ บริษัทหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงการเจรจาขอลดค่าเช่า และจัดเวลาการทำงานของพนักงานให้สอดรับสถานการณ์

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความยากลำบากของธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีความคึกคักอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาอยู่เป็นระยะ ๆ แต่หลังจากมีการระบาดของ COVID-19 ผู้คนเริ่มมีความกังวลถึงความปลอดภัยและออกมาจับจ่ายลดลง ทำให้ทราฟฟิกในศูนย์การค้าลดลงมาก ประกอบกับช่วงที่ภาครัฐมีคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน ส่งผลให้เชนร้านอาหารรายเล็กจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดในปีก่อน เริ่มทยอยปิดตัวลงเพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว”

ขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเชนร้านอาหารรายใหญ่ที่ทยอยเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ สร้างความหลากหลาย และส่วนใหญ่จะเน้นแข่งขันในแง่ของราคา ความหลากหลาย และความคุ้มค่าของรายการอาหาร รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งจัดโปรโมชั่นลดราคาในหลายรูปแบบ เพื่อกระตุ้นและจูงใจผู้บริโภค เช่นเดียวกับ เอ็มเค กรุ๊ป ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้น กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานนับจากเดิมบริษัทตั้งเป้ารักษาการเติบโตต่อเนื่อง โดยสำหรับปีนี้ยังไม่มีแผนลงทุนในโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ แต่ยังต้องการขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมาเอง รวมถึงการซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร และการเข้าซื้อกิจการเพื่อนำมาช่วยเสริมธุรกิจของเอ็มเค กรุ๊ป แต่ในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องชะลอไว้ก่อน และเชื่อว่ายังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนที่อยากลงทุน แม้บริษัทจะมีเงินสดสำรองค่อนข้างมาก แต่จะต้องรอสถานการณ์คลี่คลาย ถึงจะเริ่มมองหาโอกาสเข้าไปทำ M&A กับบริษัทที่น่าสนใจและเหมาะสมกับการสร้างโอกาสโตร่วมกัน

สำหรับแผนเปิดสาขาใหม่ ผู้บริหาร M แสดงความเห็นว่า ช่วงเวลานี้จะเน้นแบรนด์เอ็มเคสุกี้ และยาโยอิ ที่เป็นแบรนด์หลัก โดยจะต้องวางแผนอย่างรัดกุม เนื่องจากการเปิดสาขาใหม่ใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 8-10 ล้านบาทต่อสาขา โดยจะต้องพิจารณาจากพื้นที่ ทั้งศูนย์การค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนจากสาขาเดิมที่มีอยู่ และมองไปถึงยอดขายของสาขาใกล้เคียงเพื่อให้มั่นใจในการเปิดสาขาใหม่ในบริเวณนั้น

ส่วนแผนการขยายร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ปีนี้ต้องชะลอเอาไว้ก่อน ซึ่งต้องรอให้เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ถึงจะเดินหน้าขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมระบบงานโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ การเทรนนิ่งพนักงาน เชฟปรุงอาหาร เพื่อรองรับหลังในอนาคตหลังโควิด-19 คลี่คลาย

ล่าสุด เมื่อรัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ และร้านอาหารเริ่มกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า นี่คือสัญญาณดีสำหรับการฟื้นตัวของ M นั่นเพราะเมื่อประชาชนกลับเข้ามาใช้บริการร้านต่างๆ ภายใต้การบริหารของบริษัท ย่อมทำให้ M มีรายรับเข้ามาเพิ่มขึ้น มากกว่าบริการจัดส่งอาหารเพียงช่องทางเดียว

โดยฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ คาดว่าจากสัญญาณบวกดังกล่าว จะทำให้ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) สาขาเดิมมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยในช่วงเดือนตุลาคม เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่รัฐผ่อนคลายมาตรการให้สามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ แต่คาดว่าเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคมจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากแผนการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาด้วย ดังนั้น บริษัทจึงได้มีการกลับมาเปิดสาขาเพิ่มขึ้น จากช่วงไตรมาส 3/2564 ที่บริษัทมีการปิดสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศไปกว่า 11 สาขา ทำให้ปัจจุบันมีสาขารองรับลูกค้าที่ 476 สาขา

