xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ระบุเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จับตาการใช้จ่ายผ่านมาตรการรัฐต่ำเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการกระตุ้นของรัฐในไตรมาส 4 ติดตามการใช้จ่ายผ่านมาตรการรัฐที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้า ใช้จ่าย 2.3% ของเป้าหมาย ติดตามความเสี่ยงการคุมการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าวัคซีนที่มากพอจะไม่ต้องกลับคุมเข้มอีกครั้ง พร้อมดูแลค่าบาทใกล้ชิด ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์ ครั้งที่ 3/2564 ว่า จากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท.เศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้และจะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า โดยเป็นการขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อและเริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น และมีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ ดังนั้น แม้ในต่างประเทศจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น แต่การใช้นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายในไทยยังคงจำเป็นต่อเนื่อง ยังไม่เห็นปัจจัยที่จะต้องเร่งให้เกิดการปรับขึ้นดอกเบี้ยเหมือนในต่างประเทศ

ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารและการสื่อสารองค์กร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 64 ของไทยล่าสุดของ ธปท.ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัว 0.7% และขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.9% ในปี 65 โดยปัจจัยที่ยังไม่ทำให้ขยับขึ้นประมาณการ แม้ว่าหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นกว่าที่ธปท.คาด เนื่องจากมองว่าในช่วงต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงในหลายเรื่องที่ต้องติดตาม 

ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส  มาตรการควบคุมการระบาด และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป ซึ่งข้อดีที่เห็นในขณะนี้คือ สถานการณ์วัคซีนที่ดีขึ้นในประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่น่าที่จะต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นแล้ว แม้ว่าในระยะต่อไป ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันบ้างหลังการผ่อนคลาย แต่เชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงอยู่ในระดับที่รองรับได้ นอกจากนั้น ยังต้องจับตาความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดว่ากลับมาได้เร็วหรือช้า ขณะที่การท่องเที่ยวทยอยดีขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่สามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ได้ปกติภายในปี 2565 ขณะที่ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยคาดวาสิ้นปี 64 จะมีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานรวมกันอยู่ที่ 3.4 ล้านคน 

ธปท.ติดตามความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เพราะแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และกระตุ้นการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย โดยต้องติดตามประสิทธิภาพของอัตราการใช้จ่ายของแต่ละมาตรการภาครัฐ หรือการใช้จ่ายสะสมของโครงการ เทียบกับเป้ามูลค่าการใช้จ่ายของโครงการให้ปรับตัวดีขึ้น จากที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่า โครงการที่มีอัตราการใช้จ่ายต่อเป้าหมายต่ำที่สุด คิดตั้งแต่เปิดโครงการจนถึงวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาได้แก่ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้  2.3% ตามมาด้วยโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ  18.2% ขณะที่มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 มีอัตราการใช้จ่าย 35.4% วงเงินพิเศษบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 3 อยู่ที่ 47.9% และมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในระยะเร่งด่วนอยู่ที่ 54.8% และประเด็นสุดท้ายที่ ธปท.จับตาคือ การขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตที่อาจจะกระทบการขยายตัวของการส่งออก

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส สายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ธปท.ได้เข้าไปติดตามดูแลค่าเงินบาท ซึ่งอ่อนค่าเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดความผันผวนและช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ซึ่ง ธปท.พบว่า ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวและมีการทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมากขึ้น ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนได้ โดยในระยะต่อไปค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางผันผวนต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยในประเทศที่เราฟื้นช้ากว่าคนอื่น รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มแตกต่างกันมากอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น