xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกรุงศรีคาดส่งออก-มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยหลักหนุนเศรษฐกิจฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ยังคงประมาณการมูลค่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโต 13.5% โดยมูลค่าส่งออกในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 22.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.9% YoY แม้ชะลอลงเหลือเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน แต่หากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ มูลค่าส่งออกเดือนนี้ยังเติบโตดีที่ 19.4% โดยมองแนวโน้มในที่เหลือของปี การส่งออกของไทยจะค่อยๆ เติบโตดีขึ้น เนื่องจากภาวะชะงักงันของภาคการผลิตและการขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 เริ่มลดลง นอกจากนี้ การส่งออกยังมีปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายลงในหลายประเทศรวมถึงอาเซียน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของส่งออกไทยอาจจะไม่สูงมากดังเช่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งเคยเติบโตถึง 20-40% เนื่องจากการลดลงของผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวทั้งการเร่งกลับมาใช้จ่ายของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัว 15.2%

ส่วนกรณีทางการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP จากเดิมกำหนด 60% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) เพื่อเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ของ GDP เทียบกับ ณ สิ้นปีงบ 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.96% นั้น วิจัยกรุงศรีประเมินการขยายเพดานหนี้สาธารณะไปที่ระดับ 70% ถือเป็นระดับที่โครงสร้างของประเทศยังรองรับได้ และยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน เช่น อินเดีย และมาเลเซีย การขยายเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่การดำเนินมาตรการของภาครัฐซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการช่วยสร้างรายได้ที่ลดลงมากและเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ วิจัยกรุงศรีเคยเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดวงเงินราว 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ การให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว (16 พันล้านบาท) การรักษาระดับการจ้างงาน (285 พันล้านบาท) การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ (20 พันล้านบาท) การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน (200 พันล้านบาท) การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ (43 พันล้านบาท) และการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน (132 พันล้านบาท) โดยคาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.53%


กำลังโหลดความคิดเห็น