xs
xsm
sm
md
lg

SCBX ก้าวข้ามขีดจำกัด “ไทยพาณิชย์” คิดใหญ่ทำใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แผนปรับโครงสร้างธุรกิจ “ไทยพาณิชย์” กลายร่างสู่ SCBX หลายฝ่ายซูฮกการก้าวข้ามขีดจำกัด หากยังต้องใช้ระยะเวลาและผลงานพิสูจน์ เพื่อดันราคาหุ้นไปต่อ

ยอมรับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ “ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ” รอบนี้ สร้างแรงสะเทือนให้หลายฝ่าย การตัดสินใจครั้งนี้ นอกจากเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้บริหารแล้ว ยังท้าทายผู้ถือหุ้น เพราะหากไฟเขียว นั่นหมายถึงการต้องยอมรับสภาพกับอนาคตที่อาจไม่แน่ไม่นอน เพราะทุกอย่างบางครั้งเวลาก็ไม่สามารถการันตีอะไรได้

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัวจาก SCB สู่ SCBX และเส้นทางธุรกิจในอนาคตที่เชื่อมั่นว่าจะมีความรุ่งโรจน์รออยู่เบื้องหน้า หลังจากที่ผ่านมาหาก SCB ปรับลดสาขาและปลดพนักงานลงกว่าครึ่งมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนหน้าแล้ว นั่นเป็นที่ชัดเจนว่าธนาคารในรูปแบบเดิมกำลังหมดไป

โดยประเมินว่า ประมาณปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังCOVID-19 รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในแบบการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมลดบทบาทลง เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของลูกค้าได้ และจะกระทบต่อมูลค่าธุรกิจในอนาคตของธนาคาร

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ SCB คิดว่าจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

และจากเรื่องดังกล่าว จึงนำมาสู่การการจัดตั้งบริษัทใหม่ และเป็นบริษัทแม่ในชื่อ SCBX ที่ไม่ใช่ธนาคารเท่านั้น แต่เป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) มีบทบาทเป็น Tech Company โดยจะขอมติผู้ถือหุ้น SCB ในการแลกหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้น SCB ไปเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน พร้อมกับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2565 จากนั้นจะนำ SCBX ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพิกถอนหุ้น SCB ออกจากตลาด โดย SCBX จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น SCB แทน

ไม่เพียงเท่านี้ บอร์ดยังมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้น SCB เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 7 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วน 70% จะใช้ในการทำเรื่องการโอนธุรกิจ จัดตั้งบริษัทใหม่ และการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจการและการเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 30% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและจ่ายเงินปันผลในรอบปี 2565

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเด็นดังกล่าว คือการปลดล็อก SCB ออกจากพันธะเดิมๆ เพื่อกายการเติบโตในอนาคต เพราะต่อจากนี้ SCB จะไม่เป็นเพียงแค่ธนาคารพาณิชย์แล้ว แต่จะเป็นอะไรที่มากกว่าธนาคารและบริษัทสามารถหยิบหรือจับต้องสิ่งที่ทำผลประโยชน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนเงื่อนไข การเป็นธนาคารพาณิชย์ นั่นหมายถึงการเพิ่มอักษร “X” ต่อท้าย SCB มันช่วยทำให้ศักยภาพของSCB นั่นมีมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้น มีความเป็นไปได้มากขึ้น

นั่นเพราะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว มากขึ้น และสามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดการเติบโตได้

โดยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น พบว่าในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง  ส่วนการแปลงสภาพธนาคารให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่แข็งแรง และมีธนาคารพาณิชย์เป็นแกนนำของกลุ่ม หลายฝ่ายชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่ชาญฉลาด แต่อย่างไรก็ตามการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงและธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้เต็มที่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้คำยืนยันจากผู้บริหารจะออกมาซัพพอร์ตว่าแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ก็ตาม

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ถือหุ้นSCB ต้องไม่ลืมว่าการขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มในระยะยาวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และก็เป็นเรื่องที่เกินความสามารถหากมุ่งมั่นจะทำ

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา คือการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจภายใต้การดำเนินการของ SCBX จะมีการนำธุรกิจในเครือของ SCB เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยต่างๆราว 15-16 บริษัท เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น และสามารถรุกขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถจะแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Cash Cow คือ ธุรกิจธนาคาร SCB ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ SCBX เป็นกลุ่มสร้างผลกำไรที่ดีและสนับสนุนเงินทุนให้ SCBX ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งธุรกิจการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารในกัมพูชา, เมียนมา, บริษัทบริหารสินทรัพย์ รัชโยธิน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM), SCB Protect, ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์, ไทยพาณิชย์พลัส

และอีกกลุ่มจะเป็นกลุ่ม New Growth กลุ่มธุรกิจแฟลกชิปผลักดันการเติบโต เพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนด้าน Digital Asset และ Digital Platforms โดยแยกเป็น กลุ่ม Consumer Finance และ Digital Financial เช่นการจัดตั้งบริษัทออโต้ เอกซ์, บริษัทคาร์ด เอกซ์, บริษัทบริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอกซ์ และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ รวมถึงกลุ่ม Digital Platforms และ Technology Services ประกอบด้วย บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส, บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์, บริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส, บริษัทโทเคน เอกซ์, บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์, บริษัท เอสซีบี อบาคัส, บริษัท มันนิกซ์, บริษัท เอไอเอสซีบี, บริษัทร่วมทุน AIS และบริษัทร่วมทุนเครือซีพี SCB-CP

