xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.สำรวจคนไทยมีทักษะการเงินการออมเพิ่มขึ้น ห่วงมีการออมสำรองเกิน 3 เดือนแค่ร้อยละ 38 ต้องเร่งส่งเสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.สรุปสำรวจทักษะทางการเงินของไทย (Financial Literacy) ปี 2563 และการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของคนไทย มีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 71.0 และพฤติกรรมการออม สัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.7 แต่ยังน่าห่วงที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือน ร้อยละ 38 หากต้องหยุดงานกะทันหัน จำเป็นต้องส่งเสริมการออมให้บรรลุเป้าหมาย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางการเงินที่ดีอันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถดูแลตนเองได้แม้ต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง ในปี 2563 ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี

ภาพรวมผลการสำรวจปี 2563


ระดับทักษะทางการเงินและองค์ประกอบ

ผลการสำรวจทักษะทางการเงินปี 2563 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 71.0 สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 (ร้อยละ 66.2) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 (ร้อยละ 60.5) เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่า คนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน โดยความรู้ทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 62.9 (ร้อยละ 55.7 ในปี 2561) ปรับตัวดีขึ้นในทุกหัวข้อ แต่ยังมีหัวข้อที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าของเงินตามกาลเวลา

ด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 71.1 (ร้อยละ 67.8 ในปี 2561) โดยหัวข้อการจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี หัวข้อการบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้มีคะแนนลดลง

ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 82.0 (ร้อยละ 78.0 ในปี 2561) มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติในเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด ซึ่งความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตมากขึ้น

เมื่อพิจารณาระดับทักษะทางการเงินตามมิติช่วงวัย พบว่า ทุกวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดย Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่นเนื่องจากมีคะแนนด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินสูง แต่มีคะแนนทัศนคติทางการเงินค่อนข้างน้อย รองลงมาคือ Gen X โดยทัศนคติทางการเงินเป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น Gen Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัย แต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561 โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน และ Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินน้อยที่สุดโดยมีคะแนนด้านความรู้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น

สำหรับการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการออม พบว่า สัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.7 ในปี 2563 (จากร้อยละ 72.0 ในปี 2561) และคนส่วนใหญ่มีความตระหนักเรื่องการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเก็บเงินสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีเพียงร้อยละ 38 ที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการออมให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ แรงจูงใจสำคัญในการออมมาจากการมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียงร้อยละ 19.7 ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้จ่ายจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายการออมไม่สำเร็จ


การดำเนินการด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของ ธปท.

1.ส่งเสริมความรู้ในวงกว้างผ่านช่องทาง online platform Facebook ของ ศคง. 1213 และเครือข่ายพันธมิตร เช่น อสม. รวมถึงสื่อท้องถิ่น ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย สอดคล้องกับเหตุการณ์ในชีวิต ในหัวข้อเน้นประเด็นที่เป็นปัญหาการเงินเร่งด่วน เช่น การบริหารจัดการเรื่องหนี้ และประเด็นที่ควรพัฒนา/จุดอ่อน เช่น Digital Literacy ภัยการเงิน

2.ส่งเสริมให้มีการออมและวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ 2 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการ Fin. ดี We Can Do!!! สำหรับกลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) จัดประกวดบนแนวคิด “ผลงานของคนอาชีวะเพื่อคนอาชีวะ” เป็นปีที่ 3 โดยมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อกระตุกความคิดเรื่องการเงิน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ และ (2) โครงการ Fin. ดี Happy Life!!! สำหรับกลุ่มวัยทำงาน แก่ตัวแทนประจำหน่วยงาน (Fin. Trainer) เพื่อนำไปขยายผลให้แก่พนักงานในหน่วยงาน ในรูปแบบการให้ความรู้ จัดกิจกรรม และเป็นพี่เลี้ยงตลอดโครงการ

3.สนับสนุนให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Financial resilience) เช่น พัฒนาคู่มือ “รู้รอบเรื่องเงิน พร้อมเผชิญทุกวิกฤต” เผยแพร่บนเว็บไซต์ ศคง. 1213 และส่งผ่านความรู้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดผ่านองค์กรพันธมิตรของสมาคมภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ในรูปแบบของอินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ หลักสูตรอบรมออนไลน์ บทความ

ธปท. ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในอันที่จะปลูกฝังและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ประชาชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น