ขณะเดียวกันในช่วงที่เหลือของปีบริษัทจะมีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายออกมาจำนวนมาก ทั้งในส่วนของร้านและออนไลน์ด้วย เพราะช่องทางการขายออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่มองว่าอัตราการเติบโตอาจจะลดลงบ้าง เพราะลูกค้าบางส่วนกลับมานั่งทานที่ร้าน

นอกจากนี้บริษัทคาดหวังว่าสถานการณ์ปีหน้าจะดีขึ้น แต่ต้องติดตามให้ผ่านช่วงปีใหม่ที่เป็นช่วงเทศกาลไปก่อนจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น พร้อมกับยืนยันว่า บริษัทยังมีแผนการขยายสาขาต่อเนื่อง แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมส่วนร้านอาหารอื่นๆ ในเครือก็เช่นเดียวกัน อย่างร้านอาหารญี่ปุ่น "ยาโยอิ" และร้านแหลมเจริญ โดยปัจจุบันมีสาขาร้าน ร้านอาหารญี่ปุ่น "ยาโยอิ" จำนวน 186 สาขา และร้านแหลมเจริญ จำนวน 28 สาขา น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกัน

ส่วนสถานะทางการเงินของบริษัท M ยืนยันว่ายังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถบริหารจัดการร้านอาหารได้ยังไม่มีปัญหาด้านการเงินแต่อย่างใด ในส่วนมาตรการสาธารณสุขบริษัทก็ให้พนักงานฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 100% เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

มุมมองดังกล่าว สอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายแห่งที่เห็นตรงกันว่า  M ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน จากการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะทำให้กลุ่มท่องเที่ยว,ขนส่ง,ร้านอาหาร,ค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า,นิคมอุตสาหกรรม และ บันเทิงฟื้นตัวกลับมา 

โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งยกเลิกเคอร์ฟิวส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มแนะนำเลือกหุ้นที่ราคายังมีส่วนลด(Discount)จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือราคายังต่ำกว่าปลายปี 2562จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร น้ำหนักส่วนใหญ่ยกให้ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือM,บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN

อย่างไรก็ตาม มีการปรับลดราคาเป้าหมายของ M ลงเหลือเพียง 58.00 บาทต่อหุ้น ด้วยเหตุผลว่าแม้จะมีการปรับประมาณการกำไรปี 64-65 ลง 82% และ 19% เพื่อสะท้อนผลกระทบCOVID-19 ระลอก 3 และ 4 แต่มองปัจจัยลบส่วนใหญ่ได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว และมองว่าเป็นโอกาสทยอยสะสม ในหุ้นที่มีสถานะการเงินแข็งแกร่งเป็น Net cash และมีสภาพคล่องทนกับ Cash burn ได้มากกว่า 1 ปี

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด  ประเมินทิศทางธุรกิจของ M ว่า จากผลประกอบการไตรมาส 3/64 ขาดทุน เนื่องจากได้รับผล กระทบหนักจากการ Lockdown ส่งผลต่อรายได้ และ GPM แต่มองว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยแนวโน้มไตรมาส 4/64 เชื่อว่าพลิกกลับมาทำกำไรหลังรัฐผ่อนคลายมาตรการให้ทานที่ร้านได้ และ Pent-Up Demand ที่ยังสูงหนุน SSSG ให้ชะลอในอัตราที่ลดลง

ดังนั้น ยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวของ M ที่จะฟื้นตัวเด่นในปี 2565 หลังปัจจัยกดดันคลี่คลายมากขึ้น และคนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติช่วยหนุน SSSG และมี S-Curve ใหม่อย่าง LCS ที่จะฟื้นตัวเด่นหลังเปิดประเทศ อย่างไรก็ระดับกำไรของบริษัทในปีนี้ยังเป็นระดับที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว 36% คงคำแนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 65.00 บาท มี Upside Gain 20.4% 

ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางธุรกิจของ M ว่า จากการห้ามไม่ให้ทานในร้านตั้งแต่ 12 ก.ค. - 31 ส.ค. ส่งผลให้ SSSG ร้านสุกี้ลดลง 48% ,ยาโยอิ ลดลง 40% และแหลมเจริญลดลง 59% ทำให้ยอดขายที่ 1.973 พันล้านบาทลดลง 48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 21% จากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามจากการห้ามนั่งทานในร้านของรัฐบาล ก็ทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทจากช่องทาง Delivery เพิ่มเป็น 34% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (Magrin) ของบริษัทลดลงเล็กน้อยเหลือ 60.1% จาก 63.2% ในไตรมาส2/64 ส่วนค่าใช้จ่ายและบริหารลดลง 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 13% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากจำนวนพนักงานที่ลดลง และการได้รับส่วนลดค่าเช่าจากผู้ให้เช่า แต่พบว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้ที่ลดลง อีกทั้งการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

ทำให้ ยังคงแนะนำ "ทยอยซื้อ" ในราคาพื้นฐาน 58.00 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ การดำเนินงานจะฟื้นตัวหลัง สามารถกลับมาเปิดร้านอาหารได้ตามปกติ แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อาจส่งผลต่อกำลังซื้อให้ฟื้นตัวได้จำกัด โดยคาดว่าหากกำลังซื้อกลับมา ประกอบการฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท จะทำให้ M มีการฟื้นตัวทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน  บล.เอสบีไอไทย ออนไลน์ จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจของ M ว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส3/64 พลิกเป็นขาดทุน 257.4 ล้านบาท นั้นถูกกดดันหลักจากมาตรการ lockdown จากเดิมในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนบริษัทมีกำไรสุทธิ465 ล้านบาท เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐฯได้มีการออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การสั่งปิดร้านอาหาร งดให้บริการนั่งทานที่ร้าน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยอนุญาตให้บริการเฉพาะการซื้อกลับบ้านและจัดส่งเท่านั้น กดดันให้รายได้จากการขายและบริการลดลงกว่า 50.7% เทียบปีก่อน มาอยู่ที่ 1.97 พันล้านบาท รวมถึงยังได้รับปัจจัยลบจากอัตรากำไรขั้นต้นงวด ไตรมาส3/64 ลดลงมาอยู่ที่ 60.1% จาก 66.7%

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ลง 75% มาอยู่ที่ 90 ล้านบาท จากเดิม 356 ล้านบาท เพื่อให้สะท้อนสถานการณ์ โควิด-19 และมาตรการ lockdown ในไตรมาส3/64 ที่ผ่านมา โดยปรับลดประมาณการยอดขายของ M ปี 2564 ลง 18.9% มาอยู่ที่ 7.07 พันล้านบาท จากเดิม 8.70 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2565 ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ขึ้น 5.5% มาอยู่ที่ 1.21 พันล้านบาท จากเดิม 1.14 พันล้านบาท จากสมมติฐานว่าสถานการณ์จะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 65โดยเราได้ปรับลดประมาณการ SG&A to Sales ลงเหลือ 54.3% จากประมาณการเดิมที่ 55%

พร้อมกับเชื่อว่า ผลประกอบการของ M ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในงวดไตรมาส3/64 โดยจะทยอยฟื้นตัวตั้งแต่งวด ไตรมาส4/64 เป็นต้นไป โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล ที่เริ่มตั้งแต่การอนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้านบางส่วน การปรับลดพื้นที่สีแดงเข้มและการประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าพื้นฐานปี 65 เท่ากับ 65.00 บาท คงคำแนะนำ “ซื้อ” รับการฟื้นตัวของธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น