xs
xsm
sm
md
lg

“เอเวอร์แกรนด์” ในตลาดหุ้นไทย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความกังวลในวิกฤตของ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับสองของจีน คลายลงแล้ว หลังทางการจีนประกาศอัดฉีดเงินช่วยเหลือ เพื่อสกัดผลกระทบที่จะลุกลามบานปลาย

ถ้ารัฐบาลจีน ไม่ตัดสินใจอุ้ม ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป คงล่มสลาย สร้างปัญหาหนี้เสียก้อนมหึมา และไม่เพียงแต่ทำให้สถาบันการเงินของจีนระส่ำระสายเท่านั้น แต่อาจจุดชนวนสู่วิกฤตซัพพลายในเอเชีย

เอเวอร์แกรนด์ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ติดทำเนียบ 500 บริษัทยักษ์ของโลก มีพนักงานรวมประมาณ 123,000 คน ในปี 2563 มีรายได้ประมาณ 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์

แต่มีหนี้ประมาณ 3.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.97 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 2 % ของจีดีพีจีน ตีเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้านล้านบาท

การเดินทางสู่จุดจบของเอเวอร์แกรนด์ เกิดจากการขยายธุรกิจที่รวดเร็ว และการซื้อกิจการต่าง ๆ มากมาย โดยการก่อหนี้จำนวนมาก จนกลายเป็นการเติบโตลักษณะฟองสบู่ ขณะที่ฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง และในที่สุดเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

หุ้นเอเวอร์แกรนด์ฯที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ทรุดลงประมาณ 70% ในรอบปีที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนวิตกกังวลในฐานะทางการเงิน

ประเทศไทยเคยเผชิญภาวะฟองสบู่แตกมาแล้ว ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ต้องปิดตายไฟแนนซ์ 56 แห่ง ตามด้วยธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่ง จนต้องตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันเงิน และอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อกู้วิกฤต โดยเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ประมาณ 4 ปี จึงเริ่มกระเตื้องขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเอเวอร์แกรนด์ ฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ และอาจต้องล้มลง สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงตลาดหุ้นไทยอยู่เหมือนกัน

นักลงทุนหวั่นไหวผลกระทบข้างเคียงที่จะลุกลามถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัว ซึ่งก่อหนี้ไว้จำนวนมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยกังวลปัญหาการก่อหนี้ของบรรดาเจ้าสัว และมีข่าวว่า ได้กำชับให้สถาบันการเงินระมัดระวังในปล่อยสินเชื่อ โดยต้องพิจารณาถึงหลักประกันในการปล่อยกู้อย่างเข้มงวด

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัว มีการซื้อกิจการและทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเงินทุนส่วนใหญ่ในการซื้อทรัพย์สิน มาจากเงินกู้ ทั้งการกู้สถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน สร้างรายได้ปีละกว่า 2.2 ล้านล้านบาท แต่ยังล้มได้ เพราะการเติบโตที่เร็วเกินไป และการซื้อกิจการมากมาย

บริษัทขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่เติบโตในลักษณะฟองสบู่ ขยายการลงทุนไม่หยุดยั้ง ซื้อกิจการต่างชาติมูลค่านับแสนล้านบาท ก่อหนี้มโหฬาร จึงมีโอกาสเดินสู่วิกฤตเช่นเดียวกับเอเวอร์แกรนด์ ถ้าวันใดวันหนึ่ง สภาพคล่องทางการเงินเกิดสะดุด

และไม่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัวเท่านั้น ที่ซื้อกิจการ ซื้อทรัพย์สิน รุกขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขนาดเล็กนับสิบแห่ง มีการสร้างนิยายขายฝัน ปั่นฟองสบู่ จับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจ ซื้อกิจการและขยายการลงทุนเปรอะไปหมดเหมือนกัน

การจับมือเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจกัน การทุ่มเงินซื้อกิจการหรือขายการลงทุนของบริษัทจดทะเบียน แม้ยังไม่รู้ว่า จะทำให้ผลประกอบการบริษัทฯเติบโตขึ้นตามที่คุ้ยโม้โอ้อวดกันหรือไม่ แต่ราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว

หุ้นบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ราคาพุ่งขึ้นกว่า 1,000% เพียงเพราะบริษัทประกาศรวมกลุ่มพันธมิตร บุกธุรกิจใหม่ และขายฝันว่า ผลประกอบการบริษัทจะสดใสเท่านั้น

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทั้งขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก นับสิบ ๆ บริษัทพยายามเบ่งตัวเองให้โต เช่นเดียวกับ เอเวอร์แกรนด์ ฯ โดยซื้อกิจการ ซื้อทรัพย์สิน หรือขยายการลงทุน และใช้วิธีการเพิ่มทุน สูบเงินจากนักลงทุน

นักลงทุนที่นิยมเล่นหุ้นร้อน ชอบตามแห่เก็งกำไรหุ้นที่ขยันสร้างข่าวดีกระตุ้นราคาหุ้นและขายฝันถึงแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส จึงเสี่ยงที่จะเจ็บตัวหนักเหมือนนักลงทุนฮ่องกงที่ซื้อหุ้นเอเวอร์แกรนด์

บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์นับร้อย ซึ่งกำลังปั่นตัวเองให้พองโตเกินตัว ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างบ้าคลั่ง อาจพบจุดจบเดียวกับเอเวอร์แกรนด์ฯ นักลงทุนจึงพึงสังวรณ์ไว้








กำลังโหลดความคิดเห็น