บริษัท แรบบิท แคช จำกัด ร่วมกับ 2 พันธมิตรอิออน-ฮิวแมนิก้า เปิดตัวบริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล 100% ภายใต้แนวคิด "Money Rabbolution สร้างเครดิตด้วยชีวิตออนไลน์" ชูจุดเด่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีเอกสารรายได้ อนุมัติไวใน 10 นาที พร้อมนำร่องจับมือเคอรี่ เอ็กซ์เพรส นำเสนอสินเชื่อให้พนักงาน ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีหน้า ตั้งเป้าหมายสินเชื่อปีแรก 2-3 พันล้านบาท และ 5 พันล้านบาทในปีถัดไป
น.ส.รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เปิดเผยว่า แรบบิท แคช เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) โดยบริการสินเชื่อของ “แรบบิท แคช” นั้นได้ถูกออกแบบให้ขั้นตอนการสมัครจนกระทั่งได้รับอนุมัติสินเชื่อนั้นผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อเป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ต้องการความง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยแรบบิท แคชจะใช้ Alternative Data หรือข้อมูลทางเลือกที่แสดงถึง Digital Footprint และ Behavioral Footprint ต่างๆ ของผู้บริโภคมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณารูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเมื่อได้รับอนุมัติสามารถเบิกใช้วงเงินได้ตามแต่บัญชีธนาคารที่ลูกค้าเป็นผู้เลือก และจุดเด่นของอีกประการของสินเชื่อจากแรบบิท แคช คือลูกค้าสามารถเบิกใช้และจ่ายคืนสินเชื่อได้ตามวันเวลาที่สะดวก และจะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้สินเชื่อเท่านั้น
"โครงสร้างของบริษัท แรบบิทแคช มีแรทบิท กรุ๊ปถือหุ้น จำนวน 77% บริษัทอิออนถือหุ้น 18% และฮิวแมนิก้าถือหุ้น 5% มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท และมีแผนที่จะเพิ่มอีก 800 ล้านบาท โดยแรบบิท แคชถือเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส ซึ่งมีธุรกิจในกลุ่มมากมาย ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายที่จะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อภายใต้การได้รับความยินยอมจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การขนส่ง การประกัน การซื้อสินค้าหรือบริการ หรือการแลกคะแนนแรบบิท รีวอร์ด เป็นต้น ขณะที่อิออนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อบุคลลและสามารถสนับสนุนเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำให้บริษัทได้ และและฮิวแมนิก้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการด้านแพลตฟอร์มการบริหารงานบุคคล มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์พฤติกรรมและข้อมูลต่างๆ ทำให้เราสามารถนำทรัพยากรเหล่านี้นำมาผสานในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี"
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถสมัครใช้บริการสินเชื่อของแรบบิท แคชได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในเบื้องต้นจะนำเสนอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือสินเชื่อนาโน ควบคู่ไปกับสินเชื่อสวัสดิการ สินเชื่อ Pay Day Loan สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now, Pay Later และจะมีสินเชื่อประเภทอื่นๆ ออกมาให้บริการในไตรมาสถัดไป โดยในปีแรกตั้งเป้าหมายสินเชื่อที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาทในปีถัดไป โดยวงเงินและอัตราดอกเบี้ยในการให้สินเชื่อเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด แต่จะมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาเพิ่ม-ลดวงงเงินและอัตราดอกเบี้ยในการนำเสนอให้ลูกค้าแต่ละรายได้ตามความเหมาะสม
โดยในระยะแรก แรบบิท แคช ได้พัฒนาโมเดลการให้สินเชื่อดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการทดลองนำเสนอสินเชื่อเพื่อลูกค้าคนพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสุดพิเศษให้กลุ่มลูกค้าของเคอรี่ เพื่อเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะคัดเลือกจากกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โลยัลตี้ คลับ ที่มีประวัติในการจัดส่งสินค้าพัสดุกับทางเคอรี่เป็นประจำ โดยทางบริษัทจะทำการประเมินผลจากข้อมูลที่ได้รับการยินยอมจากลูกค้ากลุ่มแรกนี้เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขการให้สินเชื่อก่อนจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าของเคอรี่ทุกคนสามารถใช้บริการได้ในอนาคต รวมทั้งยังมีการวางกลยุทธ์ร่วมกันในการนำเสนอสินเชื่อและบริการอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ ของแรบบิท แคช ให้ลูกค้าของเคอรี่ โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเลือกที่ลูกค้าของเคอรี่อนุญาตให้นำข้อมูลมาใช้ได้ เพื่อทำให้ลูกค้าของเคอรี่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วผ่านทางโมบาย แอปพลิเคชัน ทั้งของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส และแรบบิท แคชด้วย
ทางด้านความร่วมมือกับฮิวแมนิก้านั้น แรบบิท แคช วางแผนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของสินเชื่อสวัสดิการพนักงานโดยความสมัครใจ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วๆ ไป ให้พนักงานของบริษัทที่ใช้บริการ HR Solutions ของกลุ่มฮิวแมนิก้า เฉพาะในกรณีที่บริษัทเหล่านั้นต้องการพิจารณาให้สินเชื่อสวัสดิการนี้เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่บริษัทมอบให้พนักงานของตนนอกเหนือจากสวัสดิการอื่นๆ ของนายจ้างเท่านั้น โดยข้อมูลของพนักงานแต่ละคนที่จะนำมาใช้ได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการยินยอมจากพนักงานคนนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยตอนนี้ได้เริ่มทดลองการให้สินเชื่อพนักงานของฮิวแมนิก้าและพนักงานในเครือของบีทีเอส กรุ๊ปก่อน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งมีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน ลูกค้าจำนวนมากเป็นผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ที่อาจมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว ดังนั้น แรบบิท แคชจึงเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มาตอบโจทย์ให้ลูกค้าของเรา โดยการขอสินเชื่อนั้นสามารถทำได้ด้วยการพิจารณาจากข้อมูลการใช้บริการกับเคอรี่ภายใต้ความยินยอมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของการส่งพัสดุ มูลค่าการส่งพัสดุ ค่าบริการ รูปแบบการเรียกเก็บเงินจากผู้รับสินค้า ระยะเวลาการใช้บริการกับเคอรี่ หรือประเภทของสมาชิกเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โลยัลตี้ คลับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แรบบิท แคช ทำความเข้าใจกับลูกค้าได้มากขึ้น และนำไปใช้ในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม ยิ่งลูกค้าที่มีประวัติการใช้บริการกับเคอรี่เป็นประจำ จะทำให้มีข้อมูลที่มากขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสในการได้รับพิจารณาสินเชื่อด้วยวงเงินสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ เคอรี่ยังมีแผนการตลาดที่วางร่วมกับทางแรบบิท แคช ที่จะนำเสนอให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มของเราในอนาคตอันใกล้นี้
"แรบบิท แคช มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนสังคมไทย พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างธุรกิจออนไลน์ ผู้ประกอบการรายย่อย และคนไทยทุกคนให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยตั้งเป้าในการให้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลแก่บุคคลทั่วไปภายในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทในปีแรก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือ และสร้างโอกาสให้ธุรกิจรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าที่ขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมถึงผู้ที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ในการสมัครขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั่วไป"