หากดูโครงสร้างธุรกิจในกลุ่ม New Growth ส่วนหนึ่งจะมาจากการโอนธุรกิจที่อยู่กับธนาคารไทยพาณิชย์ แตกเป็นบริษัทลูก เช่น Card X รับโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล Auto X ธุรกิจสินเชื่อรถ ลิสซิ่ง, กลุ่มธุรกิจเดิมที่ SCB ถือหุ้นอยู่แล้วด้าน Digital Asset ผ่านบริษัท SCB 10X ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery ผ่านบริษัท Purple Ventures ธุรกิจหลักทรัพย์ ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน SCB security ซึ่งเป็นเรือธงในกลุ่มธุรกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ AIS จัดตั้ง AISCB เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ (digital lending) และบริการทางการเงินอื่นๆ และการร่วมทุนกับ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ จัดตั้ง Alpha X บริการธุรกิจให้เช่าซื้อ ลิสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (Big Bike) เรือยอชต์ และ River Boat รวมทั้งการร่วมทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่น่าสนใจ เท่ากับ การส่ง SCBX ขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ เพราะแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็น SCBX ตามแผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 2568 ตั้งเป้าขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ นั้นจะครอบคลุมการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด (Market Cap) ของ SCBX แตะ 1 ล้านล้านบาท หรือสามารถขึ้นเป็นบริษัทระดับ Reginal และ International สร้างการเติบโตของ Earning ที่มีคุณภาพ เป็นก้าวใหม่ของ SCB ที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตในอนาคต

สำหรับมุมมองแวดวงในตลาดหุ้น มองว่าหลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ภายใต้ SCBX หนุนความได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจด้าน Digital เทรนด์อนาคตนั้นจะช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย SCBX แบ่งธุรกิจเป็นกลุ่ม cash cow และ growth โดย Cash cow มีการเติบโตที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ ROE ต่ำ เช่น ธุรกิจธนาคารและการบริหารสินทรัพย์ คิดเป็น 85% ของรายได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงและ ROE สูง ซึ่งคิดเป็น 15% ของกำไร ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้ผู้บริหารตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี2569 โดยในแผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคนด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคนในปัจจุบัน นั่นเพราะ SCBX ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยี โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO บริษัท CardX (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล), Auto X (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์), SCB Securities (พร้อมบริการสินทรัพย์ดิจิทัล) MONIX และ SCB ABACUS (สินเชื่อดิจิทัล) ใน 3-5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น การประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ชื่อ SCBX จะหนุนให้ได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจที่เป็น Digital ที่เป็นเทรนด์ของอนาคต และจะช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของแบงก์ชาติ รวมถึงจะสามารถร่วมมือพันธมิตรด้านต่างๆได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการขยายฐานลูกค้าของบริษัทได้มากยิ่งขึ้น

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการปรับโครงสร้างโดยตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งและเพิกถอนหุ้นด้วย SCBX แบบหุ้นต่อหุ้น 1:1 โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย. โดยจะมีการโอนเงินครั้งเดียวมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทจาก SCB ไปยัง SCBX สำหรับการโอนธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (70% หรือ 4.9 หมื่น ล้านบาท) และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสำหรับ SCBx (30% หรือ 2.1 หลื่น ล้านบาท) คาดว่า SCBx จะจ่ายเงินปันผลพิเศษ 5.1-6.2 บาท/หุ้นในไตรมาส 2/65 ภายใต้ SCBX

ด้าน บล.ทิสโก้  ระบุว่า ยังชอบในแนวคิดการปรับโครงสร้าง โดยมีเหตุผลหลักคือ ความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฟินเทคที่กฎระเบียบต่างๆ ยังคงพัฒนาอยู่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าจากบริษัทในเครือผ่านการ IPO ที่คาดการแยกธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันน่าจะนำไปสู่การประเมินมูลค่าที่ดีขึ้น โดย การจัดตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในระยะสั้น และกดดันแนวโน้มกำไรในช่วงดังกล่าว และการแยกธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเนื่องจากการดำเนินการซ้ำซ้อน แต่ประเด็นต้นทุนส่วนนี้จะค่อยๆ หมดไป หลังบริษัทลูกเริ่มสร้างรายได้ คาดกำไรในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการ IPO หุ้นในเครือ

ท้ายสุดไม่มีใครชี้ชัดได้ว่า SCB เมื่อกลายเป็นSCBX แล้วจะกล้าแข็งเพียงใด เพราะทุกอย่างไม่ใช่เพียงแค่อาศัยระยะเวลาพิสูจน์ แต่กลุ่มไทยพาณิชย์จำเป็นต้องทำให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่าสามารถทำได้ดั่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ มิเช่นนั้นจากราคาหุ้นที่ดีดตัวเพิ่ม ก็พร้อมที่จะหดตัวลงตามความเสี่ยงที่จะเข้ามาท้ายเพิ่มขึ้นอีกนับจากนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น