xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.ประกาศปรับการคำนวณดัชนีใหม่ ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์ประกาศเปิดรับฟังความเห็น 20 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ เพื่อปรับปรุงการคำนวณดัชนีหุ้นไทย เตรียมถอดหุ้นที่ฟรีโฟลท มูลค่าซื้อขายต่ำ และหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ทุกระดับออกจากการคำนวณดัชนี หวังลดความผันผวนของตลาด และสะท้อนภาพที่แท้จริง สอดคล้องมาตรฐานสากล คาดนำมาใช้อย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้ ด้าน ASPS เผยหาก ตลท.ทบทวนเกณฑ์คำนวณดัชนี SET50-SET100 ใหม่ กลุ่มแบงก์ รับเหมาฯ อสังหาฯ รับอานิสงส์มากสุด ส่วนพลังงาน อิเล็กฯ ขนส่งกระทบหนัก พร้อมแนะลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสถูกเพิ่มน้ำหนักเป็นลำดับต้นๆ KBANK, CPALL และ TU

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ จะประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากในปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมดจะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, ValueTrade, Turnover ratio, Free Float เป็นต้น และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quantitative) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือมีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูงและอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ (Investable) ได้ดี ดังนั้น ตลท.จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยต่ำ โดยตลท.ได้มีการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณและเกณฑ์เชิงคุณภาพ รวมถึงเห็นควรเสนอแนวทางปรับปรุงโดยมีสาระสำคัญดังนี้

เตรียมถอดหุ้นสภาพคล่องซื้อขายต่ำ-ติดแคชบาลานซ์ทุกระดับออกจากดัชนี

1.ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index เพื่อให้การคัดเลือกหุ้นเพื่อให้เป็นองค์ประกอบของดัชนี Tradable Index เกณฑ์ด้านสภาพคล่องควรสะท้อนมูลค่าการซื้อขายที่เป็นอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติเท่านั้น เพื่อให้เป็น investable universe ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง โดยแนวทางการดำเนินการจะมีการเพิ่มเกณฑ์คุณภาพในการพิจารณาสภาพคล่องที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้น ตามหลักการดังนี้

1.1.นำข้อมูลหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Surveillance measure list) มาประกอบการพิจารณา

1.2 การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี Tradable Index ตามรอบการคัดเลือกจะไม่พิจารณาปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ช่วงเดือนที่เข้ามาตรการดังกล่าวตั้งแต่ Level 1 ขึ้นไป

2.ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted เพื่อการให้น้ำหนักของหุ้นในดัชนีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ โดยแนวทางในการดำเนินการนั้นจะมีการปรับวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) สำหรับทุกดัชนี

ขณะที่ในการดำเนินการปรับปรุงด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Capitalization นี้ อาจต้องมีกระบวนการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ 1.ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic partner เพื่อให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น

ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี และกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อ rebalance หรือปรับสถานะจำนวนมาก (Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น

ทั้งนี้ การปรับวิธีการคำนวณด้วย Free Float Adjusted นั้น ยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการและรายละเอียดที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่นำมาใช้มีความเหมาะสมกับลักษณะของตลาดทุนไทย และเทียบเคียงกับแนวทางสากล และใช้ในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ดี ในส่วนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการและจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป

หวังสะท้อนการลงทุนอย่างเหมาะสม เริ่มใช้ ธ.ค.นี้

สำหรับวัตถุประสงค์การปรับปรุงเกณฑ์ดัชนีของ ตลท.ในครั้งนี้ เพราะต้องการให้ Tradable Index ของ ตลท.สามารถสะท้อนการลงทุนได้ของหลักทรัพย์อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยต่่า และปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ดัชนีและแนวทางในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการดำเนินการจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อใช้ในรอบคัดเลือกรอบถัดไปในช่วงเดือน ธ.ค.64

