xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยงกดดัน SET ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัส ระบุ 3 ปัจจัยสำคัญกดดันตลาดหุ้นไทยเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ทั้งการระบาดของโควิด-19 สายพันธ์เดลตา ที่คาดว่าจะพีกในเดือนนี้ เฟดเตรียมผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และกำไร บจ. Q2/64 ชะลอตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า แนะนำกลยุทธ์ลงทุนเดือน ก.ค. ต้องระวังมากขึ้น มอง SET Index จะผันผวน แนะนำถือครองเงินสด 20%

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า ได้ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.64 ว่า ในช่วง 2 เดือนนี้ จะมี 3 ประเด็นสำคัญที่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วย

1.การระบาดของ COVID-19 จากการแพร่สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) หลังจากยอดติดเชื้อล่าสุด (1 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อ 6,087 ราย ยังทำนิวไฮ โดย ASPS ประเมินว่า หากการระบาดของสายพันธุ์ Delta ในไทยคล้ายกับอินเดีย คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยจะทำจุดสูงสุด (Peak) ในช่วงประมาณราวสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือน ก.ค.64 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงจนใกล้เคียงระดับเดิมในวันที่ 7 ก.ย.64 อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือ เพิ่มขึ้น คาดจะเป็นแรงกดดันตลาดหุ้นไทย

2.การส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 66 ราว 2 ครั้ง ส่วนการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) หากอิงจากรูปแบบ (Pattern) การส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบก่อน (ปี 56-58) พบว่า นับตั้งแต่เฟดเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ครั้งแรก จนถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 เดือน และถ้ากำหนดให้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงในช่วงปลายปี 66 (ตามที่ส่งสัญญาณ) เมื่อนำมาคำนวณย้อนกลับ พบว่าเฟดควรจะส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบนี้ประมาณช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.64

สอดคล้องกับกำหนดการต่างๆ ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.64 ที่ตลาดคาดว่าเฟดจะสัญญาณ QE Tapering เพิ่มเติม เช่น การประชุม Fed ในวันที่ 27-28 ก.ค.64 การประชุม Jackson Hole Symposium ในวันที่ 26-28 ส.ค.64 เป็นต้น และ

3.กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด Q2/64 อาจชะลอตัว % QoQ ประเมินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน Q2/64 มีโอกาสชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จาก 2 เหตุผลหลัก คือ ฐานกำไรไตรมาส 1 ที่อยู่ระดับ 2.6 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 135%yoy, 45%qoq) และสูงกว่าที่ Consensus คาดถึง 38% ซึ่งไม่โดนกดดันจากประเด็นโควิด-19 ขณะที่ไตรมาส 2 นั้นถูกกดดันเต็มไตรมาส จากมาตการการแบ่งโซนสีไปนานกว่า 2.5 เดือน (ช่วงกลางเดือน เม.ย.-มิ.ย.64)

กำไรกลุ่มหลักๆ อย่างพลังงานที่อิงกับราคาน้ำมันดิบ คาดได้รับ Stock Gain ไม่มากเท่าไตรมาส 1 ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งแรง และกลุ่มธพ. ที่มีกำไร Q1/64 รวม 4.6 หมื่นล้านบาท (เติบโต 2%YoY, 45%QoQ) ดีกว่าคาดมาก ซึ่งใน Q2/64 น่าจะตั้งสำรองสูงขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน จึงทำให้ไม่น่าจะดูดีเท่างวด Q1/64

กลยุทธ์ลงทุน ก.ค. ถือเงินสด 20% เลือก BJC, GPSC และ MCS

สำหรับในเชิงของ Sentiment การลงทุนช่วง ก.ค. ต่อเนื่อง ส.ค. มีหลายด่านที่อาจสร้างแรงกดดัน และอาจทำให้ SET Index พักฐาน เริ่มจากสถานการณ์ Covid-19 ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของ ก.ค.64 น่าจะเป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดโดยน่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น New High ต่อเนื่องซึ่งจะเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขอย่างหนักและอาจเปิด Downsideให้ประมาณการ GDP รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียน

ด่านที่ 2 เป็นเรื่องแนวนโยบายการเงินของ Fed ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นการส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายที่แรงขึ้นช่วงเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. และด่านที่ 3 เป็นเรื่องของกำไรงวด 2Q64

โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักน่าจะมีฐานกำไรที่ลดลงจาก 1Q64 การกำหนดกลยุทธ์ลงทุนช่วงเดือน ก.ค. ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น โดย SET Index น่าจะผันผวน แนะนำถือครองเงินสด 20% วันนี้ไม่มีการปรับพอร์ตจำลอง หุ้น Top Pick เลือก BJC, GPSC และ MCS


กำลังโหลดความคิดเห็น