บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ และปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวเป็น ‘AA+(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Rating) เป็น ‘F2’ จาก ‘F3’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้ายของประกาศ โดยการปรับอันดับเครดิตในครั้งนี้เป็นผลมาจากการทบทวนการประเมินความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และโอกาสที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) จากทางการหากมีความจำเป็น หลังจากการรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ TTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)
ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ TTB พิจารณาถึงโอกาสที่ทางการไทยจะยังคงสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยมีเสถียรภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึง TTB ที่ได้รับการปรับสถานะให้เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ทางการไทยได้ให้การช่วยเหลือไม่ให้ฐานะทางการเงินของธนาคารไทยปรับตัวด้อยลงด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการผ่อนปรนด้านกฎเกณฑ์และสนับสนุนเศรษฐกิจในวงกว้าง โอกาสที่ทางการจะให้การสนับสนุนแก่ TTB น่าจะเป็นผลมาจากความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินและความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของระบบกรณีที่ TTB ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต ถึงแม้ว่า TTB จะมีขนาดที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารที่เป็น D-SIB รายอื่น
รวมทั้งฟิทช์ยังคำนึงถึงสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังใน TTB ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ 22% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการตัดสินใจที่ทางการจะเข้าสนับสนุนธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังมองว่าการถือหุ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นในลักษณะการถือหุ้นเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวเช่นเดียวกับการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในธนาคารอื่นที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล ดังนั้น โอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนจากทางการจึงไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงเท่าธนาคารที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาล
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TTB สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตของประเทศไทยและยังสะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่าโอกาสในการที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากทางการไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น เนื่องจาก TTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศ TTB ได้ประสบความสำเร็จในการรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 และได้ผนึกเป็นองค์กรเดียว TTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 9% ณ สิ้นปี 2563 การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ TTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศแห่งที่ 6 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าธนาคารมีธุรกรรมทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินในระดับสูง (interconnectedness) และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุม
เช่นเดียวกันกับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย รายอื่น TTB ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เข้มข้นกว่าธนาคารพาณิชย์ เช่น การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำเพิ่มอีก 1% (ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (common equity tier 1) ขั้นต่ำอยู่ที่ 8%) และจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยมาตรการการมีความเข้มงวดมากขึ้น ฟิทช์คาดว่า TTB จะสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนใหม่ได้ โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ที่ 14.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564