ASPS ชี้กลุ่มแบงก์ รับเหมาฯ อสังหาฯ รับอานิสงส์ รับ ตลท.ปรับเกณฑ์

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยถึงกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ในช่วงทบทวนวิธีคัดเลือกหุ้นเข้ามาใน Tradable Index อาทิ ดัชนี SET50, SET100 เป็นต้น เพื่อให้ดัชนีสะท้อนถึงการลงในหลักทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมลดความผันผวนจากหุ้นสภาพคล่องต่ำ และสอดคล้องกับหลักสากล คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้เร็วสุดในรอบ ธ.ค.64

เบื้องต้นทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดเพิ่มเกณฑ์ในการพิจารณา 2 ข้อ

1.เชิงปริมาณ (Quantitative) ปรับใช้วิธี Free Float Adjusted Market Cap. เพื่อให้น้ำหนักของหุ้นในดัชนีสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้เหมาะสม

2.เชิงคุณภาพ (Qualitative) ไม่นำช่วงเดือนที่หุ้นนั้นๆ ติด Cash Balanceหรือ Turnover List มาคำนวณในเกณฑ์สภาพคล่อง เพื่อสะท้อนมูลค่าซื้อขายตามปกตได้ดี

ฝ่ายวิจัยฯ จึงทำการวิเคราะห์ว่าจะมีผลดีผลเสียต่อหุ้นอย่างไรบ้าง? เริ่มจากดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักใน Sector ต่างๆ อิงตามวิธี Free Float Adjusted Market Cap. พบว่า มีการลดหรือเพิ่มน้ำหนักดัชนีราว 11% โดยเรียงลำดับกลุ่มที่ถูกเพิ่มน้ำหนักมากสุดไปถึงลดน้ำหนักมากสุด คือ กลุ่ม BANK ถูกเพิ่มน้ำหนัก5.6% จาก 9.3% ไปเป็น 14.8% ตามมาด้วย CONMAT เพิ่มขึ้น 1.5%, PROP เพิ่มขึ้น 1.4%

เปิดโผหุ้นถูกเพิ่ม-ลดน้ำหนักตามเกณฑ์ใหม่

นอกจากนี้คาดว่าจะมีหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ในรอบถัดไปได้ ถ้าตลาดปรับมาใช้วิธี Free Float Adjusted Market Cap. คือ BANPU, KKP ในทางกลับกันหุ้นที่มีโอกาสออกจาก SET50 คือ GLOBAL, DTAC

สุดท้ายฝ่ายวิจัยฯ วิเคราะห์การปรับดัชนีในเชิงคุณภาพ คือ ไม่นำช่วงเดือนที่หุ้นนั้นๆ ติด Cash Balance หรือ Turnover List มาคำนวณในเกณฑ์สภาพคล่อง พบว่า ล่าสุดมีหุ้นใน SET100 ติด Cash Balance ทั้งหมด 8 หุ้น ในช่วงเวลาที่ใช้คำนวณดัชนี และมี 1 หุ้น คือ DELTA ที่ติด Cash Balance มากกว่า 7 เดือนในรอบการคำนวณ จึงเหลือเดือนที่ใช้คำนวณเกณฑ์สภาพคล่องเพียง 5 เดือน ไม่เพียงพอกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ตลาดกำหนด คือ 6 ใน 12 เดือน ทำให้ DELTA มีโอกาสหลุดทั้ง SET50 และ SET100 หากตลาดตัดสินใจนำเกณฑ์นี้มาใช้

สรุปหากตลาดมีการปรับมาใช้วิธีการคัดเลือกหุ้นเข้าดัชนีดังกล่าว น่าจะทำให้เกิดความผันผวนบ้างในช่วงสั้น จากการปรับน้ำหนักพอร์ตให้สอดคล้องกับดัชนี แต่จะสร้างเสถียรภาพและสะท้อนความเป็นจริงได้มากขึ้นในระยะถัดไปกลยุทธ์ แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสถูกเพิ่มน้ำหนักเป็นลำดับต้นๆ หากมีการใช้วิธีการคำนวณดัชนีแบบใหม่ KBANK, CPALL (หุ้นเปิดเมือง Laggard) และ TU (หุ้นที่ได้ประโยชน์บาทอ่อนค่า)


กำลังโหลดความคิดเห็น