xs
xsm
sm
md
lg

“สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” สินเชื่อยุคใหม่เพื่อคนตัวเล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธปท.ออกแบบสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล มุ่งมั่นทำด้วยใจโดยมุ่งหวังให้ “คนตัวเล็ก” หรือประชาชนกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

ธนิดา ลอเสรีวานิช ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)   
“Real change in society must start from individual initiatives” - Dalai Lama (ทะไลลามะ) 
ทะไลลามะ กล่าวเป็นนัยไว้ว่า “พลังเล็กๆ” นั้นยิ่งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นได้เสมอ

ในระบบเศรษฐกิจไทย ประชาชนแต่ละคนและ SMEs รายย่อยต่างเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเข้ายกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs รายย่อย เพื่อให้พลังอันสำคัญนี้สามารถถูกนำมาใช้ได้เต็มศักยภาพ

หลังจากได้ศึกษาความเป็นไปได้ และเดินสายหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายในและนอก ธปท. อย่างรอบคอบ ท้ายที่สุด เมื่อกลางเดือนกันยายน 2563 ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) สินเชื่อยุคใหม่ที่มุ่งให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในกระบวนการให้สินเชื่อทั้งหมด ตั้งแต่สมัครขอสินเชื่อจนถึงการชำระหนี้คืน โดยจะใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อแทนการใช้เอกสารประกอบรายได้ หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน

การออกแบบสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ ธปท. มุ่งมั่นทำด้วยใจโดยมุ่งหวังให้ “คนตัวเล็ก” หรือประชาชนกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ทั้งนี้ ธปท. กำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ ไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี 


หลักเกณฑ์ปล่อยกู้

หลักเกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลยังมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบของประชาชน และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงินได้ตามเป้าประสงค์ ทั้งในมิติของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ใช้บริการ การสนับสนุนระบบนิเวศของข้อมูลดิจิทัล และการนำมาใช้อย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลอย่างสมดุลและสนับสนุน digital transformation ของระบบการเงินไทย

ผลิตภัณฑ์เพื่อคนตัวเล็ก : ธปท. ให้ความสำคัญทั้งผู้ใช้บริการสินเชื่อและผู้ประกอบธุรกิจ โดยมุ่งมั่นที่จะออกแบบให้หลักเกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็นประสบการณ์ใหม่ในวงการสินเชื่อออนไลน์ ด้วยการสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก สามารถประเมินความเสี่ยง สะท้อนผ่านการกำหนดวงเงินและอัตราดอกเบี้ย อนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเบิกจ่ายเงินและชำระคืนได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อนี้บนแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสาขาของสถาบันการเงิน เรียกได้ว่าถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ายกระดับเปลี่ยนแปลงสังคมสู่โลกยุคดิจิทัล

เพื่อตรวจสอบความสามารถในการทำธุรกิจ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลต้องสามารถสาธิตผลิตภัณฑ์และบริการต้นแบบ (Minimum Viable Product : MVP) ที่สะท้อนรูปแบบการให้บริการจริงใน 4 ด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ได้แก่ (1) ใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ (2) ให้บริการแบบดิจิทัลตั้งแต่การเสนอขายผลิตภัณฑ์ เบิกจ่ายเงิน และชำระคืนสินเชื่อ (3) ดำเนินการตามข้อกำหนดด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ (4) ดูแลและบริหารความเสี่ยงด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)

Minimum Viable Product (MVP) พิจารณาจาก
1.การใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) การใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ประเมินความเสี่ยง ซึ่งสะท้อนการกำหนดวงเงินและอัตราดอกเบี้ย
2.การให้บริการแบบดิจิทัล การได้มาซึ่งลูกค้า การเสนอขายผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงการเบิกจ่ายเงินและชำระคืนสินเชื่อ
3.การคุ้มครองผู้บริโภค เน้นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค และการมีช่องทางดิจิทัลให้ผู้บริโภครับทราบภาระหนี้และช่องทางการร้องเรียน
4.การกำกับดูแลด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยให้ความสำคัญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้าน IT และข้อมูล รวมถึงมีแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ธปท. ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัล จำนวน 2 ราย ได้แก่ “บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด” และ “บริษัท แอสเซนต์ นาโน จำกัด” เริ่มให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวนกว่า 104,000 ราย (ข้อมูลสะสม ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 400% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน และมียอดเบิกจ่ายทั้งสิ้น 450.45 ล้านบาท


ทั้งนี้ สถาบันการเงินและ Non-bank ยังคงแสดงความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยบางรายอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อแจ้งความประสงค์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล

ระบบนิเวศเพื่อคนตัวเล็ก : เมื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้ง่ายขึ้นแล้ว ธปท. ยังสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศของข้อมูลผ่านข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ที่ผู้ใช้บริการได้ประทับไว้ในโลกการเงินออนไลน์ เช่น การรับโอนเงินผ่าน QR Code การชำระค่าบริการสาธารณูปโภคผ่านแอปพลิเคชัน และการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในวิเคราะห์สินเชื่อผ่านการพิจารณาพฤติกรรมการใช้จ่ายในโลกออนไลน์ รวมถึงประเมินความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้ (Ability and Willingness to Repay) เพราะ ธปท. เชื่อว่าฐานข้อมูลทางเลือกจะสามารถบรรเทาปัญหาการรับรู้ข้อมูลอย่างไม่เท่าเทียมในตลาด และสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรม สะดวก และรวดเร็ว ตลอดจนสามารถตอบโจทย์การจับจ่ายใช้สอย ประกอบอาชีพ หรือเสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน

ถึงเวลาของคนตัวเล็ก : ธปท. ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อบริหารสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาขา และไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ 

นอกจากนี้ ธปท. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเข้าทดสอบบริการใน sandbox ซึ่งต่างจากการประกอบธุรกิจ Peer-to-peer lending สำหรับสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล จึงสามารถเปิดให้บริการได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังจำเป็นต้องสาธิต MVP ให้ได้ตามที่กำหนด จึงอาจกล่าวได้ว่า สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถกู้ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สินเชื่อบุคคลดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างยั่งยืนยังจำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องเร่งขยายฐานลูกค้าและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นระบบ ส่วนผู้บริโภคเองต้องเร่งสร้างรอยเท้าดิจิทัลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ระบบนิเวศดิจิทัล (digital ecosystem) มีข้อมูลที่มากเพียงพอในการขยายบริการทางการเงินในโลกการเงินอนาคต ซึ่ง ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเติบโตมากเพียงพอ ผู้ประกอบธุรกิจจะมีข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบ credit scoring ที่ใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อต่อยอดการให้บริการและขยายฐานลูกค้าลงไปให้บริการในกลุ่มลูกค้าฐานรากได้อย่างแท้จริง

ธปท. เชื่อว่าสินเชื่อยุคใหม่สไตล์ “Heart-made” ที่ทำด้วยหัวใจเพื่อคนตัวเล็ก จะเป็นทางเลือกใหม่ในการบรรเทาปัญหาสภาพคล่องครัวเรือนในภาวะวิกฤต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะยกระดับช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ตามที่ทะไลลามะได้กล่าวเป็นนัยไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น