มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่คุมโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ กดตลาดหุ้นซึม คาดไตรมาส 3 มีโอกาสติดลบ ขณะประเมินหุ้น 4 กลุ่มหลัก ร้านอาหาร ค้าปลีก รับเหมา อสังหาฯ รับผลกระทบ และรับเหมาก่อสร้างเสี่ยงถูกหั่นกำไรปีนี้ สวนทางแพกเกจจิ้งรับผลบวกจากการสั่งอาหารกลับบ้านและเดลิเวอรี
หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 62 และยังไม่มีวี่แววจะยุติ อีกทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซ้ำร้ายยังระบาดหนักหลายระลอก กระทั่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อวันละไม่ต่ำกว่า 3 พันรายและในที่สุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศสั่งยกระดับคุมเข้มกึ่งล็อกดาวน์อีกรอบ บังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลรวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีผลบังคับใช้วันนี้ 28 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นผลจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกประกาศคำสั่งที่ 25 ให้ล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างใน 10 จังหวัด เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างทั้งหมดใน 10 จังหวัดต้องหยุดตามประกาศไปก่อนเป็นเวลา 30 วัน ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เมื่อวันดังกล่าวทั้งสิ้น 5,406 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 249,853 ราย
จากมาตรการดังกล่าวย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ซึ่งทำให้โบรกเกอร์ประเมินมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ 10 จังหวัดคุมโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ 1.52% กดตลาดหุ้นชะลอคาดไตรมาส 3/64 มีโอกาสติดลบ ก่อนฟื้นตัวในไตรมาส 4/63 ขณะที่ประเมินหุ้น 4 กลุ่มหลักร้านอาหาร ค้าปลีก รับเหมา อสังหาฯ กระทบมากน้อยต่างกัน โดยเฉพาะรับเหมาก่อสร้างอาจเสี่ยงถูกหั่นกำไรปีนี้ ส่วนอสังหาฯ เชื่อยังโอนโครงการปีนี้ได้ตามเป้าหมาย เหตุผู้ประกอบการปรับแผน เน้นระบายสต๊อกแทนโครงการใหม่ที่ แต่ค้าปลีกได้รับผลกระทบน้อยสุด
เศรษฐกิจซึม-ตลาดหุ้นชะลอ
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส หรือ ASPS เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่าการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่มาตรการควบคุมการระบาดชุดใหม่ ในพื้นที่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 ถึง 27 ก.ค.64 (30 วัน) เน้นไปที่ปิดสถานที่พักแรงงานก่อสร้าง ร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการสั่งกลับบ้านเท่านั้น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า Community mall เปิดได้ไม่เกิน 21.00 และงดจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน
โดย ASPS ประเมินผลกระทบเป็น 2 ส่วน คือคาดจะทำให้อนาคตน่าจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ แต่ในช่วงไตรมาส 3 ปี2564 จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้น และสร้าง Downside คือ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ชะลอตัวลง และส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวดไตรมาส 3 เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ และคนละครึ่งเฟส 3 มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง เพราะช่องทางการใช้จ่ายของประชนจะถูกจำกัดมากขึ้น และอาจการเพิ่มความท้าทายต่อแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐได้เช่นกัน
เนื่องจาก 10 จังหวัดที่ล็อกดาวน์ข้างต้นมีสัดส่วน GDP รวมกันราว 49.2% ของทั้งประเทศ เบื้องต้น พบว่าการล็อกดาวน์จะกระทบต่อ GDP รวมทั้งประเทศประมาณ 1.52% คาดว่าจะส่งผลให้ GDP ไทย ช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ชะลอตัวลง และมีโอกาสติดลบทั้งเทียบไตรมาสและงวดปี ก่อนที่จะไปฟื้นในไตรมาส 4 เพราะฐานไตรมาส 3 ปี 2563 ค่อนข้างสูง แต่ เชื่อว่า GDP น่าจะไม่ชะลอไปมากเท่าปี 2563 เนื่องจากปีนี้ภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้น ธปท.คาดขยายตัวทั้งปี 2564 ที่ 17% อาจมาช่วยหักล้างการชะลอตัวลงของ GDP ปี2564 ได้ในบางส่วน
ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยคาดมีโอกาสปรับฐาน รวมถึงกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบ โดยหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม 10 จังหวัด ตั้งแต่ 28 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มห้างสรรพสินค้า กลุ่มค้าปลีก
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เผยว่า หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการควบคุม 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 1 เดือน คือ กลุ่มถุงพลาสติก ประเมินจะได้ประโยชน์จากมาตรการไม่ให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน คือบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ถือเป็นบวกต่อบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งมีรายได้จาก Food Packaging ราว 4% รวมทั้ง บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS และ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG
อีกทั้งกลุ่มโรงพยาบาล ประเมินได้ปัจจัยบวกจากการให้บริการตรวจ และรักษาโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากขึ้น คือ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH ราคาเป้าหมาย 20.10 บาท บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG ราคาเป้าหมาย 3.14 บาท บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS ราคาเป้าหมาย IAA Consensus target price 25.15 บาท และธุรกิจเกม อย่าง บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AS ราคาเป้าหมาย 15 บาท ประเมินได้ปัจจัยบวกจากประชาชนอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน โดยเฉพาะวัยรุ่น คาดจะเล่นเกมมือถือ และ Computer มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มการเติบโตอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ โดยเฉพาะเกมบนมือถือมีการเติบโตชัดเจน และหุ้น AS มีทิศทางกำไรเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่มีเกมเปิดใหม่
หุ้นรับเหมาฯ อ่วม เล็งหั่นกำไรกลุ่ม
นอกจากนี้ ASPS ระบุว่า คำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างใน กทม. และปริมณฑล 1 เดือน ส่งผลลบโดยตรงต่อทั้งผู้รับเหมารายใหญ่อย่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD บมจ.ช.การช่าง หรือ CK บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ รายกลางอย่าง บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ หรือ NWR บมจ.เท็ค คอนสตรัคชั่น หรือ SYNTEC บมจ.พรีบิลท์ หรือ PREB และผู้รับเหมาเสาเข็มอย่าง บมจ.ซีฟโก้ หรือ SEAFCO และ บมจ.ไพลอน หรือ PYLON ถือเป็นปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล็กเส้นราคาแพงที่กำลังเผชิญอยู่ และยังมีผลต่อเนื่องไปตลอด Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรวมถึงผู้ว่าจ้างที่เป็นเจ้าของโครงการ แต่จะไม่กระทบต่อบริษัทรับเหมาอย่าง บมจ.ทีทีซีแอล หรือ TTCL บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ หรือ STPI บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี หรือ BJCHI บมจ. ศรีราชาคอนสตรัคชั่น หรือ SRICHA และ บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ หรือ SQ ที่ทำงานอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบเป็น 2 ส่วนหลัก คือผลกระทบด้านรายได้จะเกิดขึ้นทันทีช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยบริษัทที่มี Backlog ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล สัดส่วนสูงกว่าก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า พบว่า CK SYNTEC จะได้รับผลกระทบสูงที่สุด เนื่องจากงานในมือปัจจุบันมากกว่า 80-90% อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมไปถึงผู้รับเหมาเสาเข็มอย่าง SEAFCO และ PYLON ที่งานเกือบทั้งหมดก็อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
ขณะที่ NWR ได้รับผลกระทบสูงรองลงมา โดยมีสัดส่วน Backlog ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 66% ส่วน STEC และ ITD ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพราะมีสัดส่วน Backlog ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 47% และ 17% ตามลำดับ
อีกทั้งผลกระทบด้านต้นทุนเกิดจากความล่าช้าในงานก่อสร้าง แม้บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาจได้รับการขยายเวลางานก่อสร้างจากผู้ว่าจ้าง แต่จะไม่ได้รับเงินชดเชยที่เกิดจากระยะเวลาการก่อสร้างที่นานขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา Cost Overrun จากการต้องทบทวนประมาณการต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มี Net Profit margin เฉลี่ยต่ำมากอย่าง ITD และ NWR จะมีความสามารถในการรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มได้ต่ำกว่า CK และ STEC
ดังนั้น ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งด้านรายได้และอัตรากำไร หากต้องหยุดธุรกิจเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน มีความเสี่ยงสูงที่ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ ลง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด แต่สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น แนะนำ ซื้อ STEC ที่มีพื้นฐานมั่นคงที่สุดในบรรดาบริษัทรับเหมารายใหญ่
กลุ่มร้านอาหาร-หุ้นอสังหาฯ รับผลหนัก
บล. เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่า ได้มีมุมมองเป็นลบต่อประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ต้องมีการปิดไม่ให้นั่งในร้านได้ ทำได้แค่เพียงสั่งกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ธุรกิจอาหารที่จะหายไป คาด บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารในปี 62 อยู่ที่ 58% รองลงมาเป็น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหาร 20% ขณะห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึง 21.00 น. จากเดิมที่กำหนดไว้ 22.00 น. คาดกระทบต่อการไปเดินจับจ่ายใช้สอย และได้รับผลจากร้านอาหารที่ไม่มีให้นั่งกินในร้านด้วย ทำให้คาดว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN จะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้และจะต้องพิจารณาลดค่าเช่าเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแนะนำทยอยเข้า “ซื้อ” เมื่ออ่อนตัว โดยได้ทำกรณี worst case scenario (ประเมินผลกระทบแย่สุด) หากธุรกิจอาหารขายไม่ได้เลยเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า CENTEL จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานมากที่สุดถึง 6.4% รองลงมาเป็น MINT ที่ 0.7% แต่ ธุรกิจอาหารยังคงสามารถขายผ่าน delivery ได้ ทำให้มองว่าผลกระทบจะน้อยกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ KTBST ระบุมี มุมมมองเป็นลบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาฯ เช่นเดียวกับกลุ่มร้านอาหาร และรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า ทั้งในส่วนของบ้านแนวราบ และคอนโด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก และนั่นจะทำให้ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนรายได้จากคอนโดและมีการโอนในครึ่งปีหลัง 64 อาจได้รับผลกระทบมากสุด หากการก่อสร้างช้ากว่าแผนทั้ง บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง หรือ PSH บมจ.ศุภาลัย หรือ SPALI และ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN ตามลำดับ ส่วน บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN และ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH ไม่มีคอนโดใหม่แล้วเสร็จปีนี้
ทั้งนี้ ประเมินว่า หากต้องหยุดก่อสร้างราว 30 วัน ผลกระทบไม่มาก และเชื่อว่าส่วนใหญ่จะยังโอนได้ตามแผน แต่หากมีการหยุดก่อสร้างนานออกไปอาจกระทบต่อการโอนในปี 64-65 ได้ สำหรับโครงการแนวราบระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งหากหยุดก่อสร้างราว 30 วัน จะกระทบไม่มาก เนื่องจากมีโอกาสกลับมาเร่งก่อสร้างชดเชยได้ทัน แต่หากมีการหยุดก่อสร้างนานออกไปจะเริ่มมีผลกระทบต่อการโอนโครงการแนวราบปีนี้ได้
โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้จากแนวราบมากสุดคือ QH, PSH, SPALI ตามลำดับ ดังนั้นสำหรับกลุ่มอสังหาฯ ปัจจัยดังกล่าวจะเป็น sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ยังให้น้ำหนักการลงทุนเป็น neutral สำหรับหุ้น top pick อย่าง บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI และ SPALI จากกำไรปี 64 ที่จะเติบโตโดดเด่นสุด โดยมีจุดเด่นจาก backlog ที่มากและเชื่อว่าจะยังโอนโครงการปีนี้ได้ตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน การปิดแคมป์คนงานและหยุดงานก่อสร้างในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล อย่างน้อย 30 วัน มีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่ม Construction Services ซึ่งจะกระทบประมาณการกำไรสุทธิปี 64 โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยทั้ง SEAFCO -8%, CK -6%, PYLON -6%, STEC -4%, และ RT -2% เนื่องจาก SEAFCO, CK, และ PYLON ปัจจุบันมีสัดส่วน backlog ในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 90% ขณะที่ STEC มีราว 50% และ RT เพียง 25%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาชดเชย เช่น การชดเชยแรงงาน รวมถึงการขยายเวลาการก่อสร้างในภายหลัง ขณะที่มองว่าการหยุดงานก่อสร้างเป็นปัจจัยชั่วคราวและเป็นเพียงการเลื่อนรับรู้รายได้ และคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทยอยคลี่คลายขึ้นใน H2/64 ตามการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คาดปัจจัยดังกล่าวจะเป็น sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น
ทั้งนี้ คงน้ำหนัก Overweight กลุ่ม Construction Services สำหรับ Top pick อย่าง CK แม้ธุรกิจก่อสร้างของบริษัทมีปัจจัยกดดันระยะสั้นจากคำสั่งหยุดงานก่อสร้างชั่วคราว แต่ยังเชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานโดยรวมปี 2564 จะยังเห็นการฟื้นตัวสูง โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากบริษัทร่วม CKP ขณะที่มองว่าบริษัทเป็นตัวเก็งอันดับต้นในการประมูลสายสีม่วงใต้ คาดจะเริ่มเปิดขายซองเดือน ก.ค.นี้
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มองว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้างได้รับผลกระทบจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและหยุดก่อสร้าง 1 เดือน จะทำให้โครงการล่าช้าออกไป โดยประเมินว่าจะกระทบกำไรลงประมาณ 5-10% เนื่องจากรายได้ก่อสร้างหายไป และมาร์จิ้นลดลง เพราะยังมีต้นทุนคงที่ ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างปรับตัวลง ขณะที่ภาครัฐจะมีการเยียวยาค่าแรง 50% และน่าจะขยายเวลาสัญญางานก่อสร้างออกไป เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้รับเหมา แต่ผู้รับเหมาจะเร่งงานก่อสร้างได้ มองว่าหากราคาลงไปลึก แนะนำลงทุนหุ้น CK และ STEC
จากข้อมูลข้างต้น ตามที่มาตรการรัฐออกมานั้นจะมีทั้งผลบวกและผลลบต่อหุ้นในหลายๆ กลุ่มแตกต่างกันไป และต้องดูตามต่อไปว่าจะหยุดยั้งหรือสกัดโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่ไวรัสตัวนี้เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วกระทั่งการดำรงชีวิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกฝืดและการขับเคลื่อนให้เป็นไปเหมือนเก่าก่อนนั้นยากยิ่ง ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจก็รับผลกระทบถ้วนหน้าอย่างยากหลีกเลี่ยง