xs
xsm
sm
md
lg

GPSC รุกถือหุ้น 25% พลังงานลมในไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GPSC เข้าซื้อโครงการไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน 595MW มูลค่า 500 ล้านเหรียญ โดยเข้าถือหุ้น 25% เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอีก 149 เมกะวัตต์

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2564 ได้มีมติอนุมัติการยื่นข้อเสนอซื้อหุ้น ในบริษัท CI Changfang Limited และบริษัท CI Xidao Limited (บริษัทเป้าหมาย) จากกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมดร้อยละ 100 ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น (Share Purchase Agreement) กับ CI-II และ CI-III โดย GRSC หรือบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของบริษัทฯ จะเข้าลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 25 ในบริษัทเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะเสร็จสมบูรณ์ได้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions precedent) บางประการภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้น ได้แก่ การยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวัน เป็นต้น โดยคาดว่าการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการโอนหุ้นได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

บริษัทมีเป้าหมายเป็นผู้พัฒนาโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind) ในไต้หวัน โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจำนวน 595 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการ Changfang และ โครงการ Xidao ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า จำนวน 547 เมกะวัตต์ และ 48 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยโครงการ Changfang phase 1 จำนวน 96 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดดาเนินการในปี 2565 โครงการ Changfang phase 2 และ Xidao รวมจำนวน 499 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2566 และทุกโครงการจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ทั้งนี้ ไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะขายให้บริษัท Taiwan Power Company ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลไต้หวัน และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียวในไต้หวัน (Single Buyer) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี โดยมีการกาหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ในรูปแบบ Feed-in Tariff ตลอดอายุโครงการ จึงเป็นการสร้างความมั่นคงของกระแสเงินสดให้บริษัทฯ ในระยะยาว

การลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ ในการขยายกิจการด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ไต้หวันเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานลมนอกชายฝั่ง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดความร่วมมือจากการร่วมลงทุนกับ CI-II และ CI-III ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั่วโลก

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ GPSC จะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ และกระจายแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกให้มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ ยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในต่างประเทศ ที่จะสามารถสร้างโอกาสและขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ของธุรกิจในการเติบโตด้านพลังงานทดแทนในกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป

"ไต้หวันถือเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดในทุกประเภท จะเห็นจากอัตราการใช้พลังงานทางเลือกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กลุ่ม GPSC ตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าว และพร้อมที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อีกทางหนึ่ง การเข้าร่วมทุนครั้งนี้ ถือเป็นโครงการแรกที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งกับ CIP ซึ่งมีประสบการณ์สูงในด้านการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เปิดโอกาสให้บริษัทฯ ได้ขยายความเชี่ยวชาญในด้านองค์ความรู้การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงนวัตกรรมกังหันลมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย" นายวรวัฒน์ กล่าว

การลงทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวันต่อไป โดยหลังจากการซื้อขายหุ้น CI-II และ C-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น