xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบี ไทยกระตุ้นสินเชื่อบ้าน จัดโปรแกรมรีไฟแนนซ์รับเศรษฐกิจฟื้น-ผ่อนเกณฑ์ LTV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีลูกค้าสินเชื่อบ้านในระบบอีกจำนวนมากที่ผ่อนชำระค่างวดนานมากกว่า 3 ปื ซึ่งในปัจจุบันดอกเบี้ยปีที่ 4 เป็นต้นไปโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.5%-5.5% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย 3 ปีแรกโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.4%-2.8% ธนาคารจึงอยากกระตุ้นลูกค้าสินเชื่อบ้านให้ลุกขึ้นมาบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระทางการเงินในยุคโควิด-19 ที่เศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ด้วยการรีไฟแนนซ์ โดยมองหาสินเชื่อโปรแกรมใหม่ที่เสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โดยเริ่มจากพูดคุยกับธนาคารเดิมก่อน แล้วศึกษาทางเลือกเพิ่มเติมจากธนาคารอื่นๆ เพื่อหาโปรแกรมใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยถูกกว่า ซึ่งจะสามารถช่วยลูกค้าให้ลดภาระดอกเบี้ยรายเดือนลงได้ทันทีกว่า 50% และยังสามารถปลดล็อกหนี้ เป็นเจ้าของบ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 5-10 ปี (ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยและวงเงิน)

ลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลก็เช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้าที่กำลังผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตจำนวนหลายใบ สามารถรีไฟแนนซ์รวมหนี้เป็นก้อนเดียวแล้ว แทนที่หนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ย 16% ด้วยสินเชื่อบุคคลแบบมีระยะเวลาผ่อนชำระที่ธนาคารนำเสนอดอกเบี้ยอยู่ที่ 11.84% หรือเรียกได้ว่าช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยถูกลงกว่า 30%

“อยากชวนลูกค้าตั้งคำถาม ‘ผ่อนบ้านนานเกิน 3 ปีแล้วมีโอกาสรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ยถูกลงกว่า 50%’ หรือ ‘จะผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำดอกเบี้ยแพงไปทำไม กู้สินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยถูกกว่ามาโปะประหยัดดอกเบี้ยลงกว่า 1 ใน 3’ รีไฟแนนซ์จะช่วยคุณมีภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่เบาลง คุณจะมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น อยากชวนทุกคนมาจัดระเบียบชีวิตทางการเงิน โดยสร้างวินัยการเงิน สร้างเครดิตที่ดี ภาระดอกเบี้ยน้อยลง กำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากโควิคเร็วขึ้น” นายเอกสิทธิ์ กล่าว

สำหรับโปรแกรมสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.39% ฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ฟรีค่าอากรแสตมป์ ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 3 ปีแรก ลูกค้าสนใจสามารถสมัครออนไลน์ได้ ดอกเบี้ยจูงใจที่สุดในตลาดตอนนี้ ช่วยลูกค้าปลดหนี้ และเป็นเจ้าของบ้านเร็วขึ้น

ขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษสำหรับคนมีเครดิต สินเชื่อบุคคลเพอร์ซัลนัลแคช อัตราดอกเบี้ย 11.84% ต่อปี ผ่อนนาน 24 เดือน สำหรับพนักงานประจำรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป รีไฟแนนซ์ด้วยสินเชื่อบุคคลช่วยจัดการหนี้ง่ายขึ้น ลดภาระดอกเบี้ย และได้ประโยชน์จากการจ่ายดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

ยกตัวอย่าง ลูกค้ามีหนี้คงค้างในบัตรเครดิต 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 16% ผ่อนขั้นต่ำ 10% เป็นระยะเวลา 24 เดือนและโปะเงินต้นในงวดสุดท้าย ลูกค้าจะต้องชำระค่างวดประมาณงวดละ 6,800 บาทโดยเฉลี่ยใน 12 เดือนแรก หากรีไฟแนนซ์หนี้บัตรมาใช้โปรแกรมสินเชื่อบุคคล เพอร์ซัลนัลแคช อัตราดอกเบี้ย 11.84% นาน 24 เดือน ค่างวดจะลดลงเหลือ 4,700 บาทต่อเดือน ค่างวดจะถูกลงกว่า 30% และยังประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้อีกกว่า 30% ด้วย

สุดท้ายในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 ขอแนะนำสินเชื่อบุคคลเอ็กซ์ตร้าแคช อัตราดอกเบี้ย 11.88% ต่อปี นาน 24 เดือนแรก สำหรับพนักงานประจำรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เป็นวงสินเชื่อเงินสดพร้อมใช้ เหมาะสำหรับเป็นวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือสำรองไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น หากสมัครแล้วยังไม่ใช้วงเงิน ลูกค้าไม่เสียดอกเบี้ย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด 3%

นายเอกสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปกติในช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซันของสินเชื่อบ้านอยู่แล้ว ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นอีกตัวช่วยที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นสินเชื่อบ้านในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น โดยพอร์ตสินเชื่อบ้านของซีไอเอ็มบีไทยปัจจุบันอยู่ที่ 88,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท และปีหน้าตั้งเป้าหมายที่ 95,000 ล้านบาท เติบโต 5-6% มีสินเชื่อใหม่เติบโตประมาณ 20% ขณะที่สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ปีนี้ตั้งเป้าหมายที่ 14,000 ล้านบาท จาก 10 เดือนแรกของปีที่ 10,000 ล้านบาท

ส่วนทางด้านการแข่งขันนั้น มองว่าปกติแล้วทั้งตลาดสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรีไฟแนนซ์มีการแข่งขันที่สูงกันอยู่แล้ว แต่จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การแข่งขันก็น่าจะไปอยู่ในส่วนอื่นๆ เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ มากกว่า

"ปัจจุบันเรามองความเสี่ยงของสินเชื่อบ้านกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีอัตราการอนุมัติประมาณ 80% จากช่วงที่โควิด-19 ระบาดที่ลดลงไปบ้างที่ 65-70% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันที่ 3.6% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 5% และในปีหน้าเรามองไว้ที่ไม่เกิน 4% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการผ่อนปรนมาตรการของ ธปท. และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายของธนาคารส่วนใหญ่เน้นที่รายได้ปานกลาง-สูง 30,000 บาทขึ้นไปต่อเดือนที่มีสัดส่วนอยู่ในพอร์ตประมาณ 75% ทำให้ความเสี่ยงไม่สูงนัก แต่กลุ่มรายได้ต่ำอาจจะยังมีความเสี่ยงสูงอยู่เนื่องจากมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่สูง"
กำลังโหลดความคิดเห็น