xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกรุงศรีเสนอ 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 วงเงินรวม 7 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุ จากเมื่อเร็วๆ นี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปราะบาง พร้อมเสนอรัฐบาลกู้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท โดยธปท.ประเมินการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลง ส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน

ล่าสุด ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ให้มีประสิทธิผลและเกิดผลเป็นวงกว้างมากขึ้น การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว นอกจากนี้ ล่าสุดผู้ว่าฯ ธปท.เสนอรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตใกล้ระดับศักยภาพได้เร็วขึ้น แม้หนี้สาธารณะอาจขึ้นไปแตะ 70% ของ GDP

ทั้งนี้ จากวิกฤต COVID-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ในประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน นับเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญ และนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาท ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และคาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ที่อยู่ในระดับ 3.5% และเทียบกับ 3.0% หากไม่มีมาตรการ

ด้านการท่องเที่ยว แม้ทางการจะมีการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ล่าสุด ทางการอนุมัติแนวทาง “7+7” ให้นักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หากอยู่ภูเก็ต 7 วันแรกตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางไปพักอีก 7 วันได้ในพื้นที่ที่กำหนดใน 3 จังหวัดใกล้เคียงได้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์) และพังงา โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม

แต่อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อาจลดลงต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.1 แสนคน จาก 6.7 ล้านคนในปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงและนานเกินคาดในไทย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระทบกับแผนการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ นับตั้งแต่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และพื้นที่นำร่องอื่นๆ ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากสหรัฐฯ ได้ประกาศยกระดับคำเตือนเดินทางมาไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดระดับ 4 เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 (“Do not travel”) โดยก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญมีแนวโน้มล่าช้าออกไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังประสบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน
กำลังโหลดความคิดเห็น