บล.เอเซียพลัส ประเมิน SET Index ปีหน้าอยู่ที่ 1,816 จุด ส่วน EPS 80 บาท/หุ้น ส่วนกำไร บจ.คาดแตะ 9.21 แสนล้านบาท รับคลายล็อกดาวน์ ขณะที่ปีนี้คงเป้า 1,670 จุด พร้อมแนะนำสะสมหุ้นใน 2 ธีมหลัก คือ Restart Economy และ Restructure SET50/100 ด้าน FETCO เชื่อดัชนีหุ้นไทยปี 65 ไปได้ 1,800 จุด จากที่เศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา วางเป้าจีดีพีปีหน้าโต 3.67% หากภาครัฐจัดการปัญหาโควิด-19 และวัคซีนได้ดี ด้านดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน ก.ย. ยังร้อนแรง แม้ลดลง 1.1%
ASPS คาด SET Index ปี65 ที่ 1,816 จุด EPS 80 บาท/หุ้น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 65 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยให้เป้าหมายที่ 1,816 จุด ขณะที่กำไรต่อหุ้น หรือ EPS อยู่ที่ระดับ 80 บาท/หุ้น ส่วนเบื้องต้นคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนรวมที่ 9.21 แสนล้านบาท
"มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 นี้ หลังจากภาครัฐบาลเริ่มทยอยปลดล็อกดาวน์ ซึ่งคาดว่าจะเห็นเต็มรูปแบบมากขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.นี้" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่นักลงทุนยังต้องติดตามซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ได้แก่ ประเด็นการปรับลดวงเงินเชิงปริมาณ QE (QE Tapering) จากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับขึ้นเร็ว รวมถึงประเด็นความกังวลกรณีบริษัท Evergrande ในประเทศจีน แม้มองว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบชะลอตัวจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจทำไทยมีกำลังซื้อจากจีนลดลง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ซึ่งหากไม่สามารถปรับเพดานได้ทันอาจกระทบภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก และสินทรัพย์ต่างๆ ปรับฐานช่วงสั้น โดยข้อมูลในอดีตพบว่าหากไม่สามารถขยายเพดานทันส่วนใหญ่ประเด็นดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนหลังจากนั้นภาพรวมสินทรัพย์จะกลับมารีบาวนด์ได้
คาดปีนี้ SET Index 1,670 จุด กำไร บจ. ที่ 8.45 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในไตรมาส 4/64 มาจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งยังต้องเฝ้าระวังใน 29 จังหวัด ซึ่งคิดเป็นจีดีพี 27% ของทั่งประเทศ แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนปี 54 เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เยอะเท่า ประกอบกับให้ติดตามปัจจัยกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3/64 จะได้รับผลกระทบหนักสุดซึ่งตลาดรับข่าวไปก่อนแล้ว และคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/64 รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นและคลายล็อกดาวน์ คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ 845,331 ล้านบาท โดยคงเป้าหมายดัชนีในปีนี้ที่ 1,670 จุด
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดเศรษฐกิจไทย Q3/64 จะหดตัว 5.3% จากปีก่อน แต่จะเห็นการฟื้นตัวของดีขึ้นในช่วง Q4/64 จากการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจัดหาวัคซีนมากขึ้นทำให้ผู้ติดเชื้อทยอยลดลงตามลำดับในช่วงปลายปีเป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าช่วยหนุนเศรษฐกิจเติบโตชัดเจนปี 65 เป็นต้นไป
"ฝ่ายวิจัยประเมินจีดีพีปี 65 เติบโตถึง 3.2% จากปีนี้ที่หดตัว 0.4% เช่นเดียวกับกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 65 ที่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.21 แสนล้านบาท เติบโตถึง 8.8% จากปีนี้" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับมาในช่วงไตรมาส 4/64 ได้หรือไม่มองว่าขึ้นกับสถานการณ์การเปิดประเทศไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกช่วยหนุน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเรื่องเฟดส่งสัญญาลด QE เป็นปัจจัยกดดันหักล้างกันอยู่
แนะนำสะสมหุ้นธีมหลัก Restart Economy และ Restructure SET50/100
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 4/64 แนะนำสะสมหุ้นใน 2 ธีมหลัก คือ Restart Economy และ Restructure SET50/100 เพื่อรองรับการเติบโตต่อเนื่องในปี 65 พร้อมกับกระจายการลงทุนหลากหลาย Sector และเลือกมาเฉพาะหุ้นที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม อย่างเช่น ADVANC เป้า 226 บาท AEONTS เป้า 280 บาท CPALL เป้า 70.5 บาท CPN เป้า 61 บาท KBANK เป้าปี 65 ที่ 154 บาท และ TOP เป้า 55 บาท
ปธ. FETCO เชื่อปีหน้า SET ไปได้ 1800 จุด-จีดีพีโต 3.67%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/64 ยังอยู่ในขาขึ้นและยาวไปจนถึงปี 65 เนื่องจากรับอานิสงส์จากมาตรการเปิดประเทศ และการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 1,650 จุดในช่วงปลายปี แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยบวกทั้ง 2 เรื่องว่า จะผลักดันเศรษฐกิจดีแค่ไหน
"ดัชนีหุ้นไทยปี 65 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดจะอยู่ที่ระดับ 1,750 จุด แต่ส่วนตัวประเมินไว้ที่ระดับ 1,800 จุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา พร้อมวางเป้าจีดีพีปี 65 โตระดับ 3.67% จากปีนี้ที่คาดทำได้ราว 0.68% คาดว่าปีหน้ามีโอกาสปรับจีดีพีขึ้นมากกว่าลง หากภาครัฐจัดการปัญหาโควิด-19 และวัคซีนได้ดี" นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับกระแสฟันด์โฟลว์ต่างชาติในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะไหลกลับเข้ามามากกว่าในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นเดือน ต.ค.นี้ซื้อสะสมต่อเนื่อง ซึ่งรวมกันแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านบาท จากช่วงแรกที่ไหลออกไปกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ จึงทำให้ปัญหาด้านเงินเฟ้อคงจะยังไม่มี และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายนักลงทุนทั่วโลกที่กำลังมองหาหุ้นกลุ่มดังกล่าวอยู่
ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ก.ย. 3 เดือนจากนี้ยังร้อนแรงแม้ลดลง 1.1%
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) จากผลสำรวจในเดือน ก.ย.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง 1.1% อยู่ที่ระดับ 142.71 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยนักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมา คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และเงินทุนไหลเข้า
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกปัจจุบัน รองลงมา คือ ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับ “ร้อนแรงอย่างมาก” ในขณะที่นักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” และนักลงทุนต่างชาติปรับลงมาสู่ในระดับ “ร้อนแรง” เช่นกัน ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)