xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเปราะบางมีขีดจำกัด แนะ 7 ภูมิคุ้มกันวิกฤตรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ธปท.แนะ 7 ภูมิคุ้มกันจากวิกฤตกระทบหลายด้าน เร่งปรับตัวรับเทคโนโลยีที่เติบโตก้าวกระโดด สังคมผู้สูงอายุ ปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศโลก และประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 ของสภาพภูมิอากาสผันผวนที่สุด มองโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปราะบาง มีขีดจำกัดสูง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางสะสมอยู่ในหลายด้านที่สั่งสมอยู่ในเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน และสะท้อนออกมาเห็นชัดขึ้นในช่วงเรากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ทั้งนี้ แม้ว่าเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่วัดจากความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงิน เรามีเสถียรภาพในระดับที่ค่อนข้างดี แต่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก และสภาพภูมิอากาศ และหากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน มีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่งขอใช้ทับศัพท์ว่า มี resiliency เราจำเป็นต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” เพิ่มเติม

วิกฤตโควิด-19 นิยาม “เสถียรภาพ” เปลี่ยนแปลงไปในมุมที่กว้างขึ้น และครอบคลุมถึงปัจจัยอื่น นอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจ เช่น ปัจจัยด้านสังคม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยเศรษฐกิจจะ resilient ได้ ต้องมี 3 ด้าน คือ 1.ด้านความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือวิกฤต 2.ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และ 3.ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านนี้ จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน เรามีขีดจำกัดในทุกด้าน”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ พึ่งพาต่างประเทศสูง ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก นอกจากนั้น เรายังกำลังเผชิญหน้าเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยล่าสุดดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อุณหภูมิสูงขึ้น และมีความผันผวนของปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคสำคัญของเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร 

ขณะเดียวกัน เมื่อเราหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของไทยก็ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ มีกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนมากไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตได้

“กลุ่มเปราะบางจะมีสายป่านทางการเงินที่สั้น ไม่มีเงินออม กู้ยืมเงินได้ยาก พึ่งพาความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตไม่ได้ เพราะประสบปัญหาช่นกัน ขณะที่ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เนื่องจากอยู่นอกระบบ ยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยี รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนี้ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เมื่อภาวะวิกฤตเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวที่จำกัดอีกด้วย โดยพบว่าผลจากวิกฤตจะก่อให้เกิด “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจ โดยสินทรัพย์ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทักษะของแรงงานลดลง ในขณะที่หนี้สินพอกพูนขึ้น ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถบริโภคและการลงทุนที่ต่ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมจึงไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ และแผลเป็นนี้ยังซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำความร้าวฉานในสังคมให้ลึกลง ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน (K-shaped recovery) โดยกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากกว่า ทำให้ความเสี่ยงที่ความตึงเครียดทางสังคมจะคุกรุ่นมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้น เราควรจะเร่งดำเนินการใน 7 ด้านคือ

1.มีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้น มีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อให้สามารถพิจารณาสถานการณ์กรณีเลวร้ายได้อย่างรอบด้าน

2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนเทคโนโลยี สังคมสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

3.เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อให้กระจายความเสี่ยงดีขึ้น

4.นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต

5.ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม

6.สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต

7.ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ และล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น