KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจไพรเวทแบงก์จากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Sharp Turns or Bumpy Bends: From Crisis to Recovery”เจาะลึกแนวโน้มและความร้อนแรงของเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า KBank Private Banking และ Lombard Odier ยังคงมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะยังเติบโตได้ดี หนุนโดยการเร่งฉีดวัคซีน การเดินหน้าเปิดเมือง รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ยังผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่เป็นในรูปแบบหักศอกหรือตัววี มาเป็นเส้นกราฟการฟื้นตัวที่มีความขรุขระมากขึ้น นำโดยการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศยุโรป และตลาดเกิดใหม่หากมีการกระจายวัคซีนโควิด 19 เป็นไปอย่างดี และมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี
"จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาคและแต่ละธุรกิจ ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นสหรัฐฯและจีนที่สูงมากในปีก่อนจะลดความร้อนแรงลง ขณะที่ตลาดยุโรป และตลาดเกิดใหม่ที่โดนผลกระทบรุนแรงในปีก่อนจะเป็นที่น่าสนใจมากกว่า ชณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังมีไม่ว่าจะเป็นการกระจายวัคซีนที่อาจจะมีแนวโน้มที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแม้กระทั่งในสหรัฐฯ รวมถึงการกลายพันธุ์ของโควิดฯ รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงทั่วโลกขึ้นหากไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวก็จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อทั่วโลกได้ และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปหากสถานการณ์โควิดฯผ่านไป"
ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director - Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความกังวลในประเด็นของเศรษฐกิจที่เติบโตจนร้อนแรงเกินไป ทำให้ต้องถอนมาตรการทางการคลังและการเงินเร็วเกินกว่าที่ตลาดคาดนั้น หากพิจารณาส่วนประกอบที่เร่งตัวขึ้นยังไม่น่ากังวล และจะไม่ยืดเยื้อในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนสินค้าที่ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น จากการที่ความต้องการโลกฟื้นตัว ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯที่เร่งขึ้นมาจากฐานต่ำ เช่น ราคาน้ำมัน รถมือสอง และตั๋วเครื่องบิน และเร่งขึ้นจากบางสินค้าเท่านั้น ส่วนประกอบสำคัญอย่างค่าเช่าบ้านยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินเฟ้อประเทศอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับไม่น่ากังวล
สำหรับมุมมองของธนาคารต่อการดำเนินนโยบายของเฟดคือเริ่มส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ระหว่างเดือนสิงหาคมในการประชุมที่ Jackson Hole จนถึงปลายปีนี้ และเริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงธันวาคม 2565 เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกกลางปี 2566 โดยการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ถือว่ามีโอกาสสูง และอยู่ในวิสัยที่เหมาะสม
นายตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director - Private Banking Business Head กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารแนะนำกลยุทธ์การลงทุนสำหรับช่วงครึ่งปีหลังโดยหลักๆ ยังคงให้น้ำหนักลงทุนต่อเนื่องในสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีในปีนี้ จะช่วยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงหุ้นกลุ่มวัฏจักร และ Value ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยเฉพาะในหุ้นยุโรปและหุ้นอังกฤษ มีระดับ Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และหุ้นโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนโดดเด่น หนุนโดยแผนการฟื้นฟูของสหรัฐฯ และยุโรป ขณะเดียวกัน แนะนำลดการลงทุนในทองคำที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ ราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และพันธบัตรรัฐบาลที่จะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
"ในการลงทุนภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และแนวโน้มดอกเบี้ยโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว เราจะให้น้ำหนักการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หุ้นยุโรป หุ้นที่โตตามวัฏจักรเศรษฐกิจ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทที่มีความยั่งยืน แล้วก็ลดน้ำหนักทองคำ แต่สิ่งที่ยังต้องให้ความสำคัญต่อเนื่องก็คือการกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการประกันความเสี่ยงต่างๆ การลงทุนหุ้นรอบนอก หรือการทำ Carry Trade ซึ่งสิ่งต่างเหล่านี้ควรต้องมีผู้จัดการกองทุนเข้ามาดูแลเพื่อบริหารจัดการทั้งด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดีในอนาคต"
ส่วนการลงทุนในตลาดคริปโต เคอเรนซีนั้น นายจิรวัฒน์กล่าวว่า ตลาดคริปโตนั้นเรามองว่ายังมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละประเทศ ขณะที่การลงของเหรีึบิคอยน์นั้น ธนาคารไม่ได้มีการส่งเสริมหรือขัดขวาง หากลูกค้าต้องการลงทุน แต่ก็ได้เตือนลูกค้ามาตลอดเพราะเรามองว่าบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่มีการราคาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอันเกิดจากการเก็งกำไรโดยไม่มีมูลค่าสนับสนุน และหากลูกค้าต้องการลงทุนก็ไม่ควรมีเกิน 5%ของพอร์ต