xs
xsm
sm
md
lg

KKP ลดประมาณการจีดีพีโต 1.5% ห่วงซบยาว-ท่องเที่ยวยังไม่กลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KKP Research ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP จาก 2.2% เหลือ 1.5% สำหรับปี 2564 ตามการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด อีกทั้งวัคซีนที่ล่าช้าจะส่งผลให้ปีนี้นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียงประมาณ 160,000 คนเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะฟื้นได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ปี 2565 ยังขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนโยบายวัคซีน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้การฉีดวัคซีนที่ล่าช้ากำลังสร้างต้นทุนมหาศาลต่อเศรษฐกิจใน 3 ช่องทาง "ความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่-นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาได้ช้าลง-ต้นทุนทางการคลังจากนโยบายเยียวยาที่ต้องออกเพิ่มเติม"

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร
ประเมินว่า สถานการณ์การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และการเปิดประเทศอาจทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คนเท่านั้นในปี 2564 แม้ว่าการส่งออกและภาคเกษตรน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงแรง KKP Research ปรับการประมาณการการเติบโตของ GDP ในปี 2564 จากการเติบโตที่ 2.2% เหลือ 1.5% และยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่านี้หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวไป 6.1% ในปีก่อน

ทั้งนี้ วัคซีนที่ล่าช้าเป็นผลมาจากทางเลือกนโยบายของภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ไม่เพียงพอ เมื่อประเมินตัวเลขงบประมาณทั้งหมดเพื่อการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ผ่านนโยบายทั้งการแจกเงิน การให้เงินอุดหนุน โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และเปรียบเทียบกับราคาวัคซีนจะพบว่า หากนำนโยบายที่ใช้เยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่เพียง 2 สัปดาห์ไปซื้อและฉีดวัคซีนแทนจะสามารถซื้อ Pfizer ได้ถึง 129.4 ล้านโดส Moderna ได้ถึง 83.1 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศและลดต้นทุนทางการคลังจากการเยียวยาไปได้อย่างมาก

นอกจากนี้ แผนการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง ในกรณีฐานประเมินว่าการฉีดวัคซีนของไทยน่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรในปีนี้ และด้วยระดับประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จะต้องใช้ฉีดวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากร (ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของวัคซีนและความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา) และอาจจะใช้เวลาถึงไตรมาส 2 ของปี 2565 แต่ในกรณีเลวร้ายที่วัคซีนทำไม่ได้ตามแผนอาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อล่วงเข้าไปในครึ่งหลังของปี (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น มีผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนจำนวนมาก) แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและไม่มีความไม่แน่นอน จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวจะไม่สามารถกลับมาได้ในเต็มที่ในปีนี้

ยิ่งไปกว่านั้นการท่องเที่ยวปี 2565 อาจกลับมาน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินเพราะนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาเที่ยวในไทย เศรษฐกิจไทยหวังการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนในไทยทำได้ตามแผน แม้ว่าในปัจจุบันนายกรัฐมนตรีจะประกาศตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่ KKP Research ประเมินว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังขึ้นอยู่กับความต้องการมาเที่ยวไทยของคนต่างชาติด้วย เมื่อดูโครงสร้างของนักท่องเที่ยวของไทยจะพบว่าประมาณ 1 ใน 4 เป็นนักท่องเที่ยวจีน และรัฐบาลจีนยังส่งสัญญาณนโยบายว่าจะยังปิดประเทศต่อเนื่องแม้ประชากรจะได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว ตลอดจนมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาว ทำให้คาดว่าในปี 2565 นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจะยังไม่กลับเข้ามาเที่ยวในไทยปีหน้า และทำให้ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าที่ 5.8 ล้านคน เทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน

และหากสถานการณ์การกระจายวัคซีนล่าช้า KKP Research ประเมินว่า ในภาพรวมไทยต้องเจอต้นทุนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นผ่านหลายช่องทางได้แก่

1) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ ตัวอย่างของผลกระทบที่พอประเมินได้ในเดือนเมษายน คือ การบริโภคหดตัวลงประมาณ 4% และการลงทุนหดตัวลงประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือต้นทุนต่อเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 23,500 ล้านบาทต่อเดือน

2) ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าเดิม KKP Research ประเมินว่า ความล่าช้าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 1.6 แสนคน และ 5.8 ล้านคนในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 34,000 บาทต่อคนคิดเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจอีกประมาณ 96,560 ล้านบาทในปี 2564 และ 292,400 ล้านบาทในปี 2565

3) ต้นทุนทางการคลังเพื่อต่อสู้กับการระบาด ในการระบาดระลอกใหม่รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกกว่า 2.19 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นประมาณ 3% ของ GDP

โดยรัฐบาลมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยงต้นทุนมหาศาลเหล่านี้ได้โดยการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน ต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่ควรทำที่สุดในเวลานี้คือ การเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ เร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุม รัฐต้องเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์และความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น