xs
xsm
sm
md
lg

โบรก ฯ ปรับเป้าดัชนีเหนือ 1,600 จุด รัฐคลายล็อกดาวน์ต่างชาติไหลเข้าตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



FETCO มองเป้า SET ปี 65 แตะ 1,800 จุด คาด GDP โต 4% นักท่องเที่ยว-กำลังซื้อในประเทศกลับมา ส่วนดัชนีช่วงที่เหลือของปีนี้มองอยู่ที่บริเวณ 1,650 จุด ขณะโบรกฯ พาเหรดขยับเป้าดัชนีหุ้นไทยเพิ่ม หลังต่างชาติกลับเข้าตลาดทุน อีกทั้งรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงบวกเฟดประกาศแนวโน้มการลดลงวงเงิน QE ก่อนสิ้นปี ให้กรอบดัชนี 1,600-1,650 จุด ให้เก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่ม Global , Reopening Play รวมทั้งDomestic Play

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์สำนักต่างๆ คงเตรียมประเมินทิศทางตลาดหุ้นกันใหม่ เพราะก่อนหน้ามองว่า ดัชนีหุ้นจะไม่สามารถตีฝ่าแนวต้าน 1,600 จุดได้ แต่หุ้นทะลุ 1,600 จุดขึ้นมาแล้ว และยังเดินหน้า โดยมีแนวโน้มสร้างจุดสูงใหม่ต่อไป เพราะเป้าหมายดัชนีหุ้นปลายปี โบรกเกอร์คาดหมายว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด แต่วันนี้ชนเป้าหมายปลายปีแล้ว เพราะแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติ สมทบด้วยกองทุนในประเทศ ซึ่งกลับมาไล่ช้อนซื้อหุ้น อีกทั้งการจัดงานไทยแลนด์โฟกัสของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นจุดที่กระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลุยตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

ขณะที่มีปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 20,000 คนติดต่อกัน นอกจากนั้น รัฐบาลยังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้หลายธุรกิจเปิดให้บริการได้

หุ้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนคลายปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก ส่วนหุ้นขนาดใหญ่มีแรงซื้อจากต่างชาติและกองทุนเข้ามาหนุน ทำให้ราคาเดินหน้าต่อ และขับเคลื่อนดัชนี ฯ ผ่านพ้น 1,600 จุดอย่างง่ายดาย ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาขึ้นแล้วหรือไม่ อาจเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง วัคซีนล็อตใหญ่ยังไม่มา และไม่มั่นใจว่า หลังเปิดฉากงานไทยแลนด์โฟกัสแล้ว ต่างชาติยังจะซื้อต่อหรือไม่ เพราะหากต่างชาติหยุดซื้อและกลับมาขาย ดัชนี ฯ 1,600 จุดอาจยืนไม่อยู่

FETCO มองเป้า SET ปี 65 แตะ 1,800 จุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด บวก-ลบ โดยอัพไซด์จากตรงนี้ถึงปลายปีมีไม่มาก ขณะที่ดาวน์ไซด์ก็ไม่มากเช่นกัน

" ตอนนี้นักลงทุนมองไปถึงปี 65 แล้ว ซึ่ง FETCO คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะไปแตะ 1,800 จุด ภายใต้คาดการณ์จีดีพีไทยปี 65 ขยายตัว 4% นักท่องเที่ยวต้องกลับกลับพอควร และกำลังซื้อในประเทศกลับมา ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาด้วย ส่วนปีนี้ถ้าจีดีพีกลับมาระดับ 1% ก็ดีมากแล้ว ก็หวังว่าไตรมาส 4 รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษกิฐออกมาเพิ่มเติม" นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) จากผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 144.37 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเกณฑ์ซบเซาเดือนก่อน มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเงินทุนไหลเข้า สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบัน รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

บล. โกลเบล็กให้กรอบดัชนี 1,600-1,650 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยคาดว่ายังคงมีแนวโน้มปรับตัว Sideway Up จากปัจจัยบวกการประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้นั่งกินในร้าน ห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์เปิดถึง 2 ทุ่ม ของ ศบค. ซึ่งเริ่มในวันที่ 1 กันยายนนี้ ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งทาง สธ.ได้มีการรายงานว่าอัตราครองเตียงผู้ป่วยเหลือง-เขียวในกทม.-ปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ยังได้ อานิสงส์จากปัจจัยต่างประเทศภายหลังที่นายพาวเวล ประธานเฟดกล่าวในการประชุมประจำปีว่าเฟดมีแนวโน้มเริ่มปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และบริษัทน้ำมันหลายแห่งหยุดผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกก่อนที่พายุเฮอริเคนจะพัดถล่มในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลดีต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ในกรอบ 1,600-1,650 จุด 

อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาสถานการณ์ต่างๆ ในรอบสัปดาห์นี้ อาทิ ทาง EIU เปิดเผยรายงานระบุว่า GDP ของโลกอาจเสียหายระดับล้านล้านดอลลาร์เพราะความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยประเทศกำลังพัฒนาจะเสียหายหนักที่สุด เนื่องจากความไม่เท่าเทียมของการฉีด ขณะที่สหรัฐโจมตีกลุ่ม ISIS ในกรุงคาบูลระลอกสอง สังหารมือวางระเบิดสนามบินได้ 1 ราย และปัญหาทางการเมืองในประเทศซึ่งจะมีการชุมนุมอีกคร้ง 2 ก.ย. เรียกร้องส.ส.ร่วมมือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลระหว่าง 31 ส.ค. – 3 ก.ย. ลงมติ 4 ก.ย.64 รวมทั้งทาง ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ด้านปัจจัยต่างประเทศ เช่น การรายงานตัวเลขดัชนี PMI ของจีนและดัชนีความเชื่อมั่นของสหรัฐในเดือนส.ค.

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการประกาศของ ศบค. คลายล็อกดาวน์ ร้านอาหารเปิดได้ 50-75% ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ทุกแผนกแต่มีเงื่อนไขการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า เช่น CPN, CRC และ MBK หุ้นกลุ่มร้านอาหาร เช่น AU, M และ ZEN

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ  นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่าผลการประชุมที่ Jackson Hole มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ แต่เตรียมลดวงเงิน QE ภายในปีนี้เป็นปัจจัยกดดันต่อทองคำในระยะกลาง ดังนั้นจึงแนะนำให้เล่นฝั่ง Short เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น โดยมองกรอบในสัปดาห์นี้ที่ 1,780-,1,850 $/Oz

ASP คาด SET ก.ย.ให้กรอบ 1,560-1,650 จุด

บล.เอเซียพลัส (ASP) ประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ย.64 ว่า ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,560 – 1,650 จุด มีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ส.ค.ที่ดีดตัวขึ้นมาสวนทางกับที่คาดารณ์ไว้ โดย (2-28 ส.ค.) ปรับเพิ่มกว่า 89 จุด (+5.9%) เป็นผลจากแรงซื้อในช่วงปลายเดือนตอบรับปัจจัยเชิงบวก การจัดหาวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วงที่เหลือของปี 64 และบูสเตอร์โดสปี 65 อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลง และ เก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์เริ่ม 1 ก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าทำจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงกลางเดือน ส.ค. ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะไม่เกิดภาวะหดตัวต่อเนื่องจากปี 63

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกจากเดือน ส.ค.มองเป็น Sentiment บวกที่ต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย.ประกอบกับ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฟดจะปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก่อนสิ้นปี 64 แต่ยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้น ขณะที่ต้นเดือน ก.ย. ต้องติดตามการคัดสรรประธานเฟดที่จะหมดวาระในเดือน ก.พ.65 หากมีการเปลี่ยนแปลงจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาพรวมการลงทุน

กลยุทธ์การลงทุน ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเป็น 60% เลือก (1) Oil Play เลือก PTTEP , PTT, TOP, IRPC และ PTTGC (2) Re-opening Play เลือก PTG, CRC และ PLANB และ (3) ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า เลือก GPSC , WHAUP และ TVO ขณะที่เลือกหุ้นเด่นในเดือน ก.ย.564 ได้แก่ PTG, HMPRO, PACO และ KBANK

บล.บัวหลวงให้กรอบดัชนีปีนี้ 1,605 จุด

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) มองว่าภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด เห็นได้จากค่าเฉลี่ย PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนลดลง เป็นผลมาจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในอาเซียนยังค่อนข้างต่ำ โดยประเทศไทยมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด เศรษฐกิจจึงเกิดการชะลอตัว และกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป ทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นในการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลังยังคงเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เท่ากัน โดย กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะฟื้นตัวและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่า ซึ่งจะจะค่อยๆ ปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งพิจารณาลดมาตรการช่วยเหลือและนโยบายการเงินต่าง ๆ ให้กลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ทางกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือและนโยบายการเงินจึงยังต้องอยู่ในระดับเดิม เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากันจะทำให้ประเทศกลุ่มอาเซียนมีความเสี่ยงเผชิญภาวะ Stagflation กล่าวคือเศรษฐกิจโตน้อยแต่อัตราเงินเฟ้อสูง

สำหรับในประเทศได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ตั้งแต่การระบาดระลอกพื้นที่มหาชัย จนปัจจุบัน GDP ถูกปรับลงมาเหลือเพียง 0.8% เนื่องจากการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าและไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาช่วงครึ่งปีหลังไม่เป็นไปตามที่เคยตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน และปี 65 นักท่องเที่ยวคงยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดคือประมาณปีละ 40 ล้านคน

