xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. คาด พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ 2% 'พักทรัพย์พักหนี้' บังคับใช้สัปดาห์นี้ ขยายยอดทะลุ 1 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมแบงก์รัฐ ผนึกกำลัง ธปท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถกหาทางรอดเอสเอ็มอี แบงก์ชาติ คาด พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ 2% เข้าโครงการ ‘พักทรัพย์พักหนี้’ มีผลบังคับใช้สัปดาห์นี้ ช่วยผลักดันให้ยอดทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่สมาพันธ์ SME ไทย พร้อมยกระดับความสามารถการแข่งขัน สมาชิกเพิ่มสัดส่วนส่งออก

วันนี้ (19 ก.ค.) นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวเปิดในงานสัมมนา “SMEs ไทยไปต่ออย่างไรด้วยกลไกความช่วยเหลือของ ธปท.-แบงก์รัฐ” โดยระบุว่า จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายระลอก ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบโดยตรง ถือว่าเวทีนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมดได้ร่วมมือกันในการช่วยกันหาทางออก โดยการช่วยเสริมสภาพคล่อง ซึ่ง ธปท. กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐทั้งหมด ถ้าต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถใช้เวทีในการซักถาม ทำความเข้าใจ และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปด้วยกัน

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า ที่ผ่านมา สถาบันการเงินของรัฐได้ร่วมดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ ด้านการพักชำระหนี้ ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง และผลกระทบที่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป ส่วนอีกด้าน คือ การเติมสภาพคล่องใหม่ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู หรือโครงการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ และพยุงการจ้างงาน

ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าร่วมเสวนาและหารือกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า เอสเอ็มอีบางแห่งยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ธปท.ได้เร่งประสานเรื่องดังกล่าวกับภาครัฐ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มกระบวนการสื่อสาร ข้อมูลให้ผู้ประกอบการและพนักงานในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ทำความเข้าใจเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SMEไทย เปิดเผยว่า ทางสมาพันธ์พร้อมที่จะสนับสนุนสมาชิก SME ทั่วประเทศให้มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้เพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มช่องทางการตลาด ขยายสัดส่วนของ SME ส่งออกให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 30,000 ราย หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ 5 ล้านราย เชื่อมโยงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน เป็นการยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ SME สามารถเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการในการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในเวลานี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการพักหนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู ทำให้ SME มีหลักประกันมากขึ้น และในอนาคต SME จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 14 ราย ยอดอนุมัติโครงการรวม 959 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ ธุรกิจสปา และโรงงานแปรรูป เป็นต้น โดยยอมรับว่าสาเหตุที่การขอเข้ามาตรการอาจน้อยเมื่อเทียบกับมาตรการอื่น เนื่องจากจะมีเรื่องของการโอนทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมมาตรการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามสถาบันการเงิน พบว่า ขณะนี้มีลูกหนี้ที่ได้ยื่นตีโอนทรัพย์มายังสถาบันการเงินรวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ทางสถาบันการเงินยังไม่ได้มีการยื่นขออนุมัติมายังธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากรอการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ ซึ่งได้มีการลงนามในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ 2% ของกระทรวงมหาดไทย และภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ ทั้งในตอนการรับโอนและขั้นตอนการซื้อทรัพย์คืน ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากกรมสรรพากร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ในสัปดาห์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น