“นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์” เผยผลวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เดือนนี้ยอดผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง พร้อมแนะภาครัฐผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่ไม่จำเป็น
วันนี้ (24 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง โดยระบุข้อความว่า “ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงปัจจุบันเพียง 4 เดือนกว่าๆ
เริ่มจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ตามมาด้วยการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งพบครั้งแรกวันที่ 21 พ.ค. 2564 ในคนงานก่อสร้างหลักสี่ 15 รายติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
จากวันนั้นแค่ 3 เดือนกว่า สายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากถึง 1,037,923 ราย เสียชีวิตสะสม 9,468 ราย ผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ต่อวัน เริ่มลดลงต่ำกว่า 20,000 คน แต่ตายยังเกิน 200 รายต่อเนื่องไม่ลด
ดูย้อนหลังการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนที่แล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและกระจายไปทุกจังหวัด โดยวิเคราะห์ข้อมูลสถิติของการระบาดในประเทศอินเดีย สหราชอาณาจักร และไทยก่อนหน้านี้ รายงานของธนาคารกรุงศรีฯ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกนำไปอ้างอิง (ดูกราฟ) ระบุ 3 สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 14 ก.ค. 2564
1. สถานการณ์ดีที่สุดของประเทศไทย คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน
2. สถานการณ์ดีปานกลาง คาดการณ์ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงประมาณ 15,000 รายในช่วง ส.ค. ต่อ ก.ย. ก่อนจะลดลงเหลือ 1,000 คนในเดือน พ.ย.
3. สถานการณ์แย่ที่สุด คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงถึง 22,000 รายในช่วงปลายเดือน ส.ค.และต้นก.ย. แล้วจะค่อยๆ ลงมาในเดือนตุลาคม เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันโรคโควิดไม่เพียงพอ วัคซีนที่ได้มาประสิทธิภาพไม่สูงพอ ประกอบกับการล็อกดาวน์ได้ผลไม่มากนัก
ปรากฏว่าการคาดการณ์สถานการณ์ที่แย่ที่สุดของธนาคารกรุงศรีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ตรงกับสถานการณ์จริงปัจจุบัน
ปัจจุบันมีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 27 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 20 ล้านกว่าโดส เข็มสอง 6 ล้านโดส ถ้าเราเร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพฉีดให้คนไทยโดยเฉพาะคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งยังล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันอาจจะถึงจุดสูงสุดเดือนนี้ แล้วค่อยๆ ลงช้าๆ ตามกราฟของธนาคารกรุงศรีที่คาดการณ์ไว้น่าจะเป็นไปได้สูง
ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่จำเป็นหรือให้ประโยชน์น้อย รัฐควรผ่อนคลายได้ในไม่ช้า”