xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น CBG ยังวิ่งต่อถึงปี 65 ยอดขายจีน-พม่าหนุนกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาหุ้น “คาราวบาวกรุ๊ป” ยังแล่นฉิว ตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นดีดไม่ต่ำกว่า 30% ยิ่งใครเก็บช่วง พ.ค.รับกำไร 40% จากยอดขายพม่าและจีนพุ่ง ขณะในประเทศได้ธุรกิจขนส่งช่วยพยุงท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อเครื่องดื่มหลักหดตัว ประเมินทิศทางเติบโตต่อเนื่องกำไรมีลุ้นแตะ 4 พันล้านบาท ส่วนปีหน้าขยายตัวเพิ่มแตะ 5 พันล้านบาท

แม้กำไรจากราคาหุ้นอาจไม่เปรี้ยงปร้างเท่าใด แต่ใครที่ถือหุ้นของบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มาตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หรือเข้าสะสมหุ้นในช่วงต้น พ.ค. อย่างน้อยน่าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 30% แม้ตอนนี้ราคาหุ้นในตอนนี้อยู่ในทิศทางย่อตัวลงอีกครั้งก็ตาม

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ราคาหุ้น CBG ปิดที่ระดับ 116.00 บาทต่อหุ้น (4 ม.ค.) จากนั้นราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมาจนถึง 148.50 บาทต่อหุ้นในช่วงปลายเดือนเดียวกัน และเริ่มทยอยปรับตัวลดลงจนต่ำสุดที่ระดับ 109.50 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. จึงปรับตัวมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งจนราคาทะยานขึ้นไปปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 154.50 บาทต่อหุ้น (14 ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 38.50 บาทต่อหุ้น หรือ 33.18% และเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือน พ.ค. 45 บาทต่อหุ้น หรือ 41.09%

ต้องยอมรับว่า โบรกเกอร์หลายสำนักในช่วงต้นปีได้ยกให้หุ้น CBG เป็นหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุนอีกตัวหนึ่งในตลาดหุ้น และผลดำเนินงานของบริษัทก็ได้พิสูจน์ตัวเองออกมาเป็นที่ประจักษ์ ว่า แม้จะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่และรุนแรงที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายลง แต่ราคาหุ้น CBG ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างอุ่นใจ ด้วยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 14.50% จากราคาหุ้นล่าสุด (20 ส.ค.) ระดับ 130.50 บาทต่อหุ้น

โดยมุมมองของโบรกเกอร์ที่มีต่อหุ้น CBG ในช่วงต้นปี 2564 นั่นคือ ให้ราคาเป้าหมายที่ประมาณ 152.00 บาทต่อหุ้น P/E ปี 2564 ที่ 25.9 ไม่ถูกที่สุดในกลุ่ม แต่ถือว่าถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตของ CBG ที่ถูกซื้อขายที่ 35-40 เท่า และ CBG ที่มีเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน เพราะยังมีตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงอีกมาก โดยบริษัทยังคงคาดหวังรายได้ที่เติบโตแบบเลข 2 หลักต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าจากสินค้าใหม่ และตลาดใหม่

พร้อมกันนี้ ได้ประมาณการผลประกอบการ CBG ในปี 2564 ที่ระดับ 4.60 พันล้านบาท เติบโต 27% จากการฟื้นตัวของรายได้ในประเทศ และ CLMV รวมทั้งสินค้าใหม่ในกลุ่ม C+LOCK และกำลังศึกษาเครื่องบำรุงกำลังตัวใหม่อยู่ด้วย รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่โบกเกอร์ต่างให้ CBG ในเวลานั้นคือ การให้ความสำคัญมากขึ้นตลาดในประเทศพม่า โดยปัจจุบันยังเน้นขายที่เพียงย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากและรายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่าย และ OEM ขวดแก้วจะยังโตดี ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ขยายตัวด้วย เนื่องจากมีสินค้าแอลกอฮอล์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีเป็นสินค้ามูลค่าสูงทำให้กำไรดีและจะมีสินค้าตัวใหม่ในปีนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ในไตรมาส 1/64 บริษัทย่อย APM เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์กล่องกระดาษเพื่อใช้เองในกลุ่มได้จะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์สินค้าดูดีขึ้น และลดต้นทุนการผลิตหนุน GPM ขยายตัวต่อ นอกจากนี้ การลงทุนเครื่องจักรใหม่ยังได้ BOI ทำให้ Effective tax rate ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะต่ำกว่า 20%

ล่าสุด “คาราบาวกรุ๊ป” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าในไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทฯ จำนวน 967 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากไตรมาส 2 ปี 2563 หรือคิดเป็นอัตรากำไรที่ 19.4% ใกล้เคียงกับ 19.6% ในไตรมาส 2/63 และหากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการพิเศษ กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากไตรมาส 2/63 นับว่าเป็นกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่สูงที่สุดตั้งแต่บริษัทฯ ก่อตั้งมา โดยปัจจัยหลักของกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าที่บริษัทส่งออกไปขายยังต่างประเทศจนทำให้สัดส่วนรายได้จากการส่งออกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50%

ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 2/64 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 4.99 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากไตรมาส 2/63 โดยมีสาเหตุจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1.90 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ดำเนินการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นสัดส่วน 79% ของรายได้จากการขายรวม

ส่งผลให้ฐานะการเงินรวมของบริษัทฯ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 เมื่อเทียบกับสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 บริษัทมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.82 หมื่นล้านบาท จาก 1.70 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 898 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และจากที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 379 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเมื่อ มิ.ย.

