IMF เตือนการปรากฏตัวของสกุลเงินดิจิตอลในตลาดเกิดใหม่อาจปลุกกระแส "Cryptoization" หรือการเปลี่ยนไปใช้คริปโตแทนสกุลเงินท้องถิ่น บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเงินและความสามารถในการควบคุมเงินทุนของธนาคารกลาง แนะประเทศต่างๆ กระชับความร่วมมือ รวมถึงปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มแข็งขึ้น และพิจารณาประโยชน์ที่เป็นไปได้จาก CBDC เพื่อรับมือกระแสคริปโตฟีเวอร์
ปีที่ผ่านมา ราคาและความนิยมที่มีต่อบิตคอยน์และคริปโตสกุลต่างๆ พุ่งขึ้นอย่างชัดเจน Chainalysis บริษัทวิจัยด้านบล็อกเชนของอเมริกา ยกตัวอย่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ที่อ้าแขนรับคริปโตอย่างรวดเร็ว
ในทางทฤษฎีนั้น คริปโตนำเสนอวิธีโอนเงินข้ามพรมแดนที่รวดเร็วและมีต้นทุนถูกกว่า โดยฝ่ายสนับสนุนเชียร์ว่า โทเคนดิจิตอลอย่างสเตเบิลคอยน์อาจช่วยปกป้องเงินออมจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นหรือความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
เดือนกันยายน เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายสนับสนุนอ้างอิงโครงการทดลองที่พบว่า บิตคอยน์ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินกลับประเทศในอเมริกากลางแห่งนี้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์
กระนั้น วันศุกร์ที่ผ่านมา (1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โพสต์รายงานบนบล็อกซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแผนกการเงินและตลาดทุน เตือนว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่หละหลวมและระบบการชำระเงินไร้ประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้ตลาดเกิดใหม่อ้าแขนรับคริปโต นอกเหนือจากต้นทุนการทำธุรกรรมต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนสูงแถมรวดเร็วทันใจถูกจริตนักลงทุนทั่วโลก
ในรายงานที่มีชื่อว่า “การบูมของคริปโตสร้างความท้าทายใหม่ๆ ต่อเสถียรภาพทางการเงิน” ผู้เชี่ยวชาญของ IMF ยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาสกุลเงินดิจิตอลเข้าสู่แนวโน้มขาลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ ทว่า จากข้อมูลจนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า มูลค่าตลาดรวมของคริปโตทุกสกุลพุ่งทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่านับจากต้นปี 2020
อย่างไรก็ดี รายงานตั้งข้อสังเกตว่า เอนทิตี้มากมายในระบบนิเวศคริปโต เช่น แพลตฟอร์มซื้อขาย ผู้ให้บริการวอลเล็ต บริษัทขุดเหมืองคริปโต และผู้ออกสเตเบิลคอยน์ ขาดการดำเนินการที่เข้มแข็ง บรรษัทภิบาล อีกทั้งมีแนวทางปฏิบัติสุ่มเสี่ยง
IMF ยังท้วงว่า การตรวจวัดระดับการยอมรับคริปโตในตลาดเกิดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย และสำทับว่า การที่ธนาคารกลางบางประเทศมีความน่าเชื่อถือต่ำ ขณะที่ระบบการธนาคารในท้องถิ่นอ่อนแอที่เคยผลักดันไปสู่กระแส "Dollarization" อาจกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ "Cryptoization" หรือการใช้คริปโตแพร่หลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ Dollarization หมายถึงการที่สกุลเงินต่างชาติ ซึ่งปกติแล้วมักหมายถึงดอลลาร์ ถูกนำไปใช้นอกเหนือจากหรือแทนที่สกุลเงินท้องถิ่น อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อสูงลิบหรือสกุลเงินท้องถิ่นไร้เสถียรภาพ
การยอมรับสเตเบิลคอยน์หรือโทเคนดิจิตอลที่ออกแบบมาให้มีมูลค่าคงที่ด้วยการผูกติดกับค่าเงินเฟียตอย่างกว้างขวาง อาจเป็นความท้าทายสำคัญด้วยการส่งเสริมอำนาจของ Dollarization ที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
IMF แจงว่า Dollarization อาจขัดขวางธนาคารกลางในการใช้นโยบายทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินจากความไม่สมดุลของสกุลเงินที่ส่งผลต่องบดุลของธนาคาร บริษัท และครัวเรือน
Cryptoization ยังอาจเป็นภัยคุกคามต่อนโยบายการคลัง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิตอลอาจอำนวยความสะดวกในการเลี่ยงภาษี ฉุดรายได้จากการเพิ่มปริมาณเงิน และส่งเสริมให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น
ด้วยเหตุนี้ IMF จึงแนะนำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องสามารถติดตามพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศและความเสี่ยงจากคริปโตอย่างรวดเร็วด้วยการแก้ปัญหาข้อมูลสถิติสำคัญที่ขาดหายไป นอกจากนั้น ผู้วางนโยบายยังควรยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล รวมทั้งรับประกันการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ผู้วางนโยบายยังควรให้ความสำคัญกับการทำให้การชำระเงินข้ามพรมแดนเร็วขึ้น ถูกขึ้น โปร่งใสและเข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนมากขึ้นผ่านโรดแมปการชำระเงินข้ามพรมแดนของจี20
สุดท้าย IMF เรียกร้องให้ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มแข็งขึ้น และพิจารณาประโยชน์ที่เป็นไปได้จากการออกสกุลเงินดิจิตอลโดยธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อรับมือกระแสคริปโตฟีเวอร์