xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีแนะธุรกิจบริหารความเสี่ยง ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของภาวะโรคระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแอนดี้ เฉี่ย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า จากเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารยูโอบีมองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย นั่นคือ การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการต่อสู้กับเชื้อโคโรนาไวรัสที่ยืดเยื้อ หลายคนหวังว่าสิ่งต่างๆ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราเริ่มเห็นการเปิดระบบเศรษฐกิจและพรมแดน อันเป็นก้าวสำคัญเพื่อให้คนทั่วโลกใช้ชีวิตร่วมกันกับไวรัสได้ โดยยังคงคาดการณ์กันว่า จีนและสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด แม้ว่าสายพันธุ์เดลตาได้กดตัวเลขคาดการณ์ที่เคยมีแนวโน้มสดใสลงบ้าง จากการที่เป็นผู้นำอันดับ 1 ในการฉีดวัคซีนให้ประชากรครบ 2 เข็ม ขณะที่หลายประเทศในเอเชียมีการปรับลดการเติบโตของจีดีพีลง ยกเว้นสิงคโปร์ และไต้หวันโดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา

อย่างไรก็ตาม การเริ่มเปิดประเทศนี้อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่างๆ ที่ภาคธุรกิจต้องพิจารณา เช่น การฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่า และความเหลื่อมล้ำนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในเวลาอันใกล้ เนื่องจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้วต่างเริ่มรณรงค์ให้ประชากรทั่วประเทศรับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ยังอาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงแม้จะมีการกระจายวัคซีนแล้ว แต่ความพยายามในการควบคุมโรคระบาดยังคงห่างจากจุดสิ้นสุด เนื่องจากมีการพบโรคติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้นและรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น ไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดได้มาก่อน

นอกจากนี้ หนึ่งในความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับปีนี้คือ การจัดการความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ เมื่ออุปสงค์การบริโภคฟื้นตัว จึงคาดการณ์ว่าราคาของสินค้าและบริการจะเริ่มปรับขึ้นด้วย การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงราคาน้ำมันก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเร่ง โดยสหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการเปิดระบบเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อ ดังจะเห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 3% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มชาติร่ำรวย 7 ประเทศ ญี่ปุ่นยังคงอยู่ในวังวนของภาวะเงินฝืดพร้อมกับต้องพยายามควบคุมอัตราการติดเชื้อไวรัสระลอกที่สี่ อีกหนึ่งตัวอย่างคือจีนที่กำลังเผชิญกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ 0.6% จนถึงปัจจุบันในปี 2564 หรือในอัตราการเติบโตเพียง 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยูโอบีเองได้ปรับลดประมาณการ CPI ของจีนสำหรับปีนี้ลงจาก 1.1% เหลือ 0.8%

"หากถามว่าภาวะเงินเฟ้อนี้จะอยู่ชั่วคราวหรือถาวร ความกดดันจากราคาที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากการเปิดระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มคลายตัวลงในเดือนสิงหาคม แต่ภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงมีอยู่อาจส่งผลให้ความกดดันของภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ก่อนจะเริ่มคลายตัวลงในปีหน้า แม้เราจะคิดว่าภาวะเงินเฟ้อนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่ราคาอาจจะยังคงสูงต่อเนื่องในอีกหลายเดือนข้างหน้าระหว่างรอให้สถานการณ์ของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง ดังนั้น คนจำนวนมากขึ้นเริ่มคิดว่าภาวะเงินเฟ้ออาจจะอยู่ถาวรกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขเงินเฟ้อของหลายประเทศในเอเชียที่ยังเตรียมเปิดประเทศกลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า"

ขณะเดียวกัน จากปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ไม่อาจดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ตลอดไป และเริ่มประกาศแผนหรือปรับเพิ่มดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่พร้อมที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงครึ่งหลังของปีหน้า แต่ได้ระบุกรอบเวลาที่จะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลงภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระบวนการนี้น่าจะกินเวลานาน 8 เดือนและสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2565 ในทางกลับกัน ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจจำต้องยืดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายออกไปอีก เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคยังคงต่อสู้กับภาวะโรคระบาดและการกระจายวัคซีน

ทั้งนี้ จากการขับเคลื่อนนโยบายการเงินคนละทิศทางระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาค คล้ายกับที่เกิดขึ้นในปี 2556 ในครั้งนั้น การประกาศปรับลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ยังผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “taper tantrum” หรือความวุ่นวายในตลาดหุ้นจากการลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม จากบทวิเคราะห์ของยูโอบีเกี่ยวกับกลุ่มระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เราพบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าเมื่อปี 2556 และอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในอดีตในการทนต่อภาวะการดึงเงินทุนกลับที่อาจเกิดขึ้นได้ดีขึ้น

ขณะที่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป ในส่วนสหรัฐอเมริกา เช่น การลงคะแนนเสียงเพื่อผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึงงบประมาณของรัฐบาลกลางและระดับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งยูโอบีคาดว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะคลี่คลายลง เนื่องจากพรรคเดโมแครตครองอำนาจในรัฐสภาและทำเนียบขาว ความท้าทายทางการเมืองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหน้าหากพรรครีพับลิกันกลับมาครองอำนาจในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาในการเมืองตั้งกลางสมัยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในขณะที่มีประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตบริหารทำเนียบขาว รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนถือเป็นอีกหนึ่งความกังวลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่อาจส่งผลต่อภาคธุรกิจได้ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศยังคงย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียประกาศร่วมตั้งกลุ่มพันธมิตรไตรภาคี AUKUS เพื่อตอบโต้จีนจากความกังวลด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่วนประเทศจีนตลาดการเงินยังคงผันผวนในระยะใกล้ เนื่องจากผู้ลงทุนยังคงตื่นตระหนกจากความไม่แน่นอนจากปัญหาของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเสี่ยงภาวะล้มละลาย และการตรวจสอบกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวของนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ของประธานาธิบดีสี จิ้ง ผิง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และแม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ในขณะนี้ที่ชี้ว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลหรือไม่ แต่รัฐบาลจีนมีแรงจูงใจและทรัพยากรเพียงพอในการหลีกเลี่ยงวิกฤตสถาบันการเงินทั้งระบบได้ และอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสังคมและการเงินในประเทศได้ ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งสำคัญในเดือนพฤศจิกายน และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2565

ท้ายที่สุด นายแอนดี้ เฉี่ย กล่าวแนะนำว่า ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาค ธุรกิจควรระมัดระวังเรื่องการกู้ยืมและบริหารสภาพคล่องอย่างรอบคอบ ในกรณีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะมาถึงช้ากว่าที่คาด ธนาคารแนะนำให้ธุรกิจประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณาขยายตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการพึ่งพาเพียงตลาดเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น