ส่วนหนี้สินรวม ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 อยู่ที่ 8.41 พันล้านบาท จาก 6.92 พันล้านบาท เมื่อสิ้นปีก่อน เพิ่มขึ้น 1,482 ล้านบาท มาจากเงินกู้ยืมระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น 2.34 พันล้านบาท ในขณะที่หุ้นกู้ครบกำหนดชำระจึงลดลงไป 1.09 พันล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 9.80 พันล้านบาท ลดลง 349 ล้านบาท จาก 1.01 หมื่นล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางบริษัทฯ มีจ่ายปันผลรวมมูลค่า 1.5 พันล้านบาทให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ

“เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG แสดงความเห็นต่อทิศทางธุรกิจของ CBG ว่า บริษัทสามารถทำผลประกอบการได้ในระดับที่ดีในไตรมาส 2 และถ้านับเฉพาะกำไรจากผลการดำเนินงาน นับว่าเป็นสถิติสูงสุดรายไตรมาส โดย ตลาดต่างประเทศยังเติบโตได้ดี ทั้งกลุ่มประเทศ CLMV คือ ตลาดส่งออกเดิมที่เป็นฐานธุรกิจต่างประเทศขนาดใหญ่ และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศจีน มองว่าเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพเติบโตได้สูง เนื่องจากมีจำนวนประชากรสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ทำให้ในช่วงไตรมาส 2/64 ทางบริษัทมีรายได้จากการส่งออกไปประเทศจีนเติบโตถึง 210% จากไตรมาส 2/63 เนื่องจากแบรนด์คาราบาวเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้การเติบโตในประเทศจีนจะมีความโดดเด่นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแย่ลงในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจรองรับในหลายๆ Scenario เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่อาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนหลังจบช่วงไตรมาส 3/64

ทั้งนี้ ภาพรวมการออกสินค้าใหม่ ผู้บริหาร CBG ยอมรับว่าอาจจะต้องประเมินสถานการณ์ประกอบเพื่อออกสินค้าในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่คาดว่าครึ่งปีหลังเครื่องดื่มสุขภาพในกลุ่ม Functional Drink อย่าง วู้ดดี้ ซี+ล็อค น่าจะยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีความคาดหวังให้สถานการณ์ไตรมาส 4/64 จะดีขึ้นเมื่อมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาให้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย

“ปัจจุบันทุกธุรกิจในเครือ CBG และธุรกิจเกี่ยวข้องทางอ้อมมีการทำแผนบริหารธุรกิจ และแผนดำเนินงานเพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี”

สำหรับร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นธุรกิจที่ลงทุนโดยงบลงทุนส่วนตัว และผู้ถือหุ้นเดิมของ CBG ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเจ้าของร้านโชห่วยเข้าร่วมเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่เปิดให้บริการแล้ว 1,000 ร้านค้า ครอบคลุม 58 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมีเจ้าของร้านโชห่วยเข้าร่วมเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐานรอเปิดให้บริการอีก 1,000 ร้านค้าทั่วประเทศ จากปัจจุบันประเทศไทยมีร้านโชห่วยรวมประมาณ 450,000 ร้านค้า

โดยในครึ่งปีหลังของปี 2564 ตั้งเป้าหมายเปิดบริการร้านโชห่วยเข้าร่วมเป็น “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เพิ่มในไตรมาส 3/64 เฉลี่ย 1,000 ร้านค้าต่อเดือน และไตรมาส 4/64 เฉลี่ย 2,000 ร้านค้าต่อเดือน อีกทั้งตั้งเป้าหมายปี 2565 เปิดบริการร้านโชห่วยเข้าร่วม เพิ่มเป็น 30,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และปี 2567 เพิ่มเป็น 50,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งภาพรวมคาดว่าธุรกิจจะเริ่มมีกำไรได้ในระดับ 20,000 ร้านค้า

นอกจากนี้ ในปี 2565 มีแผนสร้างคลังสินค้าเอง 15 แห่ง งบลงทุนราว 3 พันล้านบาทต่อแห่งต่อ 2,500 ร้านค้า เปิดสำนักงานท้องถิ่นมากกว่า 60 แห่ง พร้อมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และซัปพลายเออร์ท้องถิ่น รวมถึงประโยชน์ด้านฐานข้อมูล (Data) เชิงลึกระดับชุมชน ที่ส่งผลบวกต่อซัปพลายเออร์ต่างๆ รวมถึงในเครือ CBG

