นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีผ่านมา ได้ส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก แม้แต่บริษัทเองที่เล็งเห็นความสำคัญและจำเป็นในการเร่งสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยง และสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตทั้งสินเชื่อและประกันให้เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมเล็งโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในอนาคต
โดยยการขยายไปยังต่างประเทศจะเน้นไปที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ให้ความสนใจและมองว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 90 ล้านคน และอายุเฉลี่ยน้อยกว่าประชากรไทย รวมถึงจำนวนมอเตอร์ไซค์จดทะเบียนที่มีจำนวนมากราว 60 ล้านคัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมองการขยายธุรกิจในรูปแบบการร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความเข้าใจในรายละเอียดเชิงลึกด้านต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ที่บริษัทสนใจเข้าไปลงทุนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้บริโภค พฤติกรรมผู้บริโภค วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น
นายปิยะศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เงินติดล้อเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อทะเบียนรถ บริษัทได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมและยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ด้วยการตั้งมาตรฐานให้สูงทั้งในเรื่องความโปร่งใส เทคโนโลยี วัฒนธรรมองค์กร และคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และได้นำบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากธุรกิจสินเชื่อของบริษัทและใช้ทรัพยากรจำนวนมากไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัย และให้คนได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมบัตรติดล้อออกมา และได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า
"เราวางเป้าหมายไว้ไกลกว่าแค่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในระยะอันใกล้นี้ แต่จุดมุ่งหมายของเรา คือ การเป็นผู้นำในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เรากำลังดำเนินธุรกิจอยู่" นายปิยะศักดิ์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายใของบริษัทระยะยาววางเป้าหมายให้อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% และอัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ราว 5-6% และภาพลักษณ์ของบริษัทที่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของคนเมืองที่ติดภาพเงินติดล้อเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อระดับท้องถิ่น โดยหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วคาดว่าภาพลักษณ์ต่อคนเมืองที่มองมาที่บริษัทจะดีขึ้น จากความเข้าใจในตัวของบริษัทที่สื่อสารออกไปให้กลุ้มเป้าหมายต่างๆ มากขึ้น
"ความท้าทายในอุตสาหกรรมหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่ไม่ได้บวกมาก ซึ่งเราพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจตรงนี้ รวมทั้งดิจิทัลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เราต้องเรียนรู้ โดยเป็นความท้าทายของทุกองค์กร เราต้องปรับตัวให้ทัน" นายปิยะศักดิ์ กล่าว