xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟแกร่ง! เมินโควิด-19 ระบาด ต้นทุนต่ำ-กำไร บ.ย่อยดันครึ่งปีหลังเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



CPF ยังแกร่ง แม้โรงงานไก่ที่สระบุรี ชะลอผลิตหลังพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื่อส่งผลต่อรายได้เล็กน้อย เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำลง และรับผลดีกำไรจากกิจการร่วมค้าเพิ่มขึ้น แม้ราคาหมูในจีน-เวียดนามปรับลด ภาพรวมกูรูคาดไตรมาส 2 อ่อนตัวเล็กน้อย และครึ่งปีหลังกลับมาโดดเด่นจากสถานการณ์คลี่คลาย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี รายงานว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแล้ว จำนวน 5,695 ราย จากจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 5,850 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ผลการตรวจเชื้อออกแล้ว จำนวน 5,661 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 538 ราย โดยได้นำตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดสระบุรีแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนีไม่พ้นที่จะมีผลกดดันต่อราคาหุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่ซื้อขายอยู่บนกระดานหลักทรัพย์ จนทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลง โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 27.00 บาทต่อหุ้น ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเมื่อช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 25.75 บาท แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าราคาหุ้น CPF น่าจะไม่กลับไปถึงจุดต่ำสุดที่ 20.80 บาทต่อหุ้น เหมือนเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ พบว่าในช่วง 1 ปีราคาหุ้น CPF ปรับตัวลดลงแล้ว 16.28% และลดลง 5.26% ตั้งแต่ต้นปี โดยราคาสูงสุดที่หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นไปในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ 30.75 บาทต่อหุ้นในเดือนมีนาคม และหลายฝ่ายคาดหวังว่าในท้ายที่สุดราคาหุ้นน่าจะกลับมาทำลายสถิติของเดือนมีนาคม และสร้างสถิติใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

ภาพรวม CPF ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศที่มีศักยภาพ และความมั่นคงทางการเงินสูงและเป็นหัวเรือใหญ่ด้านธุรกิจอาหาร สินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานของกลุ่มซีพี

โดยประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร แบ่งออกเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร ซึ่งมีช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ขยายไปยังประเทศต่างๆ ครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก โดยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจ สำหรับ CPF คือการเพิ่มน้ำหนัก เน้นขายสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น จากเดิมที่เพียงแต่ผู้ผลิตและปล่อยสินค้าต่างๆ ให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ปัจจุบันบริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัป เพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้ามากกว่าช่องทางที่พึ่งพาแต่กลุ่มบริษัทในเครือ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน บริษัทแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 31 พ.ค.2564 ได้มีมติอนุมัติการขายทรัพย์สินบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารให้ลูกค้าทั่วไป ร้านอาหารขนาดเล็กและโรงแรมขนาดเล็ก ภายใต้บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด (CPFT) ให้แก่บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เกต “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันรีแบรนด์เป็น “โลตัส” (Lotus’s) โดยทรัพย์สินที่ขาย ประกอบด้วย ทรัพย์สินบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหาร ระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลอื่นๆ รวมมูลค่า 861.6 ล้านบาท ซึ่ง คาดว่าจะดำเนินการโอนทรัพย์สินและชำระราคาได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และการทำรายการซื้อขายทรัพย์สินในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นจัดโครงสร้างธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกเทสโก้ โลตัสเข้ามาอยู่ในเครือ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า C.P.Pokphand Co.Ltd. (CPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วน 52.24% ของหุ้นทั้งหมดที่ออกจำหน่ายแล้ว และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ได้แยกธุรกิจ (Spin-Off) คือ Chia Tai Investment Co.Ltd. (CTI) ซึ่งประกอบกิจการลงทุนในธุรกิจสุกรครบวงจรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์ต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange)

และต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 CTI ได้รับหนังสือจาก China Securities Regulatory Commis-sion แจ้งการรับพิจารณาคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์ของ CTI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย CTI เป็นบริษัทร่วมที่ CPP ถือหุ้นในสัดส่วน 35% ดังนั้น CPF จึงถือหุ้นทางอ้อมใน CTI ผ่าน CPP คิดเป็นสัดส่วน 18.28% ทำให้บริษัทสามารถรับรู้กำไรจากการลงทุนใน CTI ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้