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ประเมินแนวโน้มธุรกิจ CBG ว่า CBG ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ที่ 966 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 38% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นไปตามที่ตลาดคาด เนื่องจากยอดส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้จากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง และยอดขายในประเทศเติบโตจากการรับจ้างส่งสินค้าประเภทเหล้าเป็นหลัก

ทำให้มีรายได้อยู่ที่ 4.99 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและโตขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.47 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากรายได้กลุ่มเครื่องดื่มในประเทศอยู่ที่ 1.41 พันล้านบาท จากเครื่องดื่มพลังงานลดลงเล็กน้อยและเครื่องดื่ม functional drink “Woody C+Lock” ลดลงเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีฐานสูงจากการเพิ่งออกสินค้าใหม่ทำให้มีการสต๊อกสินค้าแต่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งธุรกิจรับจ้างส่งสินค้าผ่าน Cash Van เพิ่มขึ้น จากสินค้าประเภทเหล้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักอยู่ที่ 799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากกลุ่มสินค้าประเภทเหล้าที่ออกใหม่มากขึ้นและการเข้าถึงร้านค้าปลีกได้มากกว่า 180,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทยังมียอดขายส่งออกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและโตขึ้น 39% จากไตรมาสก่อนหน้า จากยอดขายประเทศพม่าที่เติบโตแรง เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการชะลอออเดอร์มาสั่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/64 ประกอบกับการขนส่งทางเรือแทนทางบกจากมาตรการภาครัฐในพม่าทำให้การขนส่งนานขึ้นจาก 1 สัปดาห์เป็น 3 สัปดาห์ ส่งผลให้มีการสต๊อกสินค้ามากขึ้น

สำหรับประเทศกัมพูชายอดขายลดลง YoY และ QoQ จากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนยอดเวียดนามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยอดขายจีน 488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและโตขึ้น 132% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้สัดส่วนรายได้ในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของรายได้รวมจาก 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ 5% จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะมีการขยายช่องทางจำหน่ายในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ลดลง อยู่ที่ 38.1% จาก 40.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ 38.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากในไตรมาส 2/64 บริษัทมีรายได้ในกลุ่มรับจ้างส่งสินค้าประเภทเหล้าที่เพิ่มขึ้นและมีมาร์จิ้นต่ำ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบจากกระป๋องอะลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้น

ทำให้ประมาณการกำไรในปี 2564 ที่ระดับ 3.81 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และขยายตัวเป็น 4.98 พันล้านบาทในปี 2565 โดยคาดส่งออกที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะประเทศพม่าจากเดิมที่ได้รับผลกระทบการรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศจีนยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว และยอดขายในประเทศจากการรับจ้างส่งสินค้าประเภทเหล้าที่เติบโต รวมไปถึงจากกการออกสินค้าใหม่ ในขณะที่บริษัทยังมีแผนควบคุมต้นทุนจากการปรับสูตรความหวานน้ำตาลลงในปีนี้ และเพิ่มสายการผลิต packaging ช่วยลดต้นทุน ทำให้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 169 บาท อ้างอิง P/E เฉลี่ยในอดีตของ CBG เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 34 เท่า โดยราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ P/E ที่ 28.2 เท่า

ขณะที่ บล.เคทีบีเอสที ให้ราคาเหมาะสม 181 บาทต่อหุ้น โดยคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ที่ระดับ 3.82 พันล้านบาท หนุนโดยรายได้รวมขยายตัว 11% จากรายได้ domestic branded own เพิ่มขึ้น 5% โดยรายได้เครื่องดื่มชูกำลังขยายตัว 4% และรับรู้รายได้จาก Woody C+Lock เต็มปี รวมไปถึงรายได้ distribution business ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 36% และรายได้จากต่างประเทศขยายตัว 9% จากรายได้จีน (เติบโต 100%) และพม่าที่เติบโตโดดเด่น อย่างไรก็ตาม GPM ลดลงอยู่ที่ 39.3% ลดลง YoY จาก GPM ของต่างประเทศปรับตัวลดลงจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และ 3) SG&A tototal sales ปรับตัวลดลงจากค่าใช้จ่าย sponsorship ที่ลดลง

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ยังไม่ได้รวมรายได้จากผลิตภัณฑ์ผสมกัญชงที่คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และผลกระทบเชิงบวกจากการปรับสูตรลดน้ำตาลในประมาณการซึ่งมีโอกาสปรับสูตรได้เร็วสุดในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมี cost saving ที่ 320-340 ล้านบาทต่อปี

สำหรับปี 2565 ประเมินกำไรสุทธิที่ 4.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% หนุนโดยรายได้รวมขยายตัว 17% จากรายได้ที่ขยายตัวในทุกธุรกิจ และ GPM ขยายตัวจากต้นทุน packaging ที่ลดลง และ utilization rate ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีราคาเหมาะสม 181 บาทต่อหุ้น อิง P/E 38 เท่า แม้กำไรปี 2564 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังทำสถิติสูงสุดใหม่ อีกทั้งยังเติบโตต่อเนื่อง 25% ในปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น