xs
xsm
sm
md
lg

ถมเงินเพิ่มทุน AAV ดีไหม / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทรุดลงอย่างหนัก หลังเกิดวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เว้นแม้แต่หุ้น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินราคาประหยัด ที่กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

AAV เป็นหุ้นสายการบิน 1 ใน 3 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยหุ้นยังซื้อขายตามปกติ ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และหุ้น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK หุ้นถูกพักการซื้อขาย เนื่องจากบริษัทมีปัญหาฐานะการเงิน และอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ

แม้ AAV ยังประคองตัวอยู่ได้ แต่ต้องปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยประกาศระดมทุนครั้งใหญ่เพื่อแก้ปัญหาฐานะทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายปี

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ AAV ได้ประชุม โดยมีมติเพิ่มทุน จำนวน 8,000 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 10 สตางค์ โดยหุ้นใหม่จำนวน 5,028.57 ล้านหุ้น จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด รวมทั้งหมด 7 ราย ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท

และหุ้นใหม่จำนวน 1,714.28 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5.7625 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท

สำหรับผู้บุคคลในวงจำกัด 7 รายที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน AAV ประกอบด้วย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) AAV จำนวน 4,457.14 ล้านหุ้น นายพิธาน องค์โฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE จำนวน 362.04 ล้านหุ้น

นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB จำนวน 150.94 ล้านหุ้น นายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีซูซุ สงวนไทย จำนวน 14.60 ล้านหุ้น

นายปิยะพร วิชิตพันธุ์ ผู้บริหารบริษัทในเครือเซ็นทรัล จำนวน 14.60 ล้านหุ้น นายสุวพล สุวรุจิพร กรรมการและผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพ ชินธิติกส์ จำกัด จำนวน 14.60 ล้านหุ้น และนายวรพจน์ อำนวยผล ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สกายไอซีที จำกัด (มหาชน) จำนวน 14.60 ล้านหุ้น

บุคคลในวงจำกัดทั้ง 7 รายคงตัดสินใจแล้ว พร้อมจะสู้ราคาหุ้น AAV ในราคา 1.75 บาท แต่ผู้ถือหุ้นเดิม โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่

เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้มีจำนวน 14,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้ นำไปซื้อหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย และใช้เป็นทุนหมุนเวียน

ถ้าเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานล่าสุดที่ปิด 2.90 บาท ถือว่าจูงใจให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ถ้าพิจารณาถึงธุรกิจสายการบิน และผลประกอบการ AAV ที่ย่ำแย่หลายปีติดต่อ การใส่เงินเพิ่มทุนยังมีความเสี่ยง

เพราะถ้าผลประกอบการทรุด ขาดทุนต่อเนื่อง ราคาหุ้น AAV มีโอกาสที่จะปรับตัวลง และเคยลงไปต่ำสุดที่ 1.40 บาท

หุ้น NOK ต้องเพิ่มทุนหลายรอบเพื่อระดมเงินเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มทุนจนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ตาม เพราะถมเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็ถมไม่เต็ม เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง จนที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

การเพิ่มทุนของ AAV ครั้งนี้ แม้จะมีนักลงทุนรายใหญ่พร้อมใส่เงินเข้าไป แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยคงต้องชั่งใจกันว่า จะเติมเงินเข้าไปในหุ้นสายการบินตัวนี้หรือไม่

หรือจะตัดใจขายหุ้นออก เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากธุรกิจสายการบินที่ยังอยู่ในช่วงขาลง และไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวในระยะสั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น