ขณะนี้ทุกภาคส่วนยังกังวลกับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ตัวเลขต่าง ๆ ค่อนข้างยาก แต่แนวโน้ม GDP ของไทยในไตรมาส 3-4/64 มีแนวโน้มจะติดลบ ครึ่งปีหลังที่เหลือยังคงต้องอาศัยภาคการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐประคองไว้และไปฟื้นตัวขึ้นในปี65 โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวอาจมีเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐที่บริหารจัดการโดยเฉพาะเรื่องวัคซีนให้ประชาชน

โดยให้เป้าหมายดัชนี SET ในปีนี้ที่ 1,605 จุดและปีหน้าที่ 1,784 จุด พร้อมแนะนำการปรับพอร์ตในช่วงปี 64-65 เพื่อรับมือการลงทุนฝ่าวิกฤตโควิด-19 นี้ โดยแนะนำหุ้น 2 กลุ่มกลุ่ม Global Growth : อิงกับการเติบโตของสินค้าในตลาดโลก เน้นสินค้ากลุ่มส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ TU, KCE, HANA หรือ CBG และกลุ่ม Domestic Play เช่น กลุ่มธนาคาร การเงิน หรือกลุ่มที่เกี่ยวกับการเปิดเมือง ได้แก่ M, TISCO, KKP, AMATA, BH, CPN, OR , CRC

"ตอนนี้คิดว่าควรปรับพอร์ตอิงไปกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดยน้ำหนักหุ้นในพอร์ตสัก 70% น่าจะเป็นหุ้นกลุ่ม Global Growth และอีก 30% ที่เหลือ เป็นหุ้นกลุ่ม Domestic Play แต่ถ้าภาครัฐสามารถจัดการโควิด-19 ในประเทศได้ดีขึ้น มีการเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลง ก็ค่อยๆเพิ่มสัดส่วนพอร์ต Domestic Play ในอนาคต"นายชัยพรกล่าว

บล. โกลเบล็กให้กรอบ 1,600 - 1,680 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในลักษณะ Sideway Up โดยได้แรงหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ชะละตัวต่อเนื่อง และมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของ ศบค. ซึ่งนายกฯ ยืนยันเดินหน้าเปิดประเทศใน 120 วัน แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดย แผนเปิดประเทศเฟส 2 ในอีก 5 จังหวัดเริ่ม 1 ต.ค.นี้ รวมทั้งจับตาการทำ Window Dressing ปลายงวดไตรมาสที่ 3/2564 จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีเดือนนี้แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,600-1,680 จุด

ทั้งนี้ ปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลบวกต่อดัชนี อาทิ ราคาน้ำมันดิบ WTI ตลอดเดือนส.ค. ร่วงลง 7% จากกลุ่มโอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาทำให้ นักลงทุนกังวลว่าอุปสงค์การใช้น้ำมันจะชะลอตัว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่าเฟดจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้เริ่มลด QE ภายในสิ้นปี รวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า ประชาชนวัยผู้ใหญ่ในสหภาพยุโรป ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบสองโดสแล้ว 70% หรือราว 256 ล้านคน ส่วนดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.9 ในเดือนส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวลงสู่ระดับ 58.6 หลังจากแตะระดับ 59.5 ในเดือนก.ค.และตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดทำให้เกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และนักลงทุนเชื่อว่า FED จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป ยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม  ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า “mu” ซึ่งทาง EU ได้ถอดสหรัฐออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยด้านการเดินทาง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  รวมทั้งการที่ ธปท.เปิดเผยว่าเศรษฐกิจในเดือนส.ค.ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเดือนก.ค. จากกำลังซื้ออ่อนแอ ซึ่งคาดว่า ธปท.จะปรับประมาณการ GDP ปี 64 อีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.64 จากเดิมที่คาดว่า GDP ปี 64 จะขยายตัว 0.7% และกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-ก.ค.64) ต่ำกว่าประมาณการ 10.2% และทาง ส.อ.ท. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า รวมทั้งทาง สศค. จะมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง และต่างประเทศรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในหมวดต่างๆออกมา

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้น Reopening Play เช่น หุ้นกลุ่มโรงแรม MINT, ERW, CENTEL, AWC และ SHR หุ้นกลุ่มขนส่ง BEM และ BTS หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า CPN, CRC และ MBK หุ้นกลุ่มร้านอาหาร AU, M และ ZEN และสุดท้ายหุ้นกลุ่มค้าปลีก CPALL, BJC และ MAKRO จากการแผนการทยอยเปิดเมืองในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินกรอบทองคำในเดือน ก.ย. 64 ไว้ที่ระดับ 1,770-1,870 $/Oz โดยแนะนำให้หาจังหวะ Short เมื่อทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้าน เนื่องจากเฟดเตรียมปรับลดวงเงิน QE ลงภายในปลายปีนี้ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำในระยะกลาง โดยในปี 2013 ที่มีการปรับลดวงเงิน QE ราคาทองคำจะปรับตัวลงและแตะจุดต่ำสุด ณ เดือนที่เฟดมีการปรับลดวงเงิน QE




กำลังโหลดความคิดเห็น