ขณะที่แผนงานปี 2564 ของบริษัทนั้น ผู้บริหาร CPF คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคจะดีขึ้นจากภาวะของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลง ส่งผลให้มีความต้องการบริโภคในประเทศต่างๆ มากขึ้น และการส่งออกอาหารจากประเทศไทยจะดีขึ้น ประกอบกับการขยายกำลังการผลิตของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการขายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก จะมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการควบกิจการ (M&A) ของ CTI (บริษัทย่อยของกลุ่ม CPF) ในประเทศจีนเข้ามาเต็มปี หลังได้มีการเข้าซื้อกิจการสุกรของ CPG ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้โครงการธุรกิจของ CTI มีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นธุรกิจสุกรแบบครบวงจร

นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ผลิตภัณฑ์ในส่วนต่างๆ จะฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น "เทสโก้เอเชีย" เข้ามาเพิ่มเติม โดยงบลงทุนปี 2564 บริษัทวางไว้ประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการปรับปรุงการผลิตโรงงานของบริษัท และการมองหาโอกาสการลงทุนในเวียดนามที่เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ของบริษัทในการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมในอนาคต

ไม่เพียงเท่านี้ CPF ยังสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจกัญชง โดยที่ผ่านมา บริษัทลงนามความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัดกัญชงอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ทั้งสายพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก และวิธีการปลูก เพื่อตอบโจทย์อาหารปลอดภัยสู่ “ครัวของโลก” ได้อย่างยั่งยืน

ล่าสุด CPF รายงานว่า บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย จากบริษัทส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประเภทธุรกิจธุรกิจปลูกพืชเพื่อการเกษตร ปัจจุบันถือครองที่ดินที่พัฒนาแล้ว ณ ท้องที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เนื่อที่ประมาณ 570 ไร่ ทุนจดทะเบียน 255 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 25.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท สัดส่วนการลงทุน

โดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนลงทุน 99% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้ว มูลค่าของรายการราว 274 ล้านบาท และภายหลังการเข้าลงทุนในครั้งนี้ บริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ CPF โดยประโยชน์ที่คาดหวังจากการเข้าทำรายการเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชเกษตรที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจของบริษัท

ส่วนผลดำเนินงานไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา บริษัทรายงานว่า มีกำไรสุทธิ 6,945 ล้านบาท เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,110 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการให้ความสำคัญด้านประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และกระบวนการทำงาน รวมทั้งการขยายกำลังการผลิต ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค

สำหรับผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้กำลังซื้อทั่วโลกลดลง จึงทำให้ในไตรมาส 1/64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 120,092 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 140,249 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้เพิ่มมาตรการป้องกันทั้งกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงานให้มีความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่มีต่อธุรกิจของบริษัทไม่มากนัก

เนื่องจากบริษัทมีการปรับกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุนการผลิต การนำระบบงานดิจิทัล (Digitization) มาช่วยด้านประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าเพิ่มใหสินค้า การปรับช่องทางการขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงการเพิ่มกำลังผลิตในสินค้าที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการของหลายประเทศเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่มีผลประกอบการที่โดดเด่นในไตรมาสนี้ และคาดว่าน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ CPF ยังมุ่งมั่นในการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางด้านการตลาด การขาย รวมถึงประเภทสินค้าอาหารสุขภาพที่เน้นด้านโภชนาการที่ดี และช่องทางจัดจำหน่ายให้สอดคล้องกับสภาวะของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจอาหารมีการเติบโตที่ดีในไตรมาสนี้เช่นกัน

และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่โรงงานจังหวัดสระบุรี ที่กำลังเกิดขึ้น หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็น Sentiment เชิงลบ แต่ผลกระทบจำกัด โดยมองว่าผู้บริโภคอาจรู้กังวลในระยะสั้น แต่ยังไม่มีรายงานการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ CPF จึงเชื่อมั่นว่ามีโอกาสปนเปื้อนต่ำ เนื่องจากบริษัทดำเนินการตามมาตรการสุขอนามัยโดยพนักงานในสายการผลิตจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือยาง รวมถึงเครื่องจักรในการแปรรูปอาหารต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับสุขอนามัยที่ดี อีกทั้งบริษัทได้ปิดโรงงาน 5 วัน (ระหว่าง 30 พ.ค.-3 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม โรงงานที่แก่งคอย จ.สระบุรีเป็น 1 ใน 4 โรงงานหลักของการแปรรูปไก่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ รายได้จากไก่แช่แข็งและไก่แปรรูปคิดเป็นเพียง 4% ของรายได้รวม ดังนั้น คาดว่าการปิดโรงงานจะกระทบรายได้ไม่เกิน 0.06% ของรายได้รวม บนสมมติฐานว่าโรงงานมีกำลังการผลิตไก่แปรรูป 200,000 ตันต่อปี เทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมด 600,000 ตัน และจะปิดทำการเป็นเวลา 15 วัน

ทั้งนี้ หากการเปิดโรงงานแก่งคอยมีความล่าช้าเกินกว่า 1 เดือน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจาก CPF มีธุรกิจต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อในไทย (Feed และ Farm) คิดเป็น 12% ของรายได้ทั้งหมด (Feed 3% : Farm 5% : Food 4%) โดยคาดว่าประเด็นนี้จะทำให้รายได้ลดลงไม่เกิน 0.4% ต่อเดือน

แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม แล้ว CPF ยังมีแนวโน้มเชิงบวกในครึ่งปีหลังหนุนจากการเข้าสู่ช่วง High season ในไตรมาส 3/64 ขณะเดียวกัน พบว่าปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำลง และมีส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมค้าที่สูงขึ้นจาก CPALL

สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ซึ่งประเมินสถานการณ์ของ CPF ว่า การหยุดโรงงานที่จังหวัดสระบุรีนั้นไม่กระทบรายได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทสามารถส่งต่องานไปให้โรงงานใกล้เคียงเพื่อให้สามารถผลิตได้ทันตามออเดอร์ และในด้านลูกค้ายังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้ออย่างมีนัยสำคัญ จึงมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบในด้านรายได้ แต่อาจกระทบด้านต้นทุนจากการขนส่งบ้างอย่างไม่มีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันราคาหมูในจีนอ่อนตัวลงมาเหลือราว 20 หยวน/กก. เช่นเดียวกับในเวียดนามที่อ่อนตัวลงมาเหลือราว 6.6 หมื่นดอง/กก. ซึ่งเป็นผลจาก 2 สาเหตุคือ มีความพยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตหลังราคาหมูในช่วงก่อนหน้าปรับตัวขึ้นไปสูงมาก โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาลูกหมู (พ่อแม่พันธุ์) ปรับตัวสูงขึ้นมากจากความพยายามเพิ่มกำลังผลิต แต่ในอีกด้านหนึ่งราคาหมูที่อ่อนตัวลงเป็นผลจากการระบาดรอบใหม่ของโรค ASF ในหลายพื้นที่ โดยในจีนมีรายงานปริมาณหมูที่เข้าโรงเชือดเพิ่มขึ้น แต่มีน้ำหนักต่อหน่วยลดลง สะท้อนการที่เกษตรกรเทขายหมูออกมาเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด นั่นอาจทำให้ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 2/64 อาจอ่อนตัวลงบ้างจากผลกระทบของราคาหมูในจีน-เวียดนามที่อ่อนตัว

ขณะที่ บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/64 จะเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากราคาหมูเวียดนามและราคาหมูจีนที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยราคาที่ลดลงได้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL อาจยังไม่สดใส จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่แนวโน้มส่งออกไก่ดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรปและอังกฤษดีขึ้น รวมถึงราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นขาดแคลนสินค้า เนื่องจากบราซิลมีปัญหาการส่งออกสินค้า Plant-Based และช่องทางการขายผ่านโลตัส หนุนรายได้ในอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทมีแผนเปิดตัวสินค้า Plant-Based ในไทย และขยายไปยังจีน ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยใช้โครงข่ายที่มีอยู่เป็นตัวช่วยกระจายสินค้า ขณะที่ยอดขายผ่านโลตัสเติบโต 100% แต่สัดส่วนยังไม่มาก ทำให้มองว่าโลตัสจะเป็นช่องทางการขายที่สำคัญในอนาคตของบริษัท

เพราะโดยภาพรวมมองว่าหลังเหตุการณ์โควิด-19 บริษัทจะเติบโตได้อีกจากประเทศที่เข้าไปลงทุนใหม่ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ รัสเซียและไต้หวัน นอกจากนี้ การมีนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง คาดว่าจะทำให้ภาพรวมครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ โดยให้ราคาเป้าหมาย 43.00 บาทต่อหุ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น