xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ชูคีย์ซัคเซสดันยอดขาย โฟกัส "นวัตกรรมบ้านที่เข้าใจชีวิต"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คงไม่มีใครจะตอบได้ชัดเจนว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และในประเทศไทยจะสิ้นสุดลงปีไหน และการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็อาจไม่ใช่ 'ยาวิเศษ' ที่จะคุมและหยุดโควิด-19 ได้อย่างถาวร แต่ที่แน่นอน ผลกระทบจากโรคได้เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และสร้างมาตรฐานการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะต้องปรับวิธีคิด กระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการที่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงอายุวัยได้อย่างรวดเร็ว และทันกับสถานการณ์

เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการ "ที่อยู่อาศัย" ที่ผู้ประกอบการและทีมงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในองค์กรต้องรู้ลึกถึงดีมานด์ของลูกค้า คนซื้อในแต่ละโลเกชันก็มีระดับความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ต่างกัน ดังนั้น นอกเหนือจากทำเลแล้ว หากสามารถดึงแบบมาสร้างบ้านโดนใจลูกค้าจะยิ่งสร้างความ "ต่าง" ของสินค้า จนนำไปสู่ผลสำเร็จ ลูกค้า walk in โครงการ เพิ่มยอดขาย และสร้างความประทับใจให้ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว


บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) แบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของนวัตกรรมในการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย จนสร้างการเติบโตในธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา หลากหลายทำเล รวมมูลค่า 1 แสนล้านบาท รองรับความต้องการซื้อของลูกค้า

แต่องค์กรใหญ่อย่างพฤกษา ก็ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการอยู่อาศัยของลูกบ้าน ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 พฤกษาได้ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า

ล่าสุด พฤกษามองเห็นว่า Lifestyle Disruption จะเป็น 1 ใน 3 เมกะเทรนด์ที่จะมีผลต่อการอยู่อาศัย โดยพฤกษาได้รองรับสิ่งที่กำลังขึ้น โดยนำข้อมูลอินไซด์ของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านนำมาประยุกต์และต่อยอดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง คือ การประกาศเปิดตัวนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ครั้งแรกกับ "Pruksa Flex" นวัตกรรมการอยู่อาศัยเพื่อชีวิตในวันพรุ่งนี้ที่ดี เพื่อให้ลูกค้าเลือกย้ายผนังกั้นห้องภายในบ้านได้ตามใจ จะแตกต่างกับรูปแบบเดิมที่การดีไซน์ ฟังก์ชันต่างๆ ภายในตัวบ้านจะตายตัว ซึ่งนวัตกรรมนี้เกิดจากการออกแบบโครงสร้างวิศวกรรม ไม่ต้องใช้กำแพงช่วยรับน้ำหนัก ทำให้ผนังกั้นห้องสามารถเปลี่ยนจุดเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการ กำแพงนี้ยังเจาะได้ตามปกติ และใส่ฉนวนกันเสียง


แต่สิ่งสำคัญ ลูกค้าต้องสินใจตั้งแต่ตอนซื้อบ้าน เพื่อให้ทางโครงการดำเนินการกั้นห้องให้ตามต้องการ เรียกว่า เป็นการตอบโจทย์ให้สมาชิกภายในบ้าน ซึ่งห้องที่เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างกัน โครงการนำร่องที่เหมาะสมจะเป็นรูปแบบโครงการทาวน์เฮาส์แบรนด์ 'บ้านพฤกษา' ทำเลประชาอุทิศและรังสิตเริ่มภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน พฤกษายังสามารถเสริมสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่ามากขึ้น โดยการรองรับเทรนด์สุขภาพผ่านธุรกิจใหม่ในเครือ โรงพยาบาลวิมุต ในการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการเข้ารับบริการสำหรับลูกบ้านพฤกษาโดยเฉพาะ การก่อสร้าง ViMUT Health Care Center ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ จะเป็นศูนย์สุขภาพที่ประกอบไปด้วยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และคลินิกดูแลประชาชน เพื่อให้บริการลูกบ้านในโซน Pruksa Avenue ตลอดจนถึงการนำแนวคิดด้านสุขภาพเสริมเข้าไปในการออกแบบบ้าน และพื้นที่ส่วนกลางของโครงการต่างๆ เช่น โครงการพาทิโอ รัชโยธิน และโครงการระดับลักชัวรีอย่าง เดอะ ปาล์ม เป็นต้น

นางพิมพรรณ ปรีชานนท์
เอพีชี้ "คีย์โฟกัส" ลูกค้าตัดสินใจซื้อบ้าน

นางพิมพรรณ ปรีชานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารแบรนด์และพัฒนาสินค้าบ้านเดี่ยว บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่เอพี ทำความเข้าใจและอินไซด์ของลูกค้าผ่านกระบวนการ Design Thinking ภายใต้โจทย์ 'บ้านที่มากกว่าบ้าน' โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และการ Work from Home (WfH) นั้น ลูกบ้านให้ความสำคัญกับสเปซฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยแบบ 365 วัน เอื้อต่อการทำกิจกรรมในครอบครัว รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยนวัตกรรมและเทคโลยี ซึ่งกับแนวคิดการออกแบบบ้านของเอพี ที่บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นบ้านเพียงหนึ่งเดียวในตลาดที่จะเติมเต็มพลังชีวิตให้ผู้อาศัย ตามพันธกิจใหญ่ขององค์กรคือ ‘EMPOWER LIVING’ มุ่งส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่ลูกค้าสามารถเลือกได้

ซึ่งเทรนด์ติดบ้านที่เกิดขึ้นนี้เอง ส่งผลให้ดีมานด์บ้านเดี่ยวเอพีแรงไม่ตก สะท้อนจากยอดลูกค้าเยี่ยมชมบ้านเดี่ยวเอพีเฉลี่ยที่ 1,500 ครอบครัว/เดือน และล่าสุดสามารถสร้างยอดขายบ้านเดี่ยว 5 เดือนแรกไปแล้ว 7,800 ล้านบาท โดยคำตอบแรกที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อ นอกจากความเชื่อมั่นในแบรนด์บ้านเดี่ยวเครือเอพีแล้ว คือ การออกแบบฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของทุกคนในครอบครัว พื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าและแพกเกจราคาที่คุ้มค่าจับต้องได้จริงเหนือคู่แข่ง

สำหรับเทรนด์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า HOMEBODY หรือเทรนด์ติดบ้านที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ที่สมาชิกในครอบครัวคุ้นชินกับการทำทุกกิจกรรมในบ้าน ซึ่งจุดต่างที่เอพีนำเสนอและใช้เป็นแกนในการออกแบบบ้าน คือ


1.โมเดลบ้านที่ดีที่สุด คิดจากอินไซด์จริงเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้อาศัย เช่น แปลนบ้านหน้ากว้างที่สามารถเพิ่มมุม Work from Home หรือเรียนออนไลน์พร้อมรับแสงธรรมชาติ การออกแบบห้องนอนพร้อมระเบียงที่กว้าง เพิ่มมุมพักผ่อนปลูกต้นไม้ใหญ่ได้จริง หรือพื้นที่สวนข้างบ้านขนาดพอดี สำหรับทำสวน พร้อมบ้านหลังเล็กสำหรับสัตว์เลี้ยงของครอบครัว เป็นต้น

และ 2.นวัตกรรมบ้านที่เข้าใจชีวิต ที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการออกแบบพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ส่วนรวมภายในบ้านหนึ่งหลัง ที่มีรายละเอียดการออกแบบที่ตอบโจทย์ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ตลอดจนฟังก์ชันส่วนกลาง พื้นที่สีเขียวในโครงการ


โดยพบว่า "คีย์โฟกัส" ในการตัดสินใจซื้อบ้านเดี่ยวของลูกค้าในเวลานี้ที่ไม่ได้มองหาความหรูหราของดีไซน์ แต่เน้นความสำคัญกับสเปซฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของครอบครัว เช่น หากครอบครัวใหญ่จะมีโจทย์การใช้งานพื้นที่ ทั้งพื้นที่ส่วนรวมสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน และต้องมีพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวที่เป็นสัดส่วน รวมถึงพื้นที่ที่ตอบกิจกรรมพิเศษ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุและเด็กๆ เชฟจำเป็นที่รังสรรค์อาหารจานเด็ดให้สมาชิกในครอบครัว ซึ่งหลายบ้านพบว่า ฟังก์ชันพื้นที่ในครัว ครัวไทย ครัวฝรั่ง เริ่มเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งใหม่ของครอบครัว ถ้าสมาชิกไม่ 2-3 คน จะมองหาบ้านที่มีสเปซฟังก์ชันที่พอเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในวันนี้ และต้องมีพื้นที่ที่ยืดหยุ่น พอที่ให้สามารถขยับขยายในอนาคตได้เช่นกัน

"ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงวนเวียนอยู่ และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ โจทย์สำคัญในการพัฒนาบ้านเดี่ยวเครือเอพี ที่เป็นคีย์ซัสเซสของเรา คือ นวัตกรรมบ้านที่เข้าใจชีวิต ที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการออกแบบพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ส่วนรวมภายในบ้านหนึ่งหลัง ที่มีรายละเอียดการออกแบบที่ต้องตอบโจทย์ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ตลอดจนฟังก์ชันส่วนกลาง พื้นที่สีเขียวในโครงการ ขณะที่บ้านเดี่ยวเครือเอพี เรามีการเลือกโลเกชันและและแพกเกจราคาที่จับต้องได้จริงเหนือคู่แข่ง ผ่านการส่งมอบสเปซที่คุ้มค่า"

สำหรับการต่อยอดการบริการให้กับลูกค้าเอพีนั้น จะเป็นในส่วนของการเป็นผู้ช่วยที่ส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตประจำวันของลูกบ้านมีความคล่องตัว และสะดวกสบายสูงสุด ผ่าน SMART WORLD แพลตฟอร์ม เช่น ในช่วง WfH ลูกบ้านสามารถเข้าร่วมกิจกรรมผ่าน HAPPINESS COMMUNITY ด้วยการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันเรื่องราวดีๆ พร้อมร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ และฟีเจอร์ Marketplace ศูนย์กลางซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ระหว่างลูกบ้าน หรือฟังก์ชัน SMART LIFE ช่วยจัดการและแจ้งเตือนทุกเรื่องภายในบ้าน พร้อมเชื่อมต่อระบบรักษาความปลอดภัยและระบบสมาร์ทโฮม

ลลิลฯ เปิดแนวคิดรีแบรนด์แบบบ้านใหม่

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ (LALIN) กล่าวว่า ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ร่วมมือกับทีมออกแบบ เพื่อนำข้อมูลความต้องการที่ได้จากกลุ่มเป้าหมายมาวิเคราะห์และระดมความคิด เพื่อพัฒนาแบบบ้านที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ความต้องการได้อย่างแท้จริง ทำให้เราพบปัจจัยหลัก 3 ประการที่ต้องมีอยู่ในบ้านของคนไทยในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย ด้านดีไซน์ เน้นความสวยงามทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่เพิ่มคลับเฮาส์ Co-working Space และฟิตเนสวิวสวน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ

"การคิดเผื่อให้แก่ลูกค้าในเรื่องฟังก์ชันที่ยืดหยุ่น และตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่วันนี้ บ้านไม่ได้เป็นแค่บ้าน แต่ต้องสามารถปรับพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านให้กลายเป็นมุมทำงานหรือ มุมกิจกรรมครอบครัวได้อย่างลงตัวตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุค New Normal"

และสุดท้าย การเสริมความสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ความสำคัญเช่นกัน ทั้ง 3 ความต้องการดังกล่าวถูกนำมาเป็นหลักพัฒนา จนกลายเป็นแบบบ้านที่รวมทุกความสมบูรณ์แบบของการดีไซน์ในสไตล์ French Colonia

การออกแบบบ้านให้มีสุขภาวะที่ดี รองรับ WfH ที่นานขึ้น

ด้าน บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom : LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ LWS เสนอแนะ 4 วิธีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดี ภายใต้เกณฑ์ของ WELL Building Standard หรือมาตรฐานการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย ที่ออกแบบมาตรฐานโดยสถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล เวลล์ บิลดิ้ง (International WELL Building Institute : IWBI) ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ว่า มีองค์ประกอบได้แก่

- การเลือกมุมทำงานในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงได้
- พื้นที่ทำงานควรมีอากาศที่ถ่ายเทได้อย่างสะดวก มีคุณภาพอากาศที่ดี
- เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์
- และการดูแลสุขภาพใจ การทำงานที่บ้านนอกจากการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่ที่พักแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “จิตใจ” เป็นอย่างมาก

ในเมื่อโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และคนส่วนมากยังต้อง WfH แต่ในกระบวนการ WfH บางคนอาจจะเลือกไปสัมผัสบรรยากาศภายนอก ซึ่งปัจจุบันมีบริการพื้นที่ทำงานในรูปแบบโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ ตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่สุดท้าย เหนืออื่นใดแล้ว บนความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่ยังมีจำนวนมาก การทำงานอยู่ในบ้านจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยที่จะดูแลผู้อยู่อาศัยให้ห่างไกลจากโควิด-19

ดังนั้น รูปแบบ 'ที่อยู่อาศัย' จากนี้ไปคงไม่ได้อยู่ในกรอบเดิมๆ แต่ทุกพื้นที่ทั้งนอกบ้านและภายในบ้านจะต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยในยุคนิว นอร์มอล


กำลังโหลดความคิดเห็น