xs
xsm
sm
md
lg

คุมวอร์แรนต์...ก.ล.ต.ยังไม่เข้มพอ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากบริษัทจดทะเบียนออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์กันอย่างฟุ้งเฟ้อ หลายบริษัทออกไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงกำหนดมาตรการควบคุมการออกวอร์แรนต์ที่เข้มงวดมากขึ้น

ก.ล.ต.ออกหนังสือเวียนถึงบริษัทจดทะเบียน ขอให้คณะกรรมการบริษัทใช้ความระมัดระวังในการออกและเสนอขายวอร์แรนต์ โดยเปิดเผยข้อมูลลักษณะของวอร์แรนต์ เงื่อนการใช้สิทธิให้ชัดเจน ทั้งราคาเสนอขาย อายุ จำนวนที่เสนอขาย ราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ เหตุและเงื่อนไขการปรับสิทธิที่เป็นธรรม โดยเฉพาะผลกระทบต่อราคาหุ้น ส่วนแบ่งกำไรและสิทธิการออกเสียงของผู้ถือหุ้น

นอกจากนั้น ต้องระบุวัตถุประสงค์และแผนการใช้เงินในอนาคต สอดคล้องกับอายุวอร์แรนต์และช่วงเวลาการใช้สิทธิซื้อหุ้น รวมทั้งมูลค่าของวอร์แรนต์ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน

การออกวอร์แรนต์ที่ผ่านมามักมีเพียงข้อมูลจำนวนวอร์แรนต์ อายุ ราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญและอัตราการแปลงสภาพเท่านั้น แต่หลังจากนี้ บริษัทจดทะเบียนจะต้องระบุถึงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในการออกวอร์แรนต์ ต้องระบุมูลค่าที่แท้จริงของวอร์แรนต์ และผลกระทบของราคาหุ้น

บริษัทจดทะเบียนจะออกวอร์แรนต์เป็นว่าเล่น วันดีคืนดีก็ประกาศแจกวอร์แรนต์เพื่อปั่นราคาหุ้นกันง่ายเหมือนก่อนไม่ได้แล้ว เพราะจะต้องจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนตามมาตรการที่ ก.ล.ต.กำหนดใหม่ โดยเฉพาะแผนการใช้เงินจากการระดมทุนผ่านวอร์แรนต์

บริษัทจดทะเบียนที่ออกวอร์แรนต์ถี่ยิบถึง 7-8 รุ่น จะต้องชี้แจงให้ได้ว่าจะระดมทุนไปใช้อะไรกันนักกันหนา

อย่างไรก็ตาม มาตรการกำกับที่เข้มข้นขึ้นคงไม่อาจควบคุมการใช้วอร์แรนต์เป็นเครื่องมือในการปั่นราคาหุ้นได้

เพราะบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้น มีวิธีหลีกเลี่ยงกฎที่เข้มงวด และหาทางใช้วอร์แรนต์ปั่นราคาหุ้นต่อไป

วอร์แรนต์เป็นเครื่องมือวางแผนการเงินในอนาคต โดยบริษัทจดทะเบียนที่มีแผนการระดมทุนใน 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า จะออกวอร์แรนต์อายุ 2-3 ปี เมื่อผู้ถือวอร์แรนต์ใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ บริษัทจดทะเบียนจะได้รับเงินเพื่อนำไปใช้ตามแผนที่วางไว้

กว่า 30 ปีแล้วที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้บริษัทจดทะเบียนออกวอร์แรนต์ และบริษัทจดทะเบียนออกวอร์แรนต์รวมกันนับร้อยๆ รุ่น โดยบริษัทนับสิบบริษัทออกวอร์แรนต์ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 6-8 รุ่น

แต่วอร์แรนต์ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนไม่มีโอกาสใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ เพราะเมื่อสิ้นอายุ และจะต้องใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ราคาหุ้นในกระดานมักต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ นักลงทุนที่ถือวอร์แรนต์จึงจำเป็นต้องสละสิทธิการแปลงสภาพ

วอร์แรนต์ที่ออกมาแจกผู้ถือหุ้นฟรี และถือว่าต้นทุนเป็นศูนย์ สุดท้ายราคาก็กลับไปเป็นศูนย์ แต่ระหว่างทาง หรือระหว่างที่ยังมีอายุ วอร์แรนต์มีราคาซื้อขาย และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับจัดสรรวอร์แรนต์จำนวนมากอาจทยอยขายวอร์แรนต์ เก็บเงินใส่กระเป๋า

ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยที่ถือวอร์แรนต์หรือนักเก็งกำไร ต้องกำวอร์แรนต์ที่ไม่มีราคาติดมือ

เจตนารมณ์ที่ดีของวอร์แรนต์ถูกนำไปใช้ในทางชั่วร้าย โดยบริษัทจดทะเบียนใช้เป็นเครื่องมือปั่นราคาหุ้น สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในวงกว้าง ซึ่งการที่ ก.ล.ต.เพิ่มความเข้มงวดในการออกวอร์แรนต์ สะท้อนให้เห็นว่า ก.ล.ต.ตระหนักถึงผลกระทบจากวอร์แรนต์

แต่มาตรการที่ออกมายังไม่อาจควบคุมพฤติกรรมบริษัทจดทะเบียนที่จะใช้วอร์แรนต์ปั่นหุ้นได้ ไม่อาจปกป้องนักลงทุนจากความเสียหายของวอร์แรนต์

ก.ล.ต.อยู่ในวิสัยที่จะกำหนดมาตรการควบคุมที่เข้มข้นและเห็นผลได้ โดยกำหนดภายในเวลา 3-5 ปี ห้ามบริษัทจดทะเบียนออกวอร์แรนต์เกิน 2 รุ่น

เพราะไม่น่าจะมีเหตุจำเป็นใดที่บริษัทจดทะเบียนจะออกวอร์แรนตฺถี่ยิบภายในเวลาไม่กี่ปีอีกมาถึง 4-5 รุ่น นอกจากออกมาปั่นราคาหุ้นกันเท่านั้น

การตีกรอบเงื่อนเวลาเพื่อจำกัดการออกวอร์แรนต์เป็นการตัดเครื่องมือการปั่นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และช่วยลดหายนะของนักลงทุนจากวอร์แรนต์








กำลังโหลดความคิดเห็น