ธปท.สถาบันการเงินไทย-ต่างประเทศ รวมทั้งนอนแบงก์ ร่วมออกมาตรการพักหนี้ 2 เดือน ช่วยลูกหนี้รับผลกระทบโควิด-19 และล็อกดาวน์ เร่งสินเชื่อฟื้นฟูกระจายกลุ่มเอสเอ็มอี รายย่อยกว่า 23,687 ราย วงเงิน 72,391ล้านบาท เฉลี่ยต่อราย 3.1 ล้านบาท พร้อมติดตามผลมาตรการอย่างใกล้ชิด แย้มจันทร์นี้เปิดตัวแอปรูปหน้ากากเพิ่มช่องทางลูกหนี้ขอความช่วยเหลือ
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ และนอนแบงก์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ จึงเห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุม และนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้จึงควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้าที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า
การพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นต่ำ สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้มากขึ้นตามความเหมาะสม ซึ่งลูกค้าสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป และวันจันทร์จะมีการเปิดแอปพลิเคชันเป็นรูปหน้ากาก เป็นช่องทางหนึ่งทำเฉพาะให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือได้ง่าย สะดวกขึ้น ส่วนช่องทางอื่นๆ ยังคงใช้ได้ตามปกติ
“มาตรการพักหนี้เป็ยเพียงระยะสั้นเร่งด่วนสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเบาภาระดอกเบี้ย เงินต้น และสถานะเครดิตยูโรยังปกติ แต่ระยะยาว ธปท.คาดหวังที่จะให้ลูกหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์ใหม่ ต้องมีการเพิ่มรายได้ ลดภาระลูกหนี้ รวมถึงรอผลจากการฉีดวัคซีนของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาครบวงจรและยั่งยืน” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโอนทรัพย์ชำระหนี้มีความคืบหน้ามาก ล่าสุด สินเชื่อฟื้นฟูปล่อยไปได้ 72,391 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 23,687 ราย เฉลี่ยต่อรายได้วงเงินสินเชื่อ3.1 ล้านบาท โดยเป็นการกระจายให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี และรายย่อย โดย 44.5% ของสินเชื่อทั้งหมดเป็นลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่ถึง 5 ล้านบาท และ 68.5% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ต่างจังหวัดภาคภูธร และ 67.6% เป็นลูกหนี้ธุรกิจพาณิชย์ ดังนั้น ในช่วง 6 เดือนนี้จะปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูได้ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท
วงเงิน 1 แสนล้านบาทที่ ธปท.ได้วางเป้าหมายไว้จะเป็นการกระจายสินเชื่อเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเดินต่อไปได้ เมื่อมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก การเปิดประเทศ ภาคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ลูกหนี้จะสามารถกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไวรัสโควิด-19 ชนิดต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป