นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ส์ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทเตรียมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 9 โครงการ กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10.9 เมกะวัตต์ จากที่ช่วงครึ่งปีแรกมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวม 596 เมกะวัตต์
ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และโรงงานอุตสากรรมต่างๆ ได้มีการใช้มาตรการ Bubble and Seal ที่ช่วยให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น สำหรับภาพรวมไตรมาส 4/64 บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจสาธารณูปโภคภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป รวมทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยในส่วนของธุรกิจในประเทศนั้นมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการ ขณะที่บริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างอีกหลายโครงการ เช่น โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กำลังการผลิต 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายแก่ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือก กำลังการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ส่วนธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนามมีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant : SDWTP) ซึ่ง WHAUP ถือหุ้น 34% มียอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นทั้งในบริเวณจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) ขณะที่ บริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาที่ WHAUP ถือหุ้น 47% ปัจจุบันได้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของประชากรที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำประปาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม เช่น โครงการ Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) เพิ่มเป็น 13% ในปี 68 จากปัจจุบันอยู่ที่ 4% โดยยังมีความต้องการน้ำมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจด้านพลังงาน บริษัทยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 670 เมกะวัตต์ มีการเติบโตหลักมาจากการโครงการ Solar Rooftop ที่ปัจจุบันบริษัทมี PPA รวมทั้งสิ้น 63 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 64 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปได้ครบ 300 เมกะวัตต์ในปี 66 ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาโครงการในประเทศเวียดนามทั้งโครงการน้ำ และโครงการโรงไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาโดยคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในปี 65
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยืนยันเป้าหมายรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติทั้งปีเติบโต 25% จากปี 63 พร้อมทั้งรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA Margin) ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%