ไนท์แฟรงค์ฯ ชี้โควิด-19 ส่งผลกระทบอสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรมปี 63 ชะลอตัว ไร้แววการฟื้นตัวไปหลังช่วงครึ่งปีหลัง เหตุการระบาดระลอกที่ 3 รุนแรงมากส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศและการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านนักลงทุนต่างชาติมองการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังเป็นเรื่องยาก ส่งผลให้โครงการลงทุนจากต่างชาติถูกระงับ คาดการณ์กิจกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจะยังจำกัดตลอดปี 64
นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การล็อกดาวน์ประเทศและข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อการยกเลิกและเลื่อนโครงการการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ นอกจานี้ การย้ายฐานโรงงานจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก ดังนั้น การฟื้นตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยคาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลกจะคลายตัวลง
ทั้งนี้ ภาคการผลิตของไทยร่วงต่ำลงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 79.52 จุดในเดือน พ.ค. กลับฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 97.61 จุดในเดือน ธ.ค. โดยการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นและมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
โดยลดลง 19.2% ปีต่อปี มูลค่ารวมอยู่ที่ 361 พันล้านบาท ซึ่งมูลค่าการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่อยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร 31% ตามมาด้วยภาคการบริการ 25% จำนวนโรงงานเปิดใหม่ในประเทศไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงไป 17% จากปี 62 นอกจากนี้ จำนวนโรงงานที่ขยายกิจการก็ลดลง 39% อยู่ที่ 690 แห่ง ในทางกลับกัน จำนวนโรงงานหยุดกิจการก็ลดลง 58% จำนวนอยู่ที่ 716 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขนาดของตลาดโรงงานยังค่อนข้างคงที่ เนื่องจากกิจกรรมที่มีอย่างจำกัด ทั้งการขยายตัวและการหดตัว
สำหรับที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในปี 63 มีที่ดินพร้อมขายหรือให้เช่าอยู่เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตขึ้น 3% หรือประมาณ 4,693 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 169,465 ไร่ การเติบโตในปี 63 แสดงถึงการเพิ่มขึ้นสูงสุดของซัปพลายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ดีมานด์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและบรรยากาศการลงทุนในประเทศและในทั่วโลกที่อึมครึมและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ในปี 63 มีจำนวนที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเพียง 1,645 ไร่ โดยสามารถขายหรือปล่อยเช่าปรับลดลง 29% จากปี 62 หากเปรียบเทียบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การขายหรือให้เช่าที่ดินอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,427 ไร่ต่อปี โดยเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของดีมานด์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด ซึ่งในปี 63 มีการขายหรือเช่าที่ดินจำนวน 1,227 ไร่ คิดเป็น 75% ของการทำธุรกรรมในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการทำธุรกรรมรวมก็ลดลงไป 30% ช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีการขายหรือเช่าที่ดินเพียง 418 ไร่ หากไม่รวมเขต EEC นอกจากนี้ ที่ต่างไปจากปกติคือเขตภาคเหนือที่มีการทำธุรกรรมด้านที่ดินค่อนข้างมาก โดยมีการขายหรือเช่ามากถึง 202 ไร่
นายมาร์คัส กล่าวว่า เนื่องจากซัปพลายใหม่มีมากกว่าปริมาณที่ดินรวมที่ขายได้หรือให้เช่า อัตราการครอบครองในตลาดจึงลดลงเหลือ 79% จากเดิม 81% เขตที่มีอัตราการครอบครองสูงสุดยังคงเป็นภาคกลาง อยู่ที่ 89% ลดลงไป 4% ในขณะที่อัตราการครอบครองที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดลดลง 0.5% อยู่ที่ 78% และภาคเหนือปรับเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากมีฐานซัปพลายต่ำและมีการซื้อขายที่ดินค่อนข้างมากในปี 63
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันยังชะลอตัวและการทำธุรกรรมต่างๆ ค่อนข้างซบเซา แต่ราคาขายเฉลี่ยสำหรับที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาขายเฉลี่ยของตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านบาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 5% หากเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นต่อปีในช่วง 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4% เขตอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นพื้นที่ที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 6% อยู่ที่ 6 ล้านบาทต่อไร่ ขณะที่ราคาขายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเขตภาคกลางก็เติบโตสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาขายทั้ง 2 พื้นที่เพิ่มขึ้น 5% และ 4% อยู่ที่ 9.4 ล้านบาท และ 4.8 ล้านบาทตามลำดับ