กรมบัญชีกลางอนุมัติหลักการให้ส่วนราชการสามารถจัดซื้อชุดตรวจ ATK ได้ พร้อมชี้แจงประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK ขององค์กรเภสัชกรรม
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 รับทราบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวได้มีการปรับปรุงการบังคับใช้ในบางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการผ่อนคลายการใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อเดินทางข้ามจังหวัด จากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบังคับใช้ในอนาคต โดยจะเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตาม "มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล" (Universal Prevention for COVID-19) และกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบองค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการ “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร” (Covid Free Setting) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ต่อเนื่อง และยั่งยืน ซึ่งการผ่อนคลายตามมาตรการดังกล่าวส่งผลให้การปฏิบัติราชการมีแนวโน้มที่จะกลับมาปฏิบัติงานที่ที่ตั้งสำนักงานมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจของส่วนราชการ และเพื่อให้ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายค่าชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) เป็นไปโดยถูกต้อง กระทรวงการคลังจึงอนุมัติเป็นหลักการให้ส่วนราชการเบิกจ่ายค่าชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ได้เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ทั้งนี้ ขอให้ส่วนราชการดำเนินการควบคุมให้มีการเบิกจ่ายค่าชุดตรวจ ATK ให้สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานจริง และจัดให้มีการติดตามการคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ดังกล่าวต่อไป
“การจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 115 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรื่อง การดำเนินการกรณีจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 ในแต่ละครั้งทุกวงเงินถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามข้อ 79 วรรคสอง แห่งระเบียบฯ และให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานนั้นดำเนินการไปก่อนแล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้วให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม และการดำเนินการดังกล่าว หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 89 (4) โดยให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้าตามระเบียบฯ ข้อ 91 วรรคสอง ดังนั้น หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวได้” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่องค์การเภสัชกรรมได้แถลงข่าวว่าบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปีตอล จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าชุดตรวจ ATK ได้เสนอราคาต่ำสุดและเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวอยู่ในข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงตามความนัยมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ข้อ 8 ข้างต้น องค์การเภสัชกรรมย่อมสามารถดำเนินการตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ.2561 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐที่จะพิจารณาแต่